งานวิชาการเสวนาสาธารณะ “หรือ SDGs กำลังโดนฟอก ? ทำอย่างไรให้ข้ามพ้นความยั่งยืนปลอม – From SDG Washing to SDG Enabling”

ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมงานวิชาการเสวนาสาธารณะ “หรือ SDGs กำลังโดนฟอก? ทำอย่างไรให้ข้ามพ้นความยั่งยืนปลอม – From SDG Washing to SDG Enabling”

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2565 เวลา 09.00 – 11.45 น. ผ่านระบบประชุมทางไกล (Zoom Cloud Meeting)

ชวนแลกเปลี่ยนสถานการณ์รูปแบบของ “การฟอกความยั่งยืน” หรือ “การฟอกการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDG Washing) ในปัจจุบัน วิธีสังเกต เข้าใจ รู้เท่าทัน ไปจนถึงวิธีปรับเปลี่ยนการดำเนินงานไม่ให้ติดกับดักการฟอกเพื่อก้าวผ่านไปสู่การดำเนินงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง ผ่านมุมมองของผู้ทำงานภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้ทำงานในวิสาหกิจเพื่อสังคม

กล่าวต้อนรับและเปิดงานเสวนาฯ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

และพบกับผู้วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่

  • คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด
  • คุณประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด
  • ดำเนินการเสวนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดาวน์โหลดเอกสารเชิงหลักการและกำหนดการงานเสวนาฯ ที่: https://bit.ly/3S5Nwp0

ลงทะเบียนเข้าร่วมงานผ่าน Google form ได้ที่ https://bit.ly/3DljfOX ได้ตั้งแต่ *วันที่ 14 กันยายน ถึง 23 กันยายน 2565 (12.00 น.)*
ติดตามรับชมถ่ายทอดสดได้ทาง Facebook Page: SDG Move TH https://www.facebook.com/sdgmoveth


รับชมบันทึกเสวนาย้อนหลัง


แนวคิด

ค.ศ. 2022 นับเป็นปีที่ 7 ของการกำหนดให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นเป้าหมายระดับโลกที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดันให้โลกบรรลุทั้ง 17 เป้าหมายนี้ภายในระยะเวลา 15 ปี ระหว่าง ค.ศ. 2016–2030 โดย ณ ปัจจุบัน วาระการดำเนินการตาม SDGs เดินมาถึงครึ่งทางแล้ว แต่ระดับความก้าวหน้าของเป้าหมายนั้นกลับขยับอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังไม่ปรากฏความพยายามขับดัน เร่งรัดให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญที่ชัดเจนพอจะสร้างความเชื่อมั่นว่าโลกจะบรรลุวาระการพัฒนานี้ในกรอบเวลาที่กำหนดได้ ยังไม่รวมถึงการฉกฉวยใช้ประโยชน์จากข้อตกลงร่วมกันในการรับมือวิกฤตโลก และอาศัยช่องว่างระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่อย่างไม่เข้าใจถึงรากฐานความเป็นมาที่แท้จริง

สำหรับประเทศไทย แม้คำว่า “ความยั่งยืน” จะเข้ามาสู่กระแสการรับรู้ และความตื่นตัวของคนในสังคม ภาครัฐให้คำมั่นในเวทีระดับโลก พร้อมประกาศทิศทางการพัฒนาประเทศว่าจะมุ่งสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ขณะที่ภาคธุรกิจประกาศจุดยืนสนับสนุนโมเดลธุรกิจสีเขียว สร้างผลิตภัณฑ์ทางเลือก กำหนดมาตรฐาน จัดทำรายงาน หวังให้เป็นมาตรการจูงใจ กระตุ้นผู้ประกอบการปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับทิศทางความยั่งยืนมากขึ้น อย่างไรก็ดี กลับพบว่ามีโครงการหรือกิจกรรมมากมายขัดแย้งกับเจตนารมณ์ที่ประกาศไว้ ทั้งในรูปแบบที่เห็นได้อย่างชัดเจนและซ่อนรูปด้วยการดำเนินการระดับผิวเผินเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์มากกว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างจริงจัง หรือที่รู้จักกันในนาม “การฟอก (Washing)”

“การฟอกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ  “SDG Washing” เป็นอีกรูปแบบการฟอกที่เกิดขึ้นในลักษณะทำนองเดียวกับการฟอกเขียว (Greenwashing) และการฟอกชมพู (Pinkwashing) นั่นคือ การหยิบยืมฉลากการรณรงค์ SDGs ไปแต่งแต้มองค์กรให้ดูดีขึ้น ทว่าในข้อเท็จจริงนั้นอาจไม่ได้นำหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนผนวกเข้าไปปรับปรุงในกระบวนการคิดและกระบวนการทำงานอย่างจริงจังจนเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือสร้างการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs อย่างมีความหมาย และเลือกปิดตาข้างหนึ่งให้กับผลกระทบทางลบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ได้ก่อขึ้นระหว่างทาง ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าวนับวันยิ่งพบเห็นมากขึ้น ฉาบเคลือบด้วยกลยุทธ์สื่อสารที่แนบเนียน เน้นให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกร่วม จนอาจกลายเป็นผู้สนับสนุนการฟอก SDGs โดยไม่รู้ตัว

ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยโครงการการสร้างความต่อเนื่องทางการสื่อสารองค์ความรู้เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ประเทศไทย จึงได้กำหนดจัดเวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ “หรือ SDGs กำลังโดนฟอก? ทำอย่างไรให้ข้ามพ้นความยั่งยืนปลอม – From SDG Washing to SDG Enabling” เพื่อชวนแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์ รูปแบบของการฟอกความยั่งยืนในปัจจุบัน วิธีสังเกต รู้เท่าทัน ไปจนถึงวิธีปรับเปลี่ยนการดำเนินงานไม่ให้ติดกับดักการฟอกความยั่งยืน ผ่านมุมมองของผู้ทำงานภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้ทำงานในวิสาหกิจเพื่อสังคม

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนสถานการณ์ รูปแบบการฟอก SDGs ของภาคส่วนต่าง ๆ ในปัจจุบัน
  2. เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่จำเป็นต่อการรู้เท่าทัน แยกแยะกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการฟอก (Washing)
  3. เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง แนวทางการดำเนินงานขององค์กร หรือหน่วยงานเพื่อก้าวผ่านการฟอกสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

กลุ่มเป้าหมาย

ประชาชนทั่วไปผู้สนใจหรือติดตามประเด็นความยั่งยืน


● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | จากฟอกความยั่งยืน SDG washing สู่ความยั่งยืนที่แท้จริง SDG enabling

        

Last Updated on กันยายน 24, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น