Site icon SDG Move

สวัสดี SDGs (2) – ว่าด้วยเป้าหมาย (Goals) 17 เป้าของ SDGs

สำหรับ บทที่ 2 นี้เราจะมาคุยกันเรื่องรายละเอียดของเป้าหมาย (Goals) ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) กันครับ ตอนแรกกะว่าจะอธิบายเรื่องเป้าประสงค์ (Targets) แต่เขียนไปเขียนมาแล้วรู้สึกว่าจะยาวไปหน่อย เอาไว้อธิบายขยายความในบทต่อไปน่าจะเหมาะกว่า

ภาษาที่ใช้ในการอธิบายของ UN และภาครัฐจะเป็นภาษาที่ค่อนข้างยาวและเป็นทางการ บทนี้เราจะคุยกันด้วยคำพูดที่มีความไม่เป็นทางการมากนักและพยายามดึงคีย์เวิร์ดที่สำคัญออกมาพูดกันให้เห็นภาพกันให้ชัดเจน ซึ่งชื่อเต็ม ๆ ของ 17 เป้าหมายตามคำแปลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. – สภาพัฒน์ฯ) ท่านผู้อ่านสามารถไปติดตามได้ที่ลิงค์นี้ หรือถ้าชอบเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษก็ไปที่นี่ได้เลยครับ ในบทความนี้เราจะพยายามอธิบายประเด็นเหล่านี้ด้วยภาษาที่ไม่ซับซ้อนนัก

ก่อนที่เราจะเข้าเรื่อง 17 เป้าหมายนั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า เป้าหมาย 17 เป้าหมายนั้น จริง ๆ เป็นเพียงวิธีการที่ UN พยายามจะสื่อสารประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนที่หลากหลายและซับซ้อนให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายเท่านั้น ในความเป็นจริง SDGs นั้นเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่อยู่บนฐานของแนวคิดดังนี้

ที่อธิบายมาทั้งหมดนั้นโดยสรุปคือ โปรดอย่ามองว่า 17 เป้าหมายนี้เป็น 17 แท่งที่ทำงานแยกส่วนกันนั่นเอง

เป้าหมาย SDGs มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย ตามภาพด้านล่าง

เป้าหมาย 17 ข้อนี้สามารถแบ่งกลุ่มออกได้เป็น 5 กลุ่ม (แบ่งตามองค์การสหประชาชาติ ดู) ประกอบด้วย

  1. กลุ่ม People หรือกลุ่มด้านสังคม/ความเป็นอยู่ของผู้คน: ประกอบด้วยเป้าหมาย (1) การลดความยากจน (2) การขจัดความหิวโหย (3) สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (4) การศึกษาที่มีคุณภาพ และ (5) ความเท่าเทียมกันทางเพศ
  2. กลุ่ม Prosperity หรือกลุ่มด้านเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง: ประกอบด้วยเป้าหมาย (7) พลังงานที่สะอาดและจ่ายซื้อได้ (8) งานที่มีคุณค่าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (9) อุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน (10) ลดความเหลื่อมล้ำ และ (11) เมืองและชุมชนยั่งยืน
  3. กลุ่ม Planet หรือกลุ่มด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: ประกอบด้วย เป้าหมาย (6) น้ำและสุขาภิบาล (12) การผลิตและบริโภคที่รับผิดชอบและยั่งยืน (13) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (14) ระบบนิเวศทางทะเลและมหาสมุทร และ (15) ระบบนิเวศบนบก
  4. กลุ่ม Peace หรือกลุ่มด้านสันติภาพ: ประกอบด้วยเป้าหมาย (16) สันติภาพและสถาบันที่เข้มแข็ง
  5. กลุ่ม Partnership หรือกลุ่มหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา: ประกอบด้วยเป้าหมาย (17) หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา
ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเป้าหมาย 5 P (จัดทำโดย SDG Move)

ซึ่งกลุ่ม People Prosperity และ Planet ก็สอดคล้องกับองค์ประกอบหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนคือ มิติด้าน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ในการทำกิจกรรมด้านการพัฒนาด้านใดก็ตาม จะต้องคำนึงถึงทั้ง 3 ด้านนี้พร้อม ๆ กัน เช่น หากมุ่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจก็ต้องพิจารณาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย หากจะมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมก็ต้องพิจารณาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วยเป็นต้น

ส่วน Peace และ Partnership นั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นประเด็น Cross-cutting ที่จะช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของ 3 องค์ประกอบข้างต้น หมายความว่า มีความเกี่ยวข้องกับทุกเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น การมีสันติภาพในสังคมย่อมเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินการด้านอื่น ๆ และการมีชีวิตที่ดี การมีรัฐที่มีประสิทธิผลและรับผิดชอบ และไม่คอรัปชั่น ย่อมส่งผลอย่างสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกเป้าหมาย การมีหุ้นส่วนการพัฒนาและความช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาแล้วก็จะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถ  ความสัมพันธ์ของเป้าหมายทั้ง 17 ข้อสามารถถูกนำเสนอด้วยภาพข้างต้น

อย่างไรก็ดี 17 เป้าหมายเป็นแค่การแบ่งตามประเด็นการพัฒนากว้าง ๆ เท่านั้น มิได้มีการลงรายละเอียดหรือมีขอบเขตหรือระบุประเด็นการพัฒนาที่ชัดเจนแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราพูดถึง เป้าหมายที่ 3 เรื่องการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีนั้นครอบคลุมประเด็นอะไรบ้างเราก็ไม่รู้ หรือ เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน หมายถึงอะไร หมายถึงชุมชนเข้มแข็งแบบบริบทประเทศไทยหรือไม่ เป็นต้น

รายละเอียดของ SDGs ที่แท้จริง ที่จะทำให้เราเห็นเนื้อหา ขอบเขต และรายละเอียดของแต่ละเป้าหมาย (Goals) คือ รายละเอียดในระดับเป้าประสงค์ (Targets) ซึ่งจะกล่าวถึงในบทต่อไป

Author

Exit mobile version