Director Notes: 21: ปรับกระบวนการอบรม SDG 101 ใหม่ – ทำไมเราถึงต้องเรียนรู้เรื่อง SDGs

ในช่วงตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม จนถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ทีม SDG Move ได้เดินทางไปยัง 4 ภูมิภาคของประเทศ คือ ภาคใต้ ภาคใต้ชายแดน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เพื่อเป็นวิทยากรในการอบรม SDG 101 ให้แก่ภาคประชาสังคมในแต่ละพื้นที่ โดยเจ้าภาพหลักคือมูลนิธิ Action Aid และได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (European Union) นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 2-3 ปีที่ได้เดินทางและอบรมผู้เข้าร่วมแบบพบหน้ากัน

การอบรมทุกครั้งเป็นโอกาสให้ทีม SDG Move พัฒนากระบวนการเพื่อสื่อสารความเข้าใจเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แก่ผู้เข้าร่วมอบรมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในรอบนี้กลุ่มเป้าหมายหลักคือ ภาคประชาสังคม แม้ว่าจะเป็นเพียงภาคส่วนเดียวเท่านั้น แต่ระดับความเข้าใจและความสามารถในการรับรู้ประเด็นทางวิชาการก็อาจจะแตกต่างกัน บางกลุ่มมีประสบการณ์ทำงานวิชาการและงานวิจัยอยู่แล้ว ทำให้สามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายในเชิงวิชาการ บางกลุ่มเน้นทำงานภาคปฏิบัติ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในระดับพื้นที่ จึงอาจต้องการคำอธิบายที่สอดคล้องกับโลกความจริงมากกว่าคำอธิบายทางวิชาการ

ในรอบนี้เราจึงได้มีการปรับกระบวนการอบรมมากพอสมควร โดยเฉพาะในการเรียนรู้ SDG 101

สิ่งหนึ่งที่เราเน้นเสมอเป็นอย่างแรก ๆ ในการอบรม คือ ทำไมเราถึงต้องเรียนรู้เรื่อง SDGs ซึ่งอาจสรุปได้เป็นเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ ดังนี้

  1. แม้ SDGs เป็นเป้าหมายของโลก แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวเราเลย เพราะเราทุกคนอยู่บนโลกเดียวกัน หากบรรลุ SDGs ได้ โลกก็จะเปลี่ยนไปเป็นแบบที่วาดไว้ตาม SDGs คำถามคือ เราอยากเห็นและอยู่ในโลกแบบนั้นหรือไม่ หากใช่ SDGs ก็คงเป็นเป้าหมายของเราเช่นกัน
  2. SDGs ให้กรอบการทำงานและตัวชี้วัดสำหรับชี้วัดความยั่งยืนระดับต่าง ๆ ไว้ ถ้าท่านเป็นภาครัฐ ท่านคงมีภาระในการจัดทำข้อมูลเหล่านี้เพื่อรายงานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  และ/หรือ ส่งข้อมูลให้กับองค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลตัวชี้วัดนั้น ๆ หากท่านเป็นองค์กรภาคประชาสังคม SDGs ก็ได้ให้แนวทางเอาไว้ว่าประเด็นการพัฒนาใดที่โลกและประเทศจะให้ความสนใจ หากเรามีตัวชี้วัดหรือมีการจัดทำตัวชี้วัดที่สอดคล้องก็อาจจะสามารถทำข้อมูลและนำเสนอข้อมูลเหล่านั้นเพื่อแสดงสถานการณ์หรือผลกระทบที่หน่วยงานได้ดำเนินการไว้ก็ได้ ข้อมูลผลกระทบที่สอดคล้องกับ SDGs นี่เองที่จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการระดมทุนเพื่อการพัฒนาสำหรับองค์กรต่อไป
  3. SDGs กลายเป็นบรรทัดฐานของการพัฒนาระดับโลก ซึ่งส่วนนี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับคนธรรมดา เมื่อ SDGs กลายเป็นบรรทัดฐาน แปลว่ามันมีพลังระดับหนึ่งในการบอกว่า การกระทำได้นั้นดีหรือไม่ดี ยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืน ยิ่งเมื่อรัฐบาลไทยออกเสียงรับรอง SDGs ไว้ ยิ่งทำให้มีความชอบธรรมที่ประชาชนทุกคนจะใช้ SDGs เป็นเครื่องมือในการทำให้รัฐบาลมีความรับผิดรับชอบต่อการบรรลุ SDGs ให้ได้ และเป็นเครื่องมือในการสื่อสารผลกระทบ และเจรจาสร้างความร่วมมือกันข้ามภาคส่วนได้อีกด้วย

นอกจากนี้เรายังเปลี่ยนวิธีการอธิบายคำนิยามและ ปรับกระบวนการในการทำให้คนเรียนรู้เกี่ยวกับรายละเอียดของ SDGs อีกด้วย

  • ในการอธิบายคำนิยาม – เราเริ่มด้วยกิจกรรมที่ชวนทุกคนที่เข้าร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับนิยามของคำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ประมาณ 15 นาที แล้วให้แต่ละกลุ่มเล่าให้กันและกันฟัง จากนั้นจึงเป็นการบรรยาย ซึ่งในการบรรยายนั้นมีการกล่าวถึงนิยามตามเอกสารความตกลงและเอกสารทางวิชาการ เพิ่มเติมด้วยการที่เราได้พยายามขมวดความหมายที่สำคัญให้กลายมาเป็นความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่น่าจะเป็นที่เข้าใจกันได้ง่ายขึ้นโดยคนหมู่มาก
  • การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ
    • การพัฒนาที่คิดถึงลูกถึงหลาน คิดว่าเราจะเหลือโลกแบบไหนไว้ให้ลูกหลานของเรา (Sustainable: intergenerational equity)
    • การพัฒนาที่รับผิดชอบ คิดถึงผลกระทบทางบวกทางลบของสิ่งที่เราทำต่อตนเอง ต่อคนอื่น ต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable: three pillars of sustainability)
    • การพัฒนาที่ไม่ลืมคนด้อยโอกาส ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive) และ
    • การพัฒนาที่ทำให้เราตั้งรับปรับตัวได้ ในโลกที่ผันผวนเปลี่ยนแปลง (Resilient)
  • ในการอธิบายให้คนเรียนรู้เกี่ยวกับรายละเอียดของ SDGs ในระดับ Goals (เป้าหมาย) และ Targets (เป้าประสงค์) นั้น เราเปลี่ยนกระบวนการโดยเริ่มด้วยกิจกรรมกลุ่มก่อนแล้วค่อยจบท้ายด้วยการบรรยาย โดยในกิจกรรมกลุ่ม คือ ให้แต่ละคนตอบคำถาม แลกเปลี่ยนกันในกลุ่ม แล้วนำเสนอข้ามกลุ่มกัน ในคำถามต่อไปนี้
    • ชีวิตที่ดีของคุณเป็นอย่างไร โปรดอธิบายให้เห็นภาพ
    • สังคมที่ดีสำหรับคุณและลูกหลานของคุณเป็นอย่างไร โปรดอธิบายให้เห็นภาพ
    • สิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับคุณและลูกหลานของคุณเป็นอย่างไร โปรดอธิบายให้เห็นภาพ
    • ต้องทำอย่างไรเราจึงจะพร้อมต่อการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง โปรดอธิบายให้เห็นภาพ
  • เมื่ออธิบาย เราก็จะอธิบายตามสไลด์ที่มีอยู่เดิม แต่อาจจะพยายามเน้นไปที่ประเด็นใน Goals และ Targets ที่สอดคล้องกับสิ่งที่ทุกคนเสนอขึ้นมาเพื่อยืนยันว่า เป้าหมายของโลกมันสอดคล้องกันเป้าหมายของการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่คุณอยากเห็น
  • อีกวิธีการหนึ่งที่ใช้คือ จัดกิจกรรมด้วย Quiz SDG 101 เมื่อเฉลยคำตอบ จะค่อยไล่อธิบายไปเฉพาะ SDGs ที่เป็นคำตอบหรือไม่ก็เป็นข้อที่คนส่วนใหญ่ตอบผิด เพื่อจะได้เข้าใจและเห็นภาพตรงกัน

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ผู้ที่เคยเข้าร่วมการอบรมในรอบก่อน ๆ ถึงกับเดินมาบอกว่า เคยเข้าร่วมอบรมกับอาจารย์ก่อนหน้านี้ แต่รอบนั้นไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไรนัก รอบนี้เข้าใจดีขึ้นมาก ซึ่งสะท้อนว่า การปรับรูปแบบการอธิบาย SDGs ได้ขยับไปอีกขั้นและทำให้คนเข้าใจมากขึ้น และมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่าง SDGs กับสิ่งที่ตนเองพยายามผลักดันมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นจึงอยากจะสรุปไว้อย่างสั้น ๆ ตรงนี้ว่า

  • การสื่อสารเรื่อง SDGs ต้องสื่อสารให้เขาเห็นว่า เขาเอาไปใช้ประโยชน์ในการทำงานหรือในชีวิตของเขาอย่างไรได้บ้าง
  • การสื่อสารเรื่องนิยามของการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อเราพยายามเชื่อมโยงกับความหมายที่ตัวเขาให้กับคำ ๆ นี้จะทำให้ผู้คนรู้สึกเชื่อมโยงและมีความมั่นใจ ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้มีส่วนร่วมและไม่รู้สึกด้อยเพียงเพราะไม่รู้จักคำศัพท์ภาษาต่างประเทศหรือนิยามทางการ
  • การสื่อสารเรื่อง Goals และ Targets ของ SDGs ก็เช่นกัน ควรจะเน้นให้เห็นว่า สิ่งที่เขาอยากเห็นเป็นผลลัพธ์ของการพัฒนา ก็เป็นสิ่งเดียวกันกับที่ระบุไว้ใน SDGs หรือยิ่งหากไม่มีใน SDGs ก็สามารถพูดเสริมไปว่า สิ่งที่เขาคิดอาจจะละเอียดและก้าวหน้ากว่า SDGs เสียด้วยซ้ำ และสามารถต่อยอดจาก Goals หรือ Targets ใดได้บ้าง

Last Updated on มิถุนายน 27, 2022

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น