Site icon SDG Move

SDG Updates | ย่างเข้าสู่ปีที่ 5 พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศเดินหน้าไปถึงไหน

พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ

แม้ว่าความเท่าเทียมทางเพศจะเป็นสิ่งที่ทั่วโลกยอมรับและให้การรับรองในทางสากลว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 5: บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจของผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน  สำหรับประเทศไทยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ได้มีการรับรองความเสมอภาคห้ามเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนา แต่การจะทำให้ความเสมอภาคเกิดขึ้นจริงนั้นจำเป็นต้องมีกลไก/มาตรการเพื่อสร้างหลักประกันที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
  

พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายทางเลือกในการคุ้มครองและป้องกันสิทธิให้กับผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง รวมถึงกล่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ นับว่าเป็นเครื่องมือทางกฎหมายชิ้นแรกของประเทศไทยที่มีการปกป้องคุ้มครองผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 นับเป็นเวลาสี่ปีเศษแล้วที่ประเทศไทยมีกฎหมายส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศ SDG Updates ฉบับนี้ชวนติดตามความก้าวหน้าของการบังคับใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 จากรายงานการศึกษาโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) 

รู้จักคณะกรรมการ สทพ. และ วลพ. 

ในการผลักดันให้มีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติมีคณะทำงาน 2 คณะที่มีบทบาทสำคัญ คือ

  1. คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ สทพ.) กำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน จัดทำระเบียบวิธีการสรรหาเพื่อนำมาซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการ วลพ.
  2. คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ. ) มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคำร้องเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และยังมีกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งเป็นกลไกในการชดเชยและเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติฯ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ. และสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรม ส่งเสริม ค้มุครอง และป้องกัน มิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

ความก้าวหน้าในการบังคับใช้กฎหมาย

ประเด็นที่มีความก้าวหน้า

  1. จัดทำระเบียบว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาและนำมาซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการ วลพ.          
  2. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการ สทพ. จำนวน 5 คณะ เข้ามาผลักดันนโยบายโดยแต่ละคณะมีผลงานหลัก ดังนี้
    • คณะที่ 1 คณะอนุกรรมการด้านนโยบาย มาตรการ และแผนปฏิบัติการ มีการจัดทำมาตรการเร่งด่วนเพื่อส่งเสริม ความเท่าเทียมระหว่างเพศในหน่วยงานราชการ 
    • คณะที่ 2 คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ได้มีการศึกษาระเบียบของหน่วยงานราชการที่มีอยู่ว่าขัดต่อพระราชบัญญัติฉบับนี้หรือไม่ และกฎหมายของประเทศไทยที่ควรแก้ไข ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CEDAW (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women – อนุสัญญาว่าด้วยการจัดการการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ) 
    • คณะที่ 3 คณะอนุกรรมการด้านการช่วยเหลือ ชดเชยและเยียวยา หรือบรรเทาทุกข์ ได้จัดทำร่างระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาให้การชดเชยและเยียวยาแก่ผู้เสียหายจากการถูกเลือกปฏิบัติ 
    • คณะที่ 4 อนุกรรมการด้านการส่งเสริมการศึกษาและวิจัย มีการรวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างเพศ และกำหนดยุทธศาสตร์การจัดทำงานวิจัยในอนาคต และ
    • คณะที่ 5 คณะอนุกรรมการ ด้านการประชาสัมพันธ์ มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ 

ประเด็นที่ยังไม่มีการดำเนินการ

ข้อสังเกต

กฎหมายเป็นเครื่องมือทางสังคมอย่างหนึ่งที่จะใช้เป็นหลักประกันว่า จะมีการรับรอง คุ้มครอง หรือให้สิทธิตามที่บัญญัติเอาไว้ แต่การจะบรรลุวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการมีกฎหมายฉบับนี้ คือการขจัดการเลือกปฏิบัติ และสร้างความเท่าเทียมกันของคนทุกเพศนั้น จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินงานในระดับนโยบายอย่างจริงจัง  ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ แรงผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติ คือ ปัจจัยภายนอกประเทศและการผลักดันของภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน มากกว่าจะเกิดขึ้นจากความสนับสนุนจากระดับนโยบายหรือเชิงการเมือง ซึ่งการขาดแรงสนับสนุนจากระดับนโยบายนี้ส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมาย 

อนึ่ง พระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติในสมัยรัฐบาลทหารภายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเป็นยุคที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายจำนวนมาก ประมาณ 300 ฉบับ ผู้แทนภาคประชาสังคมส่วนหนึ่ง เห็นว่า เหตุผลที่มีการผ่านกฎหมายไม่ได้เป็นเพราะรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างจริงจังแต่เป็นเพราะปัจจัยภายนอก กล่าวคือ ในปี 2558 เป็นปีที่อนุสัญญา CEDAW มีวาระครบรอบ 20 ปี เป็นปีเริ่มต้นของประชาคมอาเซียน และเป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ยุคการใช้กรอบ SDGs  ซึ่งผู้นำรัฐบาลเห็นความสำคัญของการมีความก้าวหน้าในการรายงานแก่เวทีโลก ซึ่งการขาดความมุ่งมั่นของระดับผู้กำหนดนโยบายนี้เองที่ส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ 

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ รายงานการศึกษา การทบทวนความก้าวหน้าของการบังคับใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558

Author

  • Editor | คนทำงานข้ามสายที่ชอบมองภาพใหญ่และอยากเห็นงานพัฒนามองทุกศาสตร์อย่างเชื่อมโยง

Exit mobile version