SDG Updates | ทับซ้อนและทวีคูณ: คลี่ชั้นความรุนแรงที่ LGBTQI ต้องเผชิญ

อาจารย์ ดร.วริษา องสุพันธ์กุล [1]

Pride month ในปีนี้เต็มไปด้วยสีสันและครึกครื้นกว่าหลายปีที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเพราะบรรยากาศแห่งความหวังที่ภาคการเมืองส่งมาถึงประชาชน ดังจะเห็นได้จากการเข้าร่วมพาเหรดของนักการเมือง การเปลี่ยนภาพโปรไฟล์บัญชีโซเชียลมีเดียเป็นสีรุ้งเพื่อแสดงจุดยืนการสนับสนุนและเคารพความหลากหลายทางเพศ แต่ทว่าสิ่งที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญมิได้มีเพียงการสมรส หรือการแสดงออกในที่สาธารณะเท่านั้น ที่ผ่านมาผู้มีความหลากหลายทางเพศต่างต้องเผชิญความรุนแรงในสภาวะต่าง ๆ มากมาย และความรุนแรงบางอย่างก็ถูกซุกซ่อนไว้ไม่ได้เห็นชัดได้โดยง่าย 

SDG Updates ฉบับส่งท้าย Pride month อยากชวนผู้อ่านคลี่ชั้นความรุนแรงที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญ รวมถึงสำรวจสภาวะทับซ้อนกันของอัตลักษณ์หรือลักษณะต่าง ๆ นอกเหนือจากความหลากหลายทางเพศซึ่งส่งผลให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศมีประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติที่แตกต่างกัน เพื่อที่เราจะได้ทำความเข้าใจถึงการเคารพความแตกต่างหลากหลายได้อย่างลึกซึ้งขึ้น


ความเท่าเทียมระหว่างเพศกับวาระการพัฒนาของโลก

นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา “ความเท่าเทียมระหว่างเพศ” (Gender Equality) ถูกให้ความสำคัญในฐานะที่เป็นเป้าหมายและเป็นวาระระดับสากลและระดับประเทศ อันเป็นผลมาจากขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ผู้หญิงได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านต่าง ๆ เทียบเท่ากับผู้ชายและเพื่อทำให้สังคมตระหนักถึงการเลือกปฏิบัติและความยากลำบากที่ผู้หญิงทั่วโลกประสบ[2] ความพยายามดังกล่าวปรากฏตัวเป็นรูปธรรมในเอกสาร กฎหมาย และนโยบายระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการเลือกขจัดต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women: CEDAW) ปฏิญญาและแผนปฏิบัติการกรุงปักกิ่ง (Beijing Declaration and Platform for Action) รวมถึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ส่วนวิธีการหรือยุทธศาสตร์ที่ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศนั้นถูกเรียกว่า “การบูรณาการประเด็นเพศภาวะเข้าสู่กระแสหลัก” (gender mainstreaming)[3]

อย่างไรก็ตาม ‘gender mainstreaming’ ดังกล่าวตลอดจนเป้าหมายและตัวชี้วัดของ “Goal 5 Gender Equality” ใน SDGs นั้นมุ่งเน้นแต่เฉพาะการขจัดการเลือกปฏิบัติที่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงได้ประสบอันเนื่องมาจากเพศ/เพศสถานะของตน (sex/gender) ในขณะที่ประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติที่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้ประสบอันเกิดจากการที่อัตลักษณ์ทางเพศ เพศวิถี การแสดงออกทางเพศ หรือเพศสรีระของพวกเขาไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานของสังคมหรือที่คนส่วนใหญ่คาดหวังนั้นกลับไม่ปรากฎอยู่ในนโยบายเหล่านั้น การเพิกเฉยดังกล่าวทำให้เกิดคำถามน่าคิดว่าบรรดาผู้ร่างและผู้เจรจาวาระระดับสากล เช่น SDGs นี้ตัดสินใจอย่างไรว่า “เพศ” ใดบ้างที่มีคุณค่าพอที่จะได้รับการคุ้มครองในสายตาของกฎหมายหรือนโยบายเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ การที่คำว่า “เพศ” ในเป้าหมาย “ความเท่าเทียมระหว่างเพศ” ถูกตีความอย่างแคบนั้นมักเกิดจากข้อจำกัดในการเจรจาและประนีประนอมเพื่อหาฉันทามติในการบรรจุถ้อยคำในวาระระดับระหว่างประเทศซึ่งยังมีบางรัฐที่ไม่ยอมรับสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่[4] อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเอกสารที่เป็นทางการแล้ว แต่ละรัฐและแต่ละหน่วยงานก็สามารถกำหนดขอบเขตเป้าหมายดังกล่าวให้รวมถึงความหลากหลายทางเพศด้วย 

ในประเทศไทย ประเด็นเกี่ยวกับความหลายทางเพศถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งบนเวทีสาธารณะ ในรัฐสภา ศาล ตลอดจนองค์กรภาคเอกชนและประชาชน ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเรื่องของสิทธิมนุษยชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศมักตั้งต้นมาจากการสร้างความตระหนักถึงความยากลำบาก ไม่ว่าจะในรูปแบบของความรุนแรง การถูกเลือกปฏิบัติและอคติต่าง ๆ ที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญ โดยมักจะมองอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านั้นแบบแยกส่วนและมาจากฐานที่ว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นหน่วยรวมหน่วยเดียวที่เจอกับประสบการณ์ในบริบทนั้น ๆ แบบเดียวกัน ซึ่งอาจส่งผลให้การทำความเข้าใจสถานการณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้สะท้อนความเชื่อมโยงของปัญหาหรือปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้าน และอาจละเลยประสบการณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศบางกลุ่ม ด้วยเหตุนี้ บทความนี้จะชวนผู้อ่านมองสถานการณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศผ่านแนวคิดสองประการได้แก่ แนวคิดสามเหลี่ยมแห่งความรุนแรง (violence triangle) และแนวคิดสภาวะทับซ้อน (intersectionality) ซึ่งจะช่วยรับมือกับความท้าทายสองประการในการทำความเข้าใจประเด็นความหลากหลายทางเพศ ดังนี้

1. ความท้าทายที่หนึ่ง: เมื่อความรุนแรงที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศเผชิญมีหลากหลายและสัมพันธ์กัน แต่การแก้ปัญหาไม่ได้เป็นไปแบบองค์รวม

หากพูดถึงความอยุติธรรมที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยเผชิญนั้น เราอาจนึกถึงการกลั่นแกล้งรังแกในสถานศึกษาและที่ทำงาน การไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว การที่กฎหมายไม่รองรับเรื่องการสมรส การรับบุตรบุญธรรม สิทธิประโยชน์อื่น ๆ เหมือนคู่สมรสชายหญิง การที่สื่อผลิตซ้ำภาพลักษณ์ของคนกลุ่มนี้ในเชิงลบ เป็นต้น แต่เรามักจะไม่เห็นว่าปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้คือรูปแบบของความรุนแรง อีกทั้งไม่เห็นถึงความเชื่อมโยงของมัน อันเป็นเหตุให้ความอยุติธรรมบางเรื่องอาจถูกกลบเกลื่อนหรือด้อยค่า และการมุ่งแก้ขจัดความอยุติธรรมเฉพาะเรื่องโดยละเลยบริบทรอบด้านอาจไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร

แต่จะทำอย่างไรให้การแก้ปัญหานั้นเป็นไปโดยคำนึงถึงบริบทอย่างรอบด้าน?

ความรุนแรงนั้นมีความซับซ้อนโดยสภาพ การใช้กรอบแนวคิดมาเป็นเครื่องมือจะช่วยให้เราทำความเข้าใจและคลี่ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวพันไปมาให้ชัดเจนขึ้นได้ ผู้เขียนเห็นว่าแนวคิดเกี่ยวกับความรุนแรงของ Galtung สามารถนำมาเป็นกรอบในการมองความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ โดย Galtung ได้แบ่งประเภทความรุนแรงออกเป็นสามประเภทหรือที่เรียกว่าสามเหลี่ยมแห่งความรุนแรง ได้แก่[5]

  • ความรุนแรงทางตรง (direct violence) คือความรุนแรงที่ผู้กระทำทำต่อเหยื่อโดยตรงอาจเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ เช่น การทำร้ายร่างกาย กลั่นแกล้ง ทำให้อับอาย ซ้อมทรมาน เป็นต้น
  • ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) เกี่ยวข้องกับความอยุติธรรมทางสังคมและกลไกเชิงโครงสร้างต่าง ๆ ที่รองรับความอยุติธรรมดังกล่าว มักปรากฏตัวออกมาทางอ้อม ไม่มีสาเหตุที่เห็นได้ชัด และไม่สามารถหาตัวผู้รับผิดชอบได้ ความรุนแรงประเภทนี้ถูกฝังอยู่ในระบบ มักจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลไม่สามารถทำการใดหรือใช้ศักยภาพที่ตนมีตามความเป็นจริง และส่งผลเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากัน เช่น นโยบายรัฐที่ใช้แบ่งแยกสีผิว ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษา ความไม่เสมอภาคทางกฎหมายและสิทธิขั้นพื้นฐาน ในกรณีผู้มีความหลากหลายทางเพศก็อาจนึกถึงเรื่องการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันที่กฎหมายยังไม่รองรับ หรือการออกแบบอาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก การแบ่งแยกชายหญิงที่ตั้งอยู่บนการปฏิเสธความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น
  • ความรุนแรงทางวัฒนธรรม (cultural violence) เป็นส่วนของวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ ที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงทางตรงและเชิงโครงสร้าง โดยมักจะปรากฎตัวในรูปของทัศนคติและอคติ เช่น การเหยียดสีผิว การเหยียดเพศ การเกลียดกลัวศาสนาอิสลาม เป็นต้น โดยอาจแฝงอยู่ในวรรณกรรม ศิลปะ กีฬา ดนตรี ศาสนา และการศึกษา ในกรณีของผู้มีความหลากหลายทางเพศก็จะอยู่ในรูปของค่านิยมของสังคมที่เชื่อในรักต่างเพศ (heterosexism) และเพศสอดคล้อง (cisgenderism) ว่าเป็นเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศแบบเดียวที่เป็นปกติของมนุษย์ ส่งผลให้แบบเรียน รายการวิทยุ โทรทัศน์ คำศัพท์บางคำ แฝงอคติและการตีตราผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงความอับอายและการไม่ยอมรับของครอบครัว เป็นต้น

แม้เราอาจจะมองเห็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงทางวัฒนธรรมไม่ชัดเท่าความรุนแรงทางตรง แต่ความรุนแรงทั้งสามประเภทข้างต้นมีความเชื่อมโยงกัน การที่เราต้องการป้องกันความรุนแรงประเภทหนึ่ง เราจึงต้องใส่ใจความรุนแรงอีกสองประเภทด้วย เช่น หากเราต้องการผลักดันการแก้ไขกฎหมายให้เกิดความเสมอภาคในเรื่องการสมรส เราอาจคำนึงถึงความเชื่อ ค่านิยมต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนี้ และพิจารณาว่าจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย สร้างความตระหนักและความเข้าใจกับผู้ที่เห็นต่าง เช่น กลุ่มผู้ปกครองหรือกลุ่มศาสนาบางกลุ่มอย่างไร อีกทั้งอาจวิเคราะห์ว่าการที่กฎหมายสะท้อนความเสมอภาคในการสมรสหรือการกำหนดให้สื่อไม่ใช้ถ้อยคำที่แสดงถึงอคติกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความรุนแรงทางตรง โดยเฉพาะการกลั่นแกล้งในที่ทำงานและโรงเรียนอย่างไร เป็นต้น  

การคำนึงถึงความเชื่อมโยงของความรุนแรงประเภทต่าง ๆ ดังกล่าวเรียกร้องให้มีการทบทวนแนวคิดความเท่าเทียม (equality concept) ที่ใช้ในการกำหนดกรอบนโยบายเพื่อ “ความเท่าเทียมทางเพศ” กล่าวคือ ในแวดวงวิชาการเราอาจแบ่งแนวคิดเกี่ยวกับความเท่าเทียมออกเป็นสามแนวคิดด้วยกัน แนวคิดเริ่มแรกคือ “แนวคิดความเท่าเทียมในเชิงรูปแบบ” (formal equality) ที่มุ่งเน้นการปฏิบัติต่อบุคคลให้เหมือนกัน (equality of treatment) กล่าวคือ ผู้หญิงต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนผู้ชายเพื่อที่จะเท่าเทียมกับผู้ชาย แนวคิดนี้เป็นการขจัดการเลือกปฏิบัติทางตรง แต่เนื่องจากการปฏิบัติต่อผู้หญิงแบบเดียวกับผู้ชายอาจไม่ทำให้เกิดความเสมอภาคในทางความเป็นจริงอันเป็นผลมาจากความแตกต่างระหว่างเพศ จึงได้เกิด “แนวคิดความเท่าเทียมในเชิงเนื้อหา” (substantive equality) ที่ต้องการให้เกิดความเสมอภาคในผลลัพธ์และ/หรือโอกาส (equality of opportunity/outcome) โดยมาตรการที่มีเป้าหมายเพื่อความเท่าเทียมจะต้องคำนึงถึงว่าความแตกต่างของบุคคลในบริบทใดเรียกร้องให้มีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน แนวคิดเช่นนี้ช่วยขจัดการเลือกปฏิบัติทางอ้อม กล่าวคือทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำของผลจากการบังคับใช้กฎหมายและการปฏิบัติตามนโยบายที่ดูเป็นกลางแต่กลับก่อให้เกิดความเสียเปรียบกับคนกลุ่มหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไป มีการตระหนักถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างซึ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกลุ่มทางสังคม จึงมี “แนวคิดความเท่าเทียมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง” (transformative equality)[6] ซึ่งจะคำนึงถึงการขจัดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างอันเป็นสาเหตุของการถูกเลือกปฏิบัติด้วย ตัวอย่างเช่น Sarah Fredman[7] มองความเสมอภาคว่าประกอบด้วยสี่บทบาทด้วยกัน ดังนี้

  • การลดความเสียเปรียบ (the redistributive dimension) เช่น การบังคับใช้กฎหมายที่ห้ามการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานหรือการเข้าถึงการศึกษาของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
  • การจัดการกับการตีตรา อคติ ทัศนคติแบบเหมารวม และความรุนแรง (the recognition dimension) เช่น การปลุกจิตสำนึกเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศผ่านการปฏิรูปการศึกษาและวัฒนธรรมที่ผลิตซ้ำบทบาททางเพศที่ตายตัว
  • การสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมและการส่งเสียงของบุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติ (the participative dimension)  เช่น การส่งเสริมให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้ามามีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ
  • การรองรับความแตกต่างผ่านการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง (the transformative dimension) เช่น การแก้ไขกฎหมายหรือนโยบายที่สร้างความเหลื่อมล้ำในทางสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

จะเห็นได้ว่าการนำแนวคิดสามเหลี่ยมความรุนแรงมาทำความเข้าใจสถานการณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศจะทำให้เราเห็นปัญหาของความเหลื่อมล้ำที่บุคคลกลุ่มนี้ต้องเผชิญในหลายมิติ และช่วยให้มีเป้าหมายในการบรรลุถึงความเสมอภาคอย่างรอบด้านมากขึ้น 

2. ความท้าทายที่สอง: เมื่อประสบการณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศบางกลุ่มถูกละเลย 

เรามักจะพูดถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศในฐานะเป็นกลุ่มทางสังคมที่มีลักษณะร่วมกัน คือมีอัตลักษณ์ทางเพศ เพศวิถี หรือเพศสรีระที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของคนส่วนใหญ่ อันเป็นเหตุให้เผชิญกับความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติโดยเหตุแห่งเพศ อย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริง บุคคลมีลักษณะหรืออัตลักษณ์หลายด้านจึงมีความเป็นไปได้ที่จะถูกเลือกปฏิบัติจากหลายเหตุในหลายรูปแบบ เช่น บุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติเพราะรักเพศเดียวกันหรือเป็นคนข้ามเพศแล้วก็ยังถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความพิการ สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ หรืออายุร่วมด้วย ทั้งนี้ เราอาจแบ่งการเลือกปฏิบัติที่เกิดจากหลายเหตุออกเป็น 3 กรณี ดังต่อไปนี้[8]

  • เมื่อบุคคลถูกเลือกปฏิบัติในเหตุที่ต่างกันและในวาระที่ต่างกัน แต่ละเหตุการณ์การถูกเลือกปฏิบัติสามารถถูกพิจารณาแยกต่างหากจากกันได้: การเลือกปฏิบัติที่เกิดจากหลายเหตุตามลำดับ (sequential multiple discrimination) เช่น คนข้ามเพศที่พิการไปสมัครงานสองที่และถูกที่ทำงานแรกปฏิเสธเพราะความพิการ จากนั้นถูกที่ทำงานที่สองปฏิเสธเพราะเป็นคนข้ามเพศ เป็นต้น
  • เมื่อบุคคลถูกเลือกปฏิบัติในวาระเดียวกันแต่เกิดจากสองเหตุ แต่ละประเภทของการถูกเลือกปฏิบัติสามารถถูกพิสูจน์แยกจากกันได้: การเลือกปฏิบัติที่เกิดจากหลายเหตุแบบเพิ่มพูน (additive multiple discrimination) เช่น คนรักเพศเดียวกันที่ติดเชื้อเอชไอวีไปสมัครงานในองค์กรหนึ่งที่มีอคติต่อคนรักเพศเดียวกันและผู้ติดเชื้อเอชไอวี ต่อให้ผู้สมัครคนนี้พิการอย่างเดียวโดยมีอัตลักษณ์ทางเพศสอดคล้องกับเพศกำเนิด หรือเป็นคนข้ามเพศที่ไม่ได้พิการก็จะถูกปฏิเสธการจ้างงานอยู่ดี แต่เมื่อมีทั้งสองลักษณะก็ถูกปฏิเสธการจ้างงานอย่างแน่นอนมากขึ้น เป็นต้น
  • เมื่อการถูกเลือกปฏิบัติจากแต่ละเหตุในวาระเดียวกันทำงานประสานกัน ส่งผลลัพธ์ที่เป็นการเฉพาะซึ่งไม่เหมือนกับการเลือกปฏิบัติโดยเหตุใดเหตุหนึ่ง: การเลือกปฏิบัติที่เกิดจากหลายเหตุแบบสภาวะทับซ้อน (intersectional discrimination)[9] เช่น ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เคร่งครัดในศาสนาและต้องการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือเป็นผู้นำทางศาสนาก็อาจถูกกีดกันจากชุมชนทางศาสนาที่ไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ การถูกเลือกปฏิบัติเช่นนี้มาจากการที่บุคคลนั้นเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศและเป็นผู้ที่เคร่งครัดทางศาสนา หากขาดเหตุใดเหตุหนึ่งก็จะไม่ถูกกีดกันในลักษณะนี้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ความเสียเปรียบที่บุคคลได้ประสบก็ยังได้รับอิทธิพลจากปัจจัยอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิหลังทางการศึกษา ครอบครัว หรือสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม อันส่งผลให้ประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติของผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เช่น ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่ในครอบครัวและชุมชนที่เคร่งครัดทางศาสนา และตีความคำสอนทางศาสนาไปในเชิงไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศย่อมมีประสบการณ์กับการถูกตีตราหรือความกดดันให้ปกปิดหรือเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศวิถีของตัวเองมากกว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจเจกนิยมและเปิดรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากกว่า[10] ในทำนองเดียวกัน คนข้ามเพศที่ต้องการศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพในสายงานที่เสี่ยงต่อการเผชิญอคติทางเพศสูงอาจมีแนวโน้มที่จะเสียเปรียบเพื่อนร่วมงานในการได้รับการยอมรับในที่ทำงานหรือก้าวหน้าในสายงานมากกว่าคนข้ามเพศที่ทำงานในสายอาชีพที่เห็นความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ[11] เช่น NGO ที่ผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เป็นต้น

ผู้เขียนเห็นว่าการมุ่งขจัดการเลือกปฏิบัติบนฐานของเหตุใดเหตุหนึ่งโดยละเลยข้อเท็จจริงว่าบุคคลแต่ละคนมีอัตลักษณ์ที่หลากหลายเป็นการสร้างสมมุติฐานว่าสมาชิกในกลุ่มนั้น ๆ เหมือนกันทั้งหมด กล่าวคือ หากกล่าวถึงผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงซึ่งกฎหมายและนโยบายเพื่อความเท่าเทียมระหว่างเพศมุ่งแก้ไขความเหลื่อมล้ำนั้น เราก็อาจนึกถึงผู้หญิงในฐานะเป็นกลุ่มก้อนทางสังคมที่มีลักษณะเหมือนกันโดยไม่ได้คำนึงว่าบุคคลที่มีเพศสรีระเป็นหญิงแต่ละคนต่างก็มีอัตลักษณ์ทางเพศ เพศวิถี ชาติพันธุ์ อายุ ผู้หญิงบางคนมีศาสนาและบางคนก็ไม่นับถือศาสนาใด บางคนอาจมีความพิการในช่วงหนึ่งของชีวิตหรือตลอดชีวิต ดังนั้น ลักษณะบางอย่างอาจทำให้เกิดอภิสิทธิ์บางประการ ในขณะที่ลักษณะอื่นในบุคคลคนเดียวกันอาจส่งผลให้เกิดข้อเสียเปรียบ นอกเหนือไปจากความเป็นเพศหญิง ส่งผลให้กลุ่มคนที่ได้รับความเสียเปรียบมากที่สุดจะถูกมองข้าม  


บทสรุป

ดังนั้น การบรรลุเป้าหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศผ่านยุทธศาสตร์ Gender Mainstreaming ซึ่งถูกนิยามตั้งแต่ศตวรรษที่แล้วสมควรที่จะถูกทบทวนให้สอดคล้องกับพลวัตรของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยตีความคำว่า “เพศ” อย่างกว้างให้ครอบคลุมถึงความหลากหลายทางเพศในทุกมิติและขยายไปถึงการเลือกปฏิบัติที่มีลักษณะอื่นซ้อนทับกับการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศด้วย มิฉะนั้นแล้ว บุคคลที่เปราะบางที่สุดซึ่งเป็นเหยื่อของความเหลื่อมล้ำที่ทับซ้อนกันย่อมถูกมองข้ามและไม่ได้รับการคุ้มครอง 

จะเห็นได้ว่าการนำแนวคิดเรื่องสามเหลี่ยมความรุนแรงและเรื่องสภาวะทับซ้อนเข้ามาเป็นกรอบในการวิเคราะห์ความรุนแรงหรือการเลือกปฏิบัติที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศเผชิญช่วยเพิ่มมิติในการทำความเข้าใจประเด็นความหลากหลายทางเพศให้เป็นแบบองค์รวมมากขึ้น และหากรัฐเชื่อมโยงมาตรการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศกับ SDGs โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “Goal 5 Gender Equality” ก็จะทำให้วาทกรรมดังกล่าวได้มีพื้นที่ให้เกิดการพัฒนา ทบทวนข้อจำกัด เป็นวัตถุแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ และเพิ่มเติมมิติใหม่ ๆ เพื่อรองรับความท้าทายอันเกิดจากความสัมพันธ์ในสังคมที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น สุดท้ายนี้ ไม่ว่าเราจะนิยามคำว่า “Gender Equality” อย่างไร ต่อเมื่อการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของลักษณะและประสบการณ์ของมนุษย์ในทุกมิติถูกบูรณาการเข้าสู่กระแสหลักด้วย ความมุ่งหมายของ SDGs ที่จะ “ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” จึงจะสัมฤทธิ์ผลในโลกแห่งความเป็นจริง 

พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
อติรุจ ดือเระ และแพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
นิวซีแลนด์เสนอร่างกฎหมายให้ประชาชนสามารถเปลี่ยนเพศในใบแจ้งเกิดของตนได้
โตเกียวรับรองสถานะ “คู่ชีวิต”ของ คู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งก็ยังไม่เท่ากับ “คู่สมรส” ตามกฎหมาย
SDG Updates | เปิดรายงานพันธมิตรบริษัทยักษ์ใหญ่ชี้ LGBT+ เป็นกลุ่มคนสำคัญที่มีผลต่ออนาคตธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน 
SDG Updates | อีก 135 ปี โลกถึงจะมี ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ – สรุปรายงาน GLOBAL GENDER GAP REPORT 2021 
SDG Insights | กลไกกฎหมายไปสู่สมรสเท่าเทียม: ถอดบทเรียนจากคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญต่างประเทศ 
SDG 101 | รู้หรือไม่? ความเท่าเทียมทางเพศตาม SDG 5 ยังไม่ครอบคลุมถึง LGBTQI

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ
– (5.2) ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การแสวงประโยชน์ทั้งทางเพศ และในรูปแบบอื่น
– (5.c) เลือกใช้และเสริมความเข้มแข็งแก่นโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเพิ่มบทบาทแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความพิการ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
– (10.4) นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก


[1]  บทความนี้พัฒนามาจากบทความชื่อ “Gender Equality: A Slogan in Search of a Definition” ของผู้เขียนที่ตีพิมพ์ใน Thammasat Law Alumni E-Newsletter  ปีที่ 2 ฉบับที่ 4 เดือนตุลาคม 2564 เข้าถึงได้ที่ https://online.anyflip.com/mcpoh/nodz/mobile/.

[2] ดู Christen Chinkin, ‘Gender Inequality and International Human Rights Law’ in Andrew Hurrell and Ngaire Woods (eds), Inequality, Globalization and World Politics (Oxford University Press 1999) 95-121.

[3] คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาตินิยามว่าหมายถึง “กระบวนการการประเมินผลลัพธ์ของแผนปฏิบัติการทุกประเภทรวมถึงกฎหมาย โครงการ นโยบายในทุก ๆ ด้าน และทุก ๆ ระดับที่จะมีต่อผู้หญิงและผู้ชาย มันเป็นกลยุทธ์ที่จะทำให้ความเกี่ยวข้องและประสบการณ์ของทั้งผู้หญิงและผู้ชายเป็นเข้ามาเป็นมิติที่สำคัญของการออกแบบ การลงมือปฏิบัติ การกำกับ และการประเมินนโยบายและโครงการต่าง ๆ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้ผู้หญิงและผู้ชายต่างได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำโดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ”. ดู UN Women, Gender Mainstreaming: Extract from Report of the Economic and Social Council For 1997 (A/52/3, 18 September 1997) 1.

[4] ประเด็นการเพิกเฉยต่อการถูกเลือกปฏิบัติของกลุ่มคนที่มีหลากหลายทางเพศใน SDGs นำมาจากบทความของผู้เขียนใน Warisa Ongsupankul, ‘Finding Sexual Minorities in United Nations Sustainable Development Goals: Towards the Deconstruction of Gender Binary in International Development Policies’ (2019) 5 LSE Law review 1 .

[5]  Johan Galtung, ‘Violence, Peace, and Peace Research’ (1969) 6(3) Journal of Peace Research 167; Johan Galtung, Cultural Violence. Peace by Peaceful Means: Peace and Conflict, Development and Civilization (International Peace Research Institute 1996).

[6] ดู ตัวอย่าง Andrea Broderick, The Long and Winding Road to Equality and Inclusion for Persons with Disabilities (Intersentia 2015).[7] Sarah Fredman, Discrimination Law (2nd edition, Oxford University Press 2011).

[7] Sarah Fredman, Discrimination Law (2nd edition, Oxford University Press 2011).

[8] Sandra Fredman, ‘Intersectional Discrimination in EU Gender Equality and Non-Discrimination Law’ (European Commission, 2016) 27-28.

[9] การถูกเลือกปฏิบัติอันเกิดจากหลายลักษณะพร้อมกันและสัมพันธ์กันเที่เรียกว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่มีลักษณะ “สภาวะทับซ้อน” (Intersectionality) นี้เป็นแนวคิดที่ถูกพัฒนาโดย Kimberlé Crenshaw ซึ่งได้วิจารณ์คำพิพากษาของศาลสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงผิวสี (DeGraffenreid v General Motors; Moore v Hughes Helicopter; and Payne v Travenol) ที่เป็นกลุ่มที่ถูกมองข้ามของทั้งกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติรวมถึงขบวนการสตรีนิยมและขบวนการต่อต้านการเหยียดสีผิว; Kimberle Crenshaw, ‘Demarginalizing the Intersection of Race and Sex: A Black Feminist Critique of Antidiscrimination Doctrine, Feminist Theory and Antiracist Politics’ (1989) 1(8) University of Chicago Legal Forum 139.

[10] ดู Paris Jitpentom, ‘สมรสเท่าเทียม-ศาสนา-ความรักในมุมมอง “ปอแน” LGBT+มุสลิมชายแดนใต้’ (Work Point Today, 14 กุมภาพันธ์ 2565) <https://workpointtoday.com/southern-lgbt/> เข้าถึงเมื่อ 21 มิถุนายน 2566.

[11] ดู บุษกร สุริยสาร, อัตลักษณ์และวิถีทางเพศในประเทศไทย (โครงการส่งเสริมสิทธิ ความหลากหลาย และความเท่าเทียมในโลกของ การทำงาน (PRIDE), องค์การแรงงานระหว่างประเทศ 2557) <www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—asia/—ro-bangkok/—sro-bangkok/documents/publication/wcms_356948.pdf> เข้าถึงเมื่อ 21 มิถุนายน 2566, 60.

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น