Site icon SDG Move

Director’s Note: 03 – ระบบบัญชีข้อมูล สำนักงานสถิติแห่งชาติ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

สวัสดีวันจันทร์ครับ

1) Weekly Update: 17-21 พฤษภาคม 2564

สัปดาห์ที่ผ่านมามีโครงการใหญ่โครงการหนึ่งที่ SDG Move เข้าไปมีส่วนร่วมได้ดำเนินมาถึงช่วงเวลาที่สำคัญและมีกิจกรรมในสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายวันติดกัน โครงการดังกล่าวคือ โครงการระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ (Government Data Catalog: GDC) โครงการ GDC เป็นโครงการในความดูแลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการทำให้ข้อมูลภาครัฐมีความโปร่งใส เข้าถึงได้โดยสาธารณะ อันจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อการกำหนดและดำเนินนโยบายภาครัฐ และให้บริการสาธารณะต่อไป 

โครงการนี้ดูแลโดยทีมคณาจารย์จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งได้ทีมที่เชี่ยวชาญเรื่องวิทยาการคอมพิวเตอร์และอาจารย์จากอีกหลากหลายสาขามาร่วมดำเนินการ ทีม SDG Move เข้าไปร่วมงานในฐานะหนึ่งในหลาย ๆ ทีมที่เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงาน และช่วยโครงการจัดทำระบบคำสำคัญ (keyword) ที่เชื่อมโยงกับ SDGs เพื่อให้ในอนาคต การดึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ SDGs มาใช้ประโยชน์เป็นไปได้ง่ายขึ้น

โครงการ GDC นี้ มีความน่าสนใจหลายประการ 

ประการแรก โครงการ GDC นี้ ไม่ได้พยายามจะไปเอาข้อมูลภาครัฐทุกหน่วยมารวมไว้ที่เดียว แต่จะทำหน้าที่เป็นสมุดหน้าเหลืองให้คนที่ต้องการข้อมูลภาครัฐใด ๆ เข้ามาค้นหา และเป็นประตูไปสู่ข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งข้อมูลจะดูแลโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบเอง สำหรับข้อมูลที่มีชั้นความลับก็จะแสดงผลในระดับที่ต่างกันไป ซึ่งน่าจะเพิ่มประสิทธิภาพในการแบ่งปันข้อมูล และหน่วยงานเองก็สามารถดูแลข้อมูลของตนเองได้เต็มที่เช่นเดิม

ประการที่สอง สำนักงานสถิติแห่งชาติได้แนะนำให้ทีมที่ปรึกษาได้ใช้วิธีการซึ่งเหมาะกับหน่วยงานที่ไม่ใช่นักเทคนิค และค่อนข้างเป็นประโยชน์กับหน่วยงานด้วย วิธีการที่ว่านี้ก็คือ ทีมที่ปรึกษาไม่ได้นำหน้าที่ไป “ขอข้อมูล” แต่ทำหน้าที่ไปเป็น “กระบวนกร” ในการชวนหน่วยงานมาเลือกภารกิจที่ตนอยากนำมาทดลองทำ GDC แล้วจากนั้นจึงชวนหน่วยงาน คลี่ “กระบวนงาน” ของภารกิจนั้นออกมาเป็นขั้นตอน แล้วจึงพิจารณาดูว่าแต่ละขั้นของกระบวนงานนั้นมีข้อมูลใดบ้างที่ผูกติดอยู่ ข้อมูลเหล่านี้นี่เองที่ทาง สำนักงานสถิติแห่งชาติอยากชวนหน่วยงานนำมาขึ้นระบบบัญชีข้อมูล ที่ปรึกษาเองมีหน้าที่ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการทำข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นระบบและใช้ข้อมูลนั้นในการดำเนินการและกำหนดนโยบายต่าง ๆ จากประสบการณ์ของทีม SDG Move ที่เข้าไปช่วย พบว่า หลายหน่วยงานก็เพิ่งตระหนักว่า ตนเองมีข้อมูลเหล่านี้ และเห็นว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

ประการที่สาม ในฐานะของคนใช้ข้อมูล เราก็รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เห็นข้อมูลที่ภาครัฐมีที่เกี่ยวข้องกับSDGs และจะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ SDG แต่ละเป้าหมายย่อยมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำกัดเฉพาะตัวชี้วัดที่ภาครัฐเข้าใจว่าเกี่ยวข้องเท่านั้น หากผู้คนในสังคมเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ ย่อมทำให้เกิดความตระหนักและเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น รวมถึงสามารถนำข้อมูลมาช่วยพินิจพิจารณา ทำความเข้าใจ หาทางออกและแก้ไขปัญหาร่วมกันได้อีกด้วย

โครงการนี้จะเสร็จสิ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และเราจะมีข้อมูลจาก 31 หน่วยงานและ 3 พื้นที่นำร่องอยู่ในระบบ GDC หลังจากนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติจะดำเนินการให้หน่วยงานภาครัฐที่เหลือทั้งหมดนำข้อมูลขึ้นระบบ GDC โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะเป็นผู้อำนวยความสะดวก ในขณะเดียวกันการนำข้อมูลขึ้นระบบ GDC จะกลายเป็นตัวชี้วัดการทำงานภาครัฐในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย ซึ่งก็จะทำให้เกิดแรงผลักดันให้มีการนำข้อมูลขึ้น GDC และให้สาธารณะและหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองสามารถใช้ข้อมูลของกันและกันได้ต่อไป

2) ว่าด้วยสำนักงานสถิติแห่งชาติกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เป็นหน่วยงานที่สำคัญมากในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มิใช่แค่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในระดับโลกก็ให้ความสำคัญกับหน่วยงานนี้ในทุกประเทศ ทั้งนี้เพราะหน่วยงานด้านสถิติเป็นกลไกสำคัญในการเก็บข้อมูลทางสถิติ รวมถึงควบคุมคุณภาพของข้อมูลสถิติทางการของประเทศที่ผลิตจากหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย การมีสำนักงานสถิติแห่งชาติที่มีศักยภาพสูงจึงมีความจำเป็นต่อการได้มาหรือควบคุมให้คุณภาพของสถิติทางการของประเทศอยู่ในระดับสูง ซึ่งมีความจำเป็นต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างยิ่ง เพราะข้อมูลสถิติที่มีคุณภาพจะช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ของปัญหา ประสิทธิผลของนโยบายภาครัฐ หรือขนาดของผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันในสังคม อันจะนำไปสู่การพิจารณากำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดต่อไป

SDG Move มีโอกาสได้ทำงานกับ สสช. ตั้งแต่แรกเริ่มที่รัฐบาลรับเอา SDGs เข้ามาในประเทศไทย ในขณะนั้น สสช. เป็นเลขานุการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) (ปัจจุบันคือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ในคณะอนุกรรมการชุดที่ 3 ว่าด้วยการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ในช่วงนั้น กองสถิติพยากรณ์ นำโดยท่าน ผอ.กอง อรวรรณ สุทธางกูร (ปัจุบันเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ) และคณะ ได้ให้ความกรุณาให้โอกาสทีม SDG Move ร่วมดำเนินการหลายอย่างที่เป็นประโยชน์กับการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศ

กิจกรรมที่สำคัญที่เราได้ดำเนินการกับ สสช. คือ การจัดทำตัวชี้วัด SDGs ระดับชาติ (National SDG Indicators) ซึ่งกระบวนการในการดำเนินการนั้น ผ่านการศึกษาเอกสารขององค์การสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องและยึดหลักของการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาตัวชี้วัด SDGsระดับชาติ

ข้อนี้มีความน่าสนใจคือ เราแก้ปัญหาหลักในการคุยเรื่อง Indicators ใหม่ ๆ ได้ โดยปัญหาหลักของการคุยเรื่อง indicators ใหม่นั้น คือการเสี่ยงต่อการคุยวนเป็นวงกลมและสุดท้ายไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เกิดขึ้น กล่าวคือ หน่วยงานอาจอยากให้มีตัวชี้วัดใหม่ แต่ก็มีคำถามตามมาว่าตัวชี้วัดนั้นจะวัดยังไง ใครจะเป็นคนเก็บ พอหาข้อสรุปเรื่องนั้นไม่ได้ ก็พาลเลิกคุยกันไปและย้อนกลับไปใช้ตัวชี้วัดเดิม วนไปแบบนี้ 

ในครั้งนั้นเราจึงดำเนินกระบวนการเป็นขั้นตอนดังนี้คือ

1. ทำ National SDGs Target ให้สอดคล้องกับแผนที่มีอยู่ของประเทศก่อนซึ่งส่วนนี้ดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ​ นอกจากนี้ในขั้นตอนนี้เรายังสามารถเชิญภาคประชาสังคมและภาควิชาการเข้ามามีส่วนร่วมได้อีกด้วย โดยภาคส่วนนอกภาครัฐจะช่วยมาชี้ให้เห็นว่า มิติใดในเป้าหมายย่อย (target) ที่ควรให้ความสำคัญ (เป้าหมายย่อยของ SDGs นั้นหลายเป้ามีรายละเอียดมาก) 

2.  จัดทำ Indicator Set ที่สอดคล้องกับ National SDG Target ซึ่งส่วนนี้คือขั้นตอนสิ้นสุดของกระบวนการจัดทำตัวชี้วัดระดับชาติ ในส่วนนี้จัด workshop ให้หน่วยงานภาครัฐนำข้อเสนอของภาคเอกชนมาพิจารณาแล้วสรุปว่าภาครัฐเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอใด แล้วหน่วยงานภาครัฐก็ตัดสินใจเลือก Indicator Set ร่วมกันเพื่อให้ออกมาเป็น National SDG Indicator ต่อไป

3. จัดทำกรอบในการวัด (Measurement Framework) และพัฒนากลไกเชิงสถาบันในการขับเคลื่อนตัวชี้วัดต่อไป (Institutional Framework) ส่วนนี้ควรจะเป็นสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการต่อร่วมกัน

ในกระบวนการข้างต้น เราจัด Workshop ร่วมกัน 4 ครั้ง ตั้งแต่ปลายปี 2561 ไปจนถึงกลางปี. 2562 จนกระทั่งได้ชุดตัวชี้วัด National SDG Indicators ออกมา ซึ่งครอบคลุมตัวชี้วัดระดับโลกและมีตัวชี้วัดเพิ่มเติมอีกประมาณ ร้อยกว่าตัว ซึ่งเป็นข้อเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอง

อย่างไรก็ดี ความพยายามข้างต้นก็สูญสลายไปในการประชุม กพย. ครั้งที่ 1/2562 ในวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ซึ่งเราเรียกการประชุมนั้นว่าการประชุม Set Zero การขับเคลื่อน SDGs ประเทศไทย ซึ่งหมายความว่า คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีมติ ยกเลิกคำสั่ง ประกาศ และการดำเนินการใด ๆ ก่อนการประชุมครั้งนั้นทั้งหมด และตัวชี้วัด National SDG Indicator ที่จัดทำขึ้นอย่างมีส่วนร่วมก็ถูกเก็บเข้ากล่องไป และไม่ได้ถูกนำมาใช้แต่อย่างใด นอกจากนี้ภายใต้คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคณะที่ 3 ชุดใหม่ สสช. ถูกลดบทบาทเป็นเพียงผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งไม่ได้มีบทบาทในการตัดสินใจมากนัก 

จากประสบการณ์ในการทำงาน SDGs ของเรากับหน่วยงานภาครัฐ​ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นหน่วยงานภาครัฐที่เข้าใจ SDGs มากที่สุดหน่วยงานหนึ่งของประเทศ พอ ๆ กับกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศเลยก็ว่าได้ และยังมีบทบาทในคณะกรรมการระดับนานาชาติว่าด้วยเรื่องสถิติ ซึ่งปัจจุบันสถิติเกี่ยวกับ SDGs เป็นประเด็นที่คณะกรรมการระดับโลกและภูมิภาคให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

การลดบทบาทของสำนักงานสถิติแห่งชาติในกระบวนการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศถือเป็นการเสียโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทยเลยทีเดียว

Author

  • ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

Exit mobile version