SDG Updates | สรุปเสวนา “การศึกษาและการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่ 16.5 (ลดการทุจริตและรับสินบน) ในประเด็นท้าทายด้านการต่อต้านการคอร์รัปชัน” โครงการย่อยที่ 4

ชวนอ่านบทสรุปเวทีเสวนา ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “การศึกษาและการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่ 16.5 (ลดการทุจริตและรับสินบน) ในประเด็นท้าทายด้านการต่อต้านการคอร์รัปชัน” ซึ่งจัดขึ้น เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ผ่านระบบ Zoom Meeting ภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา

โดยวิทยากรทั้ง 5 ท่าน ประกอบด้วย

  • ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ดำเนินการเสวนา
  • คุณภัทรพร วรทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
  • ดร. มณฑา ชยากรวิกรม ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA)   
  • คุณคฑาวุธ โมระพัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรการและนวัตกรรมป้องกันการทุจริต สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
  • คุณณัฐภัทร เนียวกุล หัวหน้าฝ่ายเปิดเผยข้อมูลบริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จํากัด

SDG Updates ฉบับนี้ พาทุกท่านเก็บตกประเด็นสำคัญจากวงเสวนาฯ ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดย ช่วงแรก เป็นการนําเสนอผลการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เป้าหมายย่อยที่ยั่งยืน 16.5 (ลดการทุจริตและรับสินบน) ส่วน ช่วงที่สอง เป็นการเสวนาข้ามภาคส่วน ผู้ร่วมเสวนาร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น “การผลักดันการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน” เพื่อนำเสนอผลการศึกษาสำคัญจากนักวิจัยและร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนงานด้านการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน 


Section 1: การนําเสนอผลการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย

01 – การขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่ 16.5 (ลดการทุจริตและรับสินบน) ท้าทายด้านการต่อต้านการคอร์รัปชัน

ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค กล่าวว่าจากการทำงานวิจัยในประเด็นดังกล่าว เป็นผลที่นำเสนอครั้งนี้ในการศึกษาว่าประเทศไทยมีการดำเนินงานเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันหรือลดการติดสินบนอย่างไร ซึ่งเป็นปัญหาที่พยายามแก้ไขมาอย่างยาวนาน ด้วยวิธีหลากหลายรูปแบบทั้งแบบไทย ๆ และแบบประเทศตะวันตกที่นำมาประยุกต์ใช้เกือบทุกวิธี ซึ่งปัญหาคอร์รัปชันและการติดสินบนนั้นถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง

เพื่อให้เข้าใจปัญหาที่กว้างขวางนี้ ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ อธิบายต่อว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้เปิดเผยดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี 2566 พบว่าไทยมีความเปลี่ยนเเปลงไม่มากนัก หรือแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ปีแรกที่ CPI เริ่มสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต ทำมาตั้งแต่ปี 2538 กว่ายี่สิบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เรายังไม่เห็นถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ซึ่งหมายถึงเราเคยอยู่ในสภาพแบบไหนก็อยู่ในสภาพแบบนั้น 

หากถามว่าสภาพแบบนั้นคืออะไร ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ เปรียบว่าถ้าเป็นผู้ป่วย อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ป่วยโคม่า คือนอนอยู่ยังไม่ฟื้น เพราะประเทศไทย คะแนนนอกจากดัชนีการรับรู้การทุจริตจะต่ำกว่าเกณฑ์ของค่าเฉลี่ยทั่วโลกแล้วนั้น ก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย ซึ่งสะท้อนได้ว่าเรายังมีช่องว่างอีกมากมายที่ต้องพัฒนาและแก้ไข นำมาสู่คำถามที่ ผศ.ชล  บุนนาค ถามตอนต้นว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เราจะเเก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เเก้ปัญหาการพัฒนาการศึกษาและปัญหาอีกมากมายได้อย่างไร ถ้ายังมีคอร์รัปชันด้านการเงินที่รั่วไหล รวมถึงยังขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในกระบวนการทำงาน กลับมาสู่คำถามว่าจะทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหานี้”

ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ อธิบายเพิ่มเติมว่าเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น SDG1 ถึง SDG16 รวมถึงเป้าหมายย่อยอื่น ๆ เราสามารถแก้ไขอย่างประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลได้ และก่อนจะนำเสนอบทสรุปงานวิจัยที่ได้ศึกษามา ต้องบอกว่าอีกข้อค้นพบที่สำคัญและน่าตื่นเต้นมากก็คือ การได้รับความสนใจจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายองค์กรต่อประเด็นดังกล่าว 

จากการศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าว สามารถอธิบายได้เป็น 4 ส่วน โดย ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ระบุว่าใน ส่วนแรก คือการดำเนินการ จากวัตถุประสงค์อุปกรณ์ของโครงการวิจัย เป็นส่วนสรุปว่าทำอย่างไรให้สามารถขับเคลื่อนเป้าหมายย่อย 16.5  คือลดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และการรับสินบนทุกรูปแบบ ซึ่งจากทั้งมุมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยในการศึกษาวิธีการหลักเราจะดูว่าสถานการณ์ในปัจจุบันของ SDGs ในตัวชี้วัดที่ 16.5 เป็นอย่างไร จากนั้นจะทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะสถานการณ์ในปัจจุบันของไทยและเจาะลึกรายละเอียดว่าจะไปแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร และมีจุดใดเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อพัฒนาไปสู่การขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ที่ ผศ.ชล ได้กล่าวไว้ในตอนต้นซึ่งเป็นปลายทางของงานวิจัย 

ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ เพิ่มเติมว่าจากที่กล่าวข้างต้นได้มีการทบทวนสถานการณ์ก่อน และหลังจากนั้นมีการสัมภาษณ์เชิงลึก เพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบายแบบเร่งด่วนและแบบระยะยาว ผ่านหลักการคือการเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมกับดูเป้าหมายที่จะไปถึง และหาช่องว่างเชิงนโยบาย (Policy Gap) เพื่อนำเสนอได้อย่างเหมาะสมโดยอันดับแรก ต้องพิจารณาว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายย่อยที่ 16.5 มีอะไรบ้างซึ่งประเทศไทยมีจำนวนมาก จากนั้นมาพิจารณาที่ตัวชี้วัด และความหมายที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันเมื่อศึกษางานวิจัยต่างประเทศแล้วนั้น พบประเด็นที่น่าสนใจว่าบริบทต่างประเทศกล่าวถึงเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในเป้าหมายย่อยที่ 16.5 นั้นมักไม่ได้ศึกษาเป้าหมายย่อยนั้นแบบเดี่ยว ๆ แต่มักกล่าวถึงประเด็นการทุจริตและรับสินบนเชื่อมโยงกับเป้าหมายย่อยอื่น ๆ แบบเป็นแพ็กเกจ เช่น จะกล่าวถึงเป้าหมายย่อยที่ 16.4 16.5 16.6 และ 16.10 ไปด้วยกัน

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาและทบทวนงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศแล้ว จึงนำมาพัฒนามาเป็นกรอบงานวิจัย เพื่อจัดทำว่าหากต้องศึกษาเรื่อง 16.5 ลดการทุจริตและรับสินบน จะต้องพิจารณาเป้าหมายย่อยใดควบคู่กัน ตัวอย่างเช่น หากกล่าวถึงเรื่อง ข้อมูลที่เปิดเผย (Open Data) เป้าหมายย่อยที่ 16.5 จะมาพร้อมกับ 16.16 เสมอ กล่าวคือการสร้างความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลหรือการสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ ปลายทางคือต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด และหากต้องการให้หน่วยงานภาครัฐทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เเต่หากข้อมูลไม่มีการเปิดเผยมาก่อนประชาชนจะมีส่วนร่วมได้ยาก และหน่วยงานรัฐก็จะทำงานได้ขาดประสิทธิภาพ  

ดังนั้นเมื่อทบทวนงานวิจัยทำให้พบว่าเรื่อง Open Data มักมาพร้อมกับประเด็นสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (Right to Information) หรือ เป้าหมายย่อยที่ 16.10 การส่งเสริมสิทธิเสรีภาพเพื่อเป็นพลังในการตรวจสอบการทุจริต ซึ่งเรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่มีมาตรฐานจะทำให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ต่อได้และเข้าถึงได้อย่างสะดวกและทั่วถึง เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งเป็นรากฐานที่ดีที่นำไปสู่การสร้างกลไกป้องกันการใช้อำนาจของรัฐในทางที่ผิดตามเป้าหมายย่อยที่ 16.5 ที่กล่าวไว้ในตอนต้น

ซึ่งหากจะกระโดดเพื่อจัดการเพียงเป้าหมายนี้เพียงอย่างเดียวย่อมทำได้ คือการนำหน่วยงานไล่จับตรวจสอบหรือบังคับใช้กฎหมายจับคนกระทำผิด ซึ่งการกระทำเหล่านี้อาจเห็นผลในระยะสั้น เเต่ไม่เกิดความยั่งยืนในการแก้ปัญหา สุดท้ายประชาชนขาดการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบหน่วยงานเหล่านั้นเช่นเดิม 


02 – ทบทวนบริบทของของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนา (ได้) อย่างยั่งยืน

ถอยกลับมาสู่คำถามว่า “เราโฟกัสเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเกินไปโดยลืมพิจารณาบริบทของประเทศหรือไม่” ด้วยสาเหตุนี้ทำให้มีการประเมินพิจารณาจากงานวิจัยเรื่องการประยุกต์โครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชันของ อาจารย์ธานี ชัยวัฒน์ และคณะ ในปี 2563 ซึ่งรายงานระบุว่าต้องพิจารณาจากกลไกทั้งหมด พร้อมเปรียบเทียบกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน ว่ามีกระบวนการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างไร ซึ่งพบว่าเกี่ยวกับเรื่องการเปิดเผยข้อมูล การสร้างความรู้ การสร้างประสบการณ์การมีส่วนร่วมของเครือข่าย แต่สิ่งที่ อาจารย์ธานี ดอกจันทร์ไว้ว่าเป็นประเด็นสำคัญ คือเรื่อง โครงสร้างของข้อมูล (Data Infrastructure) ซึ่งหากขาดส่วนนี้ปัญหาจะแก้ไขอย่างยั่งยืนได้ยากมาก 

จากการพิจารณารายงานการวิจัยทั่วโลกพบว่ามีตัวอย่างชุดข้อมูลที่เรียกว่า “Open Data for anti-corruption” คือเป็นชุดข้อมูลว่าหากเปิดเผยข้อมูลชุดใด เมื่อเชื่อมต่อข้อมูลกันแล้วจะเห็นถึงการสูญเสียของการตรวจสอบคอร์รัปชันได้สะดวกมากขึ้น 

แสดงให้เห็นจากข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างข้อมูลนิติบุคคล เราสามารถเปลี่ยนแปลงโครงการได้หลายโครงการ ยกตัวอย่างเช่นโครงการก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลแหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริงจากการที่ประชาชนเขาเห็นการเชื่อมโยงข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างกับนิติบุคคลแล้วเห็นความสุ่มเสี่ยงต่อการคอร์รัปชัน โดยส่งเรื่องนี้ไปที่เพจแฉ ทำให้หน่วยงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วก็นำไปสู่การแก้ไขปัญหาส่อทุจริตเช่นนี้

ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเพียง 2 ชุดข้อมูล 3 ชุดข้อมูลที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงและโอกาสการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนด้วยมือของประชาชนเอง เพื่อไปสนับสนุนหน่วยงานตรวจสอบอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติให้ทำงานได้สะดวกมากขึ้น ทำให้ประชาชนเข้าไปช่วยเหลือด้วยซ้ำ เเต่ประชาชนต้องมีข้อมูลก่อน ถ้าเราได้ข้อมูลครบรอบอาจจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าระบบนิเวศการต้านโกงได้ 

ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ชวนถอยกลับมา ส่วนที่สอง คือการทบทวนกรอบแนวคิด ว่าปัจจุบันการดำเนินการเรื่อง 16.6 (พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ) 16.10 (สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ) และ 16.5 (ลดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และการรับสินบนทุกรูปแบบ) เป็นอย่างไร โดยเเสดงรายละเอียดในรายงานวิจัย ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันมากสำหรับหน่วยงานรัฐ 

เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการปราบปรามและการทุจริต จึงตอบโจทย์สิ่งที่รัฐต้องทำและยังตอบโจทย์เรื่องการยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต ซึ่งจะเชื่อมโยงกลับมาที่ SDGs  ทั้ง 3 ประเด็นที่กล่าวข้างต้นที่อยู่ในกรอบการทำงานนั้น จะสามารถนำมาประเมินได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าสามารถประเมินได้ด้วยการทำวิจัย แต่อีกส่วนหนึ่งที่นำมาประเมินได้ก็คือ “ดัชนีระดับนานาชาติ” ที่มีการประเมินในประเด็นต่าง ๆ ที่พบว่าสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยมีปัญหา ด้วยปัญหาดังกล่าวจากการทบทวนและการสัมภาษณ์นำมาซึ่งผลการศึกษาในหัวข้อถัดไป


03 – ตอบโจทย์เชิงนโยบายเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชัน

นำมาสู่ ส่วนที่สาม คือผลการศึกษา ที่จะนำเสนอคือ ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ระบุว่าประเด็นแรกเรื่อง Open Data เราพบตัวอย่างที่บอกว่า 25 ชุดข้อมูลเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งทำให้เห็นทั้งโอกาสและอุปสรรค ในอุปสรรคพบว่าปัจจุบันการถือข้อมูลนั้นมีความกระจัดกระจายอยู่อย่างมาก ทำให้การเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นระบบครบวงจรนั้นเป็นไปได้ยาก โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ทุกหน่วยงานเปิดเผยข้อมูลด้วยกันทั้งหมด ภายใต้มาตรฐานที่เป็นสากลเช่นเดียวกัน ซึ่งข้อเสนอคือการทดลองทำโครงการนำร่อง (Pilot Project) กับข้อมูลที่อาจจะชี้โอกาสการสูญเสียการคอร์รัปชันได้ก่อนเพื่อแสดงให้เห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลเพียงแค่บางชุดก็สามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ และถ้าสามารถเปิดเผยข้อมูลได้ครบอาจชี้โอกาสความสุ่มเสี่ยงคอร์รัปชันได้มากขึ้น รวมถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบก็จะทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ เสริมต่อว่าจาก 25 ชุดข้อมูลที่พบข้างต้นในเชิงการเปิดเผยข้อมูลนั้นไม่แย่นัก ซึ่งมีชุดข้อมูลที่พร้อมเปิดใช้งาน 14 ชุดข้อมูล ใช้งานได้บางส่วนประมาณ 9 ชุดข้อมูล และไม่มีข้อมูลอยู่ 2 ชุดข้อมูล โดยสรุปได้ว่าปัญหาคือความเป็นปัจจุบันของข้อมูล การกระจัดกระจายของข้อมูล การจัดลำดับความสำคัญของชุดข้อมูล รูปเเบบของไฟล์ที่เปิดเผย ระยะเวลาในการเปิดเผย และนิยามทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการเปิดเผยชุดข้อมูลยังไม่เรียบร้อยดี นำมาสู่ข้อเสนอแนะ คือเราต้องสร้างมาตราฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานเจ้าของชุดข้อมูล และการทำงานเชิงขนานระหว่างส่วนกลางและพื้นที่ที่มากขึ้น 

ถัดมาผลการศึกษาการสร้างความมีส่วนร่วมด้วยการให้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน (Right to information) ว่าประชาชนสามารถนำข้อมูลบางส่วนไปใช้ได้เลยหรือไม่ ซึ่งสามารถอธิบายแบ่งได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) Information ใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้ข้อมูลที่ปิดอยู่หรือเข้าใจยาก สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น  2) Participation สร้างการมีสู่วนร่วมที่ยึดโยงอยู่บน Information based เช่น การทำให้ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยสามารถค้นหาแสดงความเห็น ตั้งคำถาม นำไปวิเคราะห์ หรือใช้งานต่อได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด และ 3) Policy Advocacy การแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับของหน่วยงานและองค์กร ที่ไม่อนุญาตให้มีการเปิดเผยข้อมูล หรือจำกัดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน

นอกจากนี้ สามารถสรุปอุปสรรค ได้ว่าทัศนคติของคนในองค์กรที่เปิดเผยที่ถือข้อมูลนั้นอยู่ ใน กฎ กติกา ระเบียบองค์กร ความรับผิดชอบผู้ปฏิบัติงาน ทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยี กระบวนการทำงานองค์กร สิ่งสำคัญที่สุดคือความจงใจที่ไม่เปิดเผยข้อมูลของบางหน่วยงานในการส่งข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งการแก้ไขสามารถเเบ่งได้ 3 ส่วน คือ หนึ่ง การเเก้ไขต้องพิจารณาที่คน สอง กระบวนการ และสาม เทคโนโลยี

ตัวอย่างหน่วยงานที่น่าศึกษาคือกรุงเทพมหานคร ตั้งต้นคือเมื่อหน่วยงานประกาศว่าจะเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสจากการสัมภาษณ์พบว่าหลายประเด็นสามารถเปิดเผยข้อมูลได้ และหลายประเด็นเปิดเผยไม่ได้ ดังนั้นอุปสรรคก็คือหลายชุดข้อมูลอยากจะเปิดเผยกลับไม่ได้อยู่ในส่วนรับผิดชอบของหน่วยงานที่อยากเปิดเผยข้อมูล ทำให้ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้อย่างครบถ้วน จึงสรุปอุปสรรคได้เป็น 3 ประเด็น คือ การขาดทักษะความรู้และความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน การขาดการเชื่อมโยงในการจัดเก็บรายงาน และความท้าทายของการเข้าถึงข้อมูลอื่น ๆ เพื่อสนองต่อความต้องการของประชาชน 

ดำเนินมาถึงส่วนสุดท้ายของการศึกษางานวิจัย ส่วนที่สี่ คืออภิปรายผลและข้อเสนอแนะ พบว่าเรื่องความต่อเนื่องความเชื่อมโยงและมาตรฐานของตัวชุดข้อมูล คนยังขาดเรื่องทักษะกระบวนการและทัศนคติและองค์ความรู้ที่การเปลี่ยนแปลงทรัพยากรข้อมูลเป็นความรู้เพื่อสร้างกลไกความรับผิดชอบที่มีประสิทธิภาพยังขาดแคลนอยู่ ฉะนั้นถ้าสามารถพัฒนาข้อมูล (Data) กับคนได้จะนำไปสู่การพัฒนาความรู้ และสร้างภาระความรับผิด (accountability) ในการแก้ไขปัญหาข้อ 16.5 ลดการทุจริตและรับสินบนได้ นอกจากนี้ ไม่เพียงปรับปรุงส่วนของภาครัฐเท่านั้น แต่ส่วนของประชาชน เราต้องเริ่มจากการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบได้ เพื่อเป็นขั้นมีตอนนำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนและนำไปสู่การสร้างความรับผิดชอบอย่างเป็นระบบ

 


ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ทิ้งท้ายการนำเสนอรายงานวิจัยว่า “การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่หลายท่านพูดว่าต้องสร้างสังคมที่ดี ต้องสร้างคนที่ดี ผมเห็นด้วยว่าการสร้างคนที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ แต่การสร้างระบบที่ดีก็ต้องเป็นงานที่เราทำควบคู่กันไป เพื่อให้คนดีที่เราสร้างขึ้นมา สามารถเจริญเติบโตได้ในระบบที่ดีด้วย” 



Section 2: การเสวนาข้ามภาคส่วน

04 – ข้อมูลงบประมาณ ประโยชน์การใช้งาน และข้อจำกัดของการเปิดเผยและการเข้าถึงข้อมูล

คุณภัทรพร วรทรัพย์ กล่าวว่าข้อเสนอแนะข้างต้นที่ ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ได้นำเสนอเรื่องข้อมูล ซึ่งในมุมมองของ คุณภัทรพร เห็นด้วยเพราะภาครัฐ มุ่งเรื่องของการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งกรมบัญชีกลางมีข้อมูลเหล่านี้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากบทบาทหน้าที่ของกรมบัญชีกลางไม่ได้ทำเพียงบัญชีการเงินเท่านั้น แต่มีการกำกับดูเเล และบริหารการใช้จ่ายของเเผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ฉะนั้นกรมบัญชีกลาง จึงมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของกฎหมายการคลัง บัญชี จัดซื้อจัดจ้าง การบริหารพัสดุภาครัฐ เงินนอกงบประมาณ ลูกจ้าง รวมถึงความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ของรัฐในกรณีที่มีการทำอะไรผิดพลาด นอกจากนั้นยังมีเรื่องของบริหารเงินส่วนภาครัฐ การบริหารรับ-จ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องข้อมูล 

โดยกรมบัญชีกลางนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง หรือโครงการที่เกี่ยวของกับเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ร่วมกับองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน โดยข้อมูลเหล่านั้นมาจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ในหมวดที่2 เรื่องของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการป้องกันการทุจริตตามมาตรา 17 วรรค 2 ซึ่งให้มีคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง คือ ‘คณะกรรมความร่วมมือป้องกันการทุจริต’ ที่ประกาศว่าโครงการภาครัฐจะต้องมีความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ  หรือที่ ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยกตัวอย่างว่าโครงการ COST ที่ผ่านมาการดำเนินงานของเราพยายามเน้นเรื่องการเปิดเผยก่อน คืออย่างน้อยเปิดเผยมาว่ามีการดำเนินโครงการใดบ้าง เพื่อชี้ว่าประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้

นอกจากนี้ โครงการกำกับดูแลพบว่าเมื่อก่อน 5 ปีที่มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างประมาณพันกว่าโครงการ และปรับขึ้นเป็น 4,000 โครงการ เท่ากับว่าประชาชนสามารถที่จะตรวจสอบได้แสดงให้เห็นเพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็เป็นการป้องปรามที่ให้ประชาชนทราบว่ามีข้อมูลโครงการที่เป็นภาครัฐกี่โครงการ และส่วนหนึ่งข้อมูลด้านงบประมาณโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่กรมบัญชีกลางอยู่ในการกำกับดูแลอยู่เป็นเรื่องของมาตรฐานขั้นต่ำ ซึ่งมีวงเงินประมาณ 5 ร้อยล้านขึ้นไป ตามประกาศของคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (คปท.) มีการกำหนดขั้นต่ำว่าโครงการมีงบประมาณ 500 บาทขึ้นไปต้องมีแนวทางการป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างด้วย 

คุณภัทรพร เพิ่มเติมว่าอีกประเด็นการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ (Government Spending) ที่กรมบัญชีกลาง ได้รับผิดชอบเรื่องการเบิกจ่ายในส่วนราชการทุกภาคส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทำให้ทราบว่าการใช้จ่ายเงินของภาครัฐมีมากน้อยแค่ไหน เช่น การเบิกจ่ายที่เกี่ยวกับระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ งบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างมีอยู่ประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตัวอย่างของปี พ.ศ. 2560 งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ตั้งไว้ประมาณ 3.185 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 68.53 ฉะนั้นจึงต้องพิจารณาว่าข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างมีมากน้อยเพียงใด โดยโครงการเหล่านี้ต้องนำเข้าข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางด้วยในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) 

ขณะที่ ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่เปิดเผย คือข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งบางข้อมูลอาจมีทั้งรายสัปดาห์และรายเดือนด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเบิกจ่ายเป็นรายกระทรวง รายหน่วยงาน รายกรม หรือการเบิกจ่ายตามประเภทของหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ทำให้ตอนนี้กรมบัญชีกลางดูแลข้อมูลผลการเบิกจ่ายงบกลางทั้งหมด 6 งบ ได้แก่ งบเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญเงินช่วยเหลือ ข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ เงินสมทบเงินสำรองเงินสมทบของข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของข้าราชการลูกจ้างแล้วก็พนักงานของรัฐ  

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลการค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ซึ่งยังประสบปัญหากับข้อมูลที่ใช้อยู่อย่างเช่น ข้อมูลจำนวนมากที่ทำให้การประมวลผลข้อมูลค่อนข้างที่ใช้เวลานาน อย่างไรก็ดีปัจจุบัน กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างการพัฒนาชุดฐานข้อมูล เพื่อนำข้อมูลที่มีมาแสดงผลในเว็บไซต์ของระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของกรมบัญชีกลาง 

ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ถามเพิ่มเติมว่า “ถ้าอุปสรรคในการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มขึ้นและมันคืออะไรบ้างหรือว่า Big Data ประชาชนจะมีโอกาสได้สามารถเข้าถึงได้สะดวกด้วยใช่ไหมครับในอนาคต” ถ้ากล่าวถึงฐานข้อมูลตอนนี้มีส่งให้ไปใช้บ้าง เช่น เว็บไซต์ ‘ภาษีไปไหน?’ ที่นำข้อมูลตรงจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งจะมีการประมวลผลมูลค่าของโครงการ โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และหากถามว่าอุปสรรคคืออะไร คุณภัทรพร มองว่าคือการเปิดเผยข้อมูลตอนนี้อยู่ในระหว่างการปรับปรุงข้อมูลและระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 


05 – บทบาทของภาคส่วน การดำเนินงาน อุปสรรคที่ต้องเผชิญสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน

จากประเด็น ภาษีไปไหน ซึ่งเป็นโครงการที่มีความสำคัญของทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ Digital Government Development Agency (Public Organization) (DGA)  โดย คุณมณฑา ชยากรวิกรม อธิบายเรื่องดังกล่าว

คุณมณฑา ชยากรวิกรม เริ่มประเด็นด้วยบทบาทและหน้าที่ของ DGA ที่เป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในมิติต่าง ๆ และอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญคือการขับเคลื่อนด้านข้อมูลเปิด หรือ  Open Data โดยเฉพาะส่วนภาครัฐ ปัจจุบันหน่วยงานได้มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐหรือว่า data.go.th อีกระบบหนึ่งคือระบบภาษีไปไหน? สอดคล้องตามที่ คุณภัทรพร กล่าวข้างต้น แต่ขยายความเพิ่มว่าระบบภาษีไปไหน DGA ทำขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางในการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงงบประมาณต่าง ๆ ในรูปแบบที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่ายผ่านช่องทางดิจิตอล 

นำเสนอการแสดงผลรูปแบบของหน้าจอสรุปผลหรือ Dashboard แสดงสถิติภาพรวมต่าง ๆ การจัดอันดับ รวมถึงการแสดงผลเชิงแผนที่โดยลงรายละเอียดในแต่ละจังหวัด ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในนวัตกรรมหรือวิเคราะห์อื่น ๆ ต่อได้ นอกจากนี้ ยังมีช่องทางสำหรับการร้องเรียนหรือว่าแจ้งเบาะแสการทุจริตผ่านเว็บไซต์ที่เชื่อมโยงไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หรือ ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ สำนักปลัดสำนักนายก เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี DGA เป็นเพียงหน่วยงานกลางไม่ใช่หน่วยงานเจ้าของข้อมูล ฉะนั้นข้อมูลที่เปิดเผยทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์ม (Platform) กลางที่จะเผยแพร่ชุดข้อมูลดังกล่าวเท่านั้น และแม้ปัจจุบันนี้ จะมีกฎหมายกล่าวถึงเรื่องการเปิดเผยข้อมูล เช่น พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการประชาชนผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 มาตรา 17 ที่ระบุว่า ให้หน่วยงานภาครัฐทำการจัดเตรียมและเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของข้อมูลข่าวสารของราชการในรูปแบบดิจิตอลต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้แบบเสรีโดยที่ไม่มีค่าใช้จ่าย 

หรือมาตรา 18 ที่ระบุว่า DGA ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนกระตุ้นหรือติดตามให้คำปรึกษาการจัดทำเรื่องของข้อมูลเปิด แต่ว่าอย่างไรก็ดี คุณมณฑา จากการดำเนินงานหลายปีพบว่าปัญหาหรือว่าอุปสรรคที่ทำให้ข้อมูลเปิดยังมีไม่มากนัก อันมีสาเหตุเช่นข้อจำกัดเรื่องของกฎหมายและนโยบายบางอย่าง ข้อมูลบางอย่างถูกจำกัดโดยกฎหมาย ประเด็นถัดไปคือคุณภาพของข้อมูล ที่หน่วยงานอาจเกิดความไม่มั่นใจ หรือว่าความกังวลเกี่ยวกับเรื่องความถูกต้องของข้อมูล ทำให้มีความลังเลใจในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวออกมา 

ดังนั้นมาตรการหรือแนวทางลดข้อจำกัดเหล่านี้ คือเราพยายามผลักดันส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ มีการทำเรื่องของการบริหารจัดการข้อมูล ตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เพราะถ้าสมมติว่ามีการนำธรรมาภิบาลข้อมูลไปกำกับดูเเล อาจสามารถช่วยให้หน่วยงานมีกรอบ นโยบาย หรือแนวทางปฏิบัติเรื่องการเข้าถึงอนุญาตข้อมูลต่าง ๆ ทั้งความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงกระบวนการที่มีความชัดเจน ทำให้องค์กรหรือบุคลากรมีความมั่นใจในการที่จะเปิดเผยชุดข้อมูล


ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ถามเพิ่มเติมว่า “หากข้อมูลส่วนนี้เปิดเผยเป็นสาธารณะอย่างเเท้จริงจะทำให้การใช้งานเครื่องมือและแพลตฟอร์มของ DGA ได้มากหรือไม่ เพราะเข้าใจว่าปัจจุบันข้อมูลของทางราชการอยู่ตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ ด้วย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ DGA อยากสนับสนุนและเป็นแนวทางของ DGA ด้วยไหม”

คุณมณฑา ตอบว่าในฐานะที่ DGA เป็นหน่วยงานกลาง มีหน้าที่พยายามผลักดันประสานงานติดตามหรือให้คำปรึกษาหน่วยงานสำหรับเปิดเผยข้อมูล แต่อย่างไรก็ดีเข้าใจบริบททั้ง 2 ฝ่าย ทั้งหน่วยงานเจ้าของข้อมูลเอง หรือแม้แต่ภาคประชาชน ภาคเอกชนหรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งเป็นคนอยากใช้ข้อมูลเราอยู่ตรงกลางเราเข้าใจทั้ง 2 มุม เพราะหน่วยงานเจ้าของข้อมูลเองบางครั้งมีกฎหมายเฉพาะหน่วยงานและปฏิบัติตาม เพราะข้อมูลบางอย่างอาจมีข้อจำกัดทางกฎหมายหรือเปิดเผยไม่ได้ ซึ่งถามว่าฝั่งของผู้ใช้งานก็เข้าใจว่าอยากได้ข้อมูลเพื่อที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ทำให้ต้องมีกระบวนการเข้ามาปลดล็อก เพื่อให้หน่วยงานมีความมั่นใจว่าถ้าเผยแพร่ชุดข้อมูลเหล่านี้จะไม่ไปกระทบหรือละเมิดสิทธิหรือกฎหมายใด ๆ 

จากที่ฟังความเห็นของผู้ที่มีข้อมูลที่เป็นหน่วยงานกลางแล้ว ลำดับถัดไปจะเป็นความคิดเห็นจากผู้ใช้ข้อมูลเริ่มบทสนทนาที่ คุณคฑาวุธ โมระพัฒน์ กล่าวว่าสำนักงานป.ป.ช ถือว่าเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีพันธกิจในการดำเนินการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการผลักดัน การป้องกันและปราบปรามการทุจริต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงและใช้ข้อมูลด้านงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชัน เนื่องจากงบประมาณนั้นเป็นเเรงจูงใจก่อให้เกิดปัญหาคอร์รัปชันและสามารถสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติได้ 

เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินการสามารถที่จะบรรลุตามภารกิจอย่างน้อย 3 ด้าน คือ อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามการทุจริต การไต่สวนคดีก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลงบประมาณ เพื่อให้ทราบความเสียหายที่เป็นตัวเงินของประเทศชาติและประชาชนจะต้องสูญเสียไป รวมทั้งใช้ในการติดตามตัวเงินเหล่านั้นจากผู้กระทำการทุจริตด้วย ขณะที่ด้านอำนาจหน้าที่ การป้องกันการทุจริต ทางสำนักงานป.ป.ช. ก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้ข้อมูลงบประมาณมาใช้ในการเฝ้าระวัง ป้องปรามการทุจริตในหน่วยงานของรัฐ ที่อาจจะนำไปสู่การทุจริต หรือมีเหตุอันควรระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการที่มีความสำคัญและมีการใช้งบประมาณจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี การได้มาของข้อมูลงบประมาณเหล่านี้ ในปัจจุบันวิธีการปฏิบัติในการได้มา คือตรวจสอบจากเอกสารงบประมาณที่มีอยู่ของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งในประเทศไทยเอกสารงบประมาณที่มีจำนวนมาก ส่วนที่ 2 คือการร้องขอโดยตรงไปที่หน่วยงานเจ้าของงบประมาณนั้น ซึ่งเกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เนื่องจากงบประมาณในประเทศไทยมีอย่างน้อย 2 ระดับ  ระดับแรก คือ งบประมาณในระดับชาติ เรียกว่า “พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี” ที่ปรากฏรายได้ รายจ่ายของแต่ละกระทรวง แต่ละกรม จังหวัด หรือหน่วยงานอื่น ๆ ในระดับส่วนกลาง

ส่วนภูมิภาคที่มีหลายพันเล่ม ซึ่งประเทศไทยไม่มีหน่วยงานทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดเก็บข้อมูลงบประมาณทั้ง 8 พันกว่าฉบับของประเทศมารวมไว้ในที่เดียวกันในลักษณะที่เป็น Big Data ที่จะเข้าถึงข้อมูลได้จากจุดเดียว และถึงจะมีบางหน่วยงานจัดทำไว้ แต่ยังขาดความครอบคลุม เนื่องจากข้อมูลที่ปรากฏส่วนใหญ่เป็นข้อมูลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งไม่ได้มีการติดตามการวางงบประมาณตั้งแต่ตอนต้น 

ดังนั้น ปัจจุบัน สำนักงาน ป.ป.ช. ในการดำเนินการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ที่มีข้อกำหนดให้หน่วยงานเข้าร่วมการประเมินเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ หรือ Open Data บนเว็บไซต์หลักของหน่วยงาน ในประเด็นการบริหารและการใช้จ่ายงบประมาณการดำเนินงานในประเด็นการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้หน่วยตรวจสอบทั้งประเทศ รวมถึงประชาชนสามารถเข้าถึงงบประมาณเหล่านี้ สำหรับนำมาใช้ประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้อย่างสะดวก มีคุณภาพได้ในระดับหนึ่ง


ฐานะภาคประชาสังคม ที่ปัจจุบันได้ดำเนินงานด้านการพัฒนาเว็บไซต์และดึงข้อมูล สำหรับทำงานช่วยเหลือให้กับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันพบอุปสรรคใดบ้าง และอุปสรรคแตกต่างกับ ป.ป.ช. หรือไม่ มากน้อยเพียงใด 

คุณณัฐภัทร เนียวกุล  ตอบคำถามส่วนนี้ว่าพบปัญหาเช่นเดียวกับทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ส่วนที่หนึ่ง คือเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะว่าการมีส่วนร่วมจากประชาชนมักถูกจำกัดโดยการเข้าถึงข้อมูล เช่น กระบวนการงบประมาณมีหลายส่วนหลายขั้นตอนอย่างมาก ซึ่งสิ่งที่พยายามกล่าวที่ผ่านมาเอกสารงบประมาณผู้แทนราษฎรควรจะออกเอกสารมาในรูปแบบ Machine readable เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปค้นหาในประเด็นที่สนใจได้ 

แต่ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้น คือเราต้องเข้าเว็บไซต์ของสำนักงบประมาณก่อนเพื่อค้นหาเอกสารหลายสิบเล่มกว่าจะเจอสิ่งที่ต้องการ ทำให้บางคนยอมแพ้ถอยออกจากการมีส่วนร่วมไป  ขณะที่ ส่วนที่สอง การทำงานร่วมกับภาคประชาชน พบว่ามีการเเปลงเอกสารงบประมาณที่ยังให้ข้อมูลที่ผิด ซึ่งเท่ากับว่าเอกสารราชการที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ไม่ได้หมายความว่าถูกต้องเสมอไป ไม่มีการยืนยันความถูกต้อง และไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ 

ตัวอย่างเช่นกรมบัญชีกลางมีข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งประชาชนทั่วไปต้องการเข้าค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์ จำเป็นต้องทราบวิธีการจัดหาก่อนว่าโครงการหน้าบ้านของท่านที่อยากจะเห็นว่าถนนเส้นนี้หน้าบ้านพังหรือสร้างไม่ได้มาตรฐานอย่างไร แต่ท่านต้องทราบว่าจัดหามาด้วยวิธีการใด ซึ่งถ้าตอบเงื่อนไขนี้ผิดจะหาข้อมูลไม่พบ หรือค้นได้ทีละช่วงเวลา ไม่สามารถที่ค้นข้อมูลทั้งช่วงได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการค้นหาส่วนที่หนึ่ง  และส่วนที่สอง ตามที่เบื้องต้นกรมบัญชีกลางกล่าวว่ามีข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณ ผ่าน GFMIS หรือ ระบบบริหารการเงินการคลัง ภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Government Fiscal Management System) ซึ่งเป็นระบบใหม่ 

คุณณัฐภัทร  ระบุว่ายังไม่มั่นใจว่าระบบใหม่นี้ ประชาชนจะสามารถเห็นได้มากน้อย และสอง สถานะของโครงการที่มีการจัดซื้อจัดจ้างไปเเล้ว เช่นกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสัญญา จะสามารถทราบข้อมูลการเปลี่ยนเเปลงได้หรือไม่  เนื่องจากไม่สามารถติดตามได้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน การจัดเก็บข้อมูลของกรมบัญชีกลางสามารถแสดงข้อมูลได้ เเต่ต้องเรียนตามตรงว่าโครงการที่เสร็จสิ้นเเล้วเราไม่สามารถทราบข้อมูลการเสนอโครงการตั้งแต่ต้นได้ ส่วนนี้จึงเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลชุดนี้อย่างมาก 

เรื่องเอกสารงบประมาณก็เป็นอีกข้อจำกัดหนึ่ง เนื่องจากเราจะมีข้อมูลจำนวนมากในระบบแต่ยังไม่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลเหล่านั้นได้ คุณณัฐภัทร ยกตัวอย่างว่า หากเรานำข้อมูลที่เรามีอยู่มาเล่าหรือเปิดเผยอาจทำให้ไม่ต้องวิเคราะห์ข้อมูลเอง เพราะประชาชนคงอยากเห็นหน่วยงานภาครัฐ เปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานสากล 

ซึ่งพบว่าในปัจจุบันหากค้นหาข้อมูลเอกสารงบประมาณหรือโครงการของปี 2558 2559 และ 2560 บนเว็บไซต์ ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ นั้นเริ่มค้นหาไม่พบแล้ว รูปแบบการนำเข้าข้อมูลก็แตกต่างกัน ทำให้มีข้อจำกัดค่อนข้างมากในการใช้ข้อมูล ทั้งนี้หากถามว่าเราสามารถทราบได้อย่างไรว่านำข้อมูลส่วนไหนไปใช้อย่างไรได้บ้าง 

ประการเเรกเป็นการนำเข้าข้อมูลของประเทศกรีซ ที่แสดงการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบของการเบิกจ่ายหรือการใช้จ่ายงบประมาณในส่วนระยะเวลา 30 วันที่ผ่านมา มีการจัดการงบประมาณออกไปให้หน่วยงานระดับไหนอย่างไร หรืออาจแสดงข้อมูลที่ลงลึกกว่านั้นเพื่อตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้งานหลากหลายรูปเเบบ ซึ่งไม่ได้บอกว่าประชาชนทั่วไปต้องเห็นลึกเท่ากัน เเต่หน้าที่ของหน่วยงานรัฐคือเปิดเผยข้อมูลให้กว้างที่สุด เพื่อตอบสนองการใช้งานของประชาชนให้มากที่สุดหรือไม่ 

นอกจากนี้ ข้อจำกัดส่วนที่หนึ่ง  คือในปัจจุบันเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับข้อมูลซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารสาธารณะยังมีความล้าหลัง เนื่องจากพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฉบับเดิม เป็นของปี 2540 ซึ่งคิดว่าข้อมูลเหล่านั้นควรจะเป็นข้อมูลเปิดสาธารณะยิ่งขึ้น ขณะที่ ส่วนที่สอง คือการที่หน่วยงานมีกฎหมายของตนเอง ทำให้เป็นอุปสรรคในการเปิดเผยข้อมูลเป็นสิ่งที่น่ากังวล เช่น กฎหมายเปิดเผย 1 ถึง 10 เเต่พอขอทราบข้อมูลในข้อที่ 11 ขึ้นไป อาจอ้างว่ากฎหมายไม่ได้บอกว่าให้ต้องเปิดเผย 

ถัดมาส่วนที่สาม คือข้อมูลส่วนบุคคล ที่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลต้องไม่เป็นการขัดขวางหรือยับยั้งการส่งเสริมความโปร่งใส เเต่ปัจจุบันนำพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมายับยั้งและขัดขวางในการที่จะส่งเสริมความโปร่งใสในประเทศ เช่น กรณีข้อมูลบัญชีทรัพย์สินผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ที่แม้มองว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล แต่การตัดสินใจของเขาเหล่านั้นอาจสร้างผลกระทบต่อคนหมู่มากทางสังคม ฉะนั้นการยกข้อจำกัดเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลขึ้นมา ทำให้เรายิ่งต้องพัฒนาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพื่อส่งเสริมและคำนึงถึงประสิทธิภาพในการสร้างความโปร่งใสอย่างต่อเนื่อง


จากมุมมองของวิทยากรทั้ง 5 ท่าน จะเห็นได้ว่าการเข้าถึงข้อมูลยังเป็นอุปสรรคใหญ่ โดยเฉพาะในมุมมองทั้ง 2 ด้านของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กับภาคประชาสังคม ที่เห็นตรงกันว่าการเปิดเผยข้อมูลนั้นเป็นโอกาสสำคัญ ที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

การเสวนาทั้งหมดนี้มาจากมุมมองของผู้ทำงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักวิจัย และผู้ทำงานในวิสาหกิจเพื่อสังคม จากบทสนทนาดังกล่าวย่อมสร้างผลต่อการขับเคลื่อนในอนาคตไม่มากก็น้อย ซึ่งการร่วมถกสนทนาเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างความร่วมมือและหาทางออกร่วมกันแบ่งปัญหาวิธีการจัดการอุปสรรคที่เกิดขึ้น ด้วยเครื่องมือและความเชี่ยวชาญที่มีของแต่ละฝ่าย เวทีนี้จึงเป็นพื้นที่เปิดประเด็นให้หน่วยงานได้กลับไปขบคิดต่อไปในการดำเนินการเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชัน

แพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ

รับชมวิดีโอบันทึกจากงานเสวนาวิชาการสาธารณะ : ที่นี่
ติดตามสรุปเสวนาในโครงการทั้ง 6 เวที : ที่นี่

SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความในชุดข้อมูลภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา สนับสนุนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 1. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 2. เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) 3. ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) 4. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5. หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง (Urban Futures & Policy)  6. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) 7. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 8. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ 9. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSRI) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น