Site icon SDG Move

Director’s Note: 06 – ความหลากหลายของประเด็นวิจัยเกี่ยวกับ SDGs

สวัสดีวันจันทร์ครับ

สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์แห่ง SDGs ก็ว่าได้ สำหรับชาว SDG Move 

จากกิจกรรม บทความที่นำเสนอ และบทสนทนาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นทำให้เห็นความหลากหลายของประเด็นวิจัยที่นักวิชาการสามารถนำไปเป็นโจทย์สำหรับการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมาย SDGs ได้ไม่น้อยเลย และมันมี Keyword ที่สำคัญ 1 คำ 

คำนั้นคือคำว่า “Intersectionality” 

Intersectionality หมายถึง การซ้อนทับกันของประเด็น หากมองในมุมของปัญหาความยั่งยืน Intersectionality ของปัญหานั้นทำให้ปัญหาซับซ้อนขึ้นไปอีกและนั่นเป็นเหตุทำให้ปัญหาความยั่งยืนแก้ไขได้ยาก ตัวอย่างของปัญหาที่มีความทับซ้อนกันของประเด็น เช่น ปัญหาการสร้างโรงไฟฟ้าที่ภาคใต้เป็นปัญหาความมั่นคงทางพลังงานทับซ้อนกับประเด็นความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติสำหรับคนท้องถิ่น ปัญหาบ้านบางกลอยเป็นปัญหาทับซ้อนระหว่างการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคง สิทธิมนุษยชน ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่มีต้นเหตุมาจากความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมในการทำงานของแรงงานต่างด้าว เป็นต้น 

แต่ในเชิงการวิจัย Intersectionality ช่วยเปิดประเด็นและสร้างความเชื่อมโยงให้กับสาขาวิชาต่าง ๆ กับประเด็น SDGs ไม่น้อยเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น

เมื่อเราเห็นความเชื่อมโยงเหล่านี้ เราจะพบว่าประเด็นที่เราสามารถทำวิจัยได้เกี่ยวกับ SDGs นั้นแทบจะไม่มีจุดสิ้นสุดเลยทีเดียว และความเชื่อมโยงหรือการซ้อนทับของบางประเด็นที่นักวิจัยแต่ละคนเลือกอาจเหนือจินตนาการของเราก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ควรระลึกไว้ในใจก็คือ การทำวิจัยเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น สามารถเป็นงานวิจัยเพื่อการทำความเข้าใจสถานการณ์ได้ แต่หากทำได้มากกว่านั้น ควรผลักดันไปถึงการที่ทำให้งานวิจัยของเราเป็นงานวิจัยแบบ “Transdisciplinary” ให้ได้ 

การวิจัยแบบ “Transdisciplinary” นั้นเป็นการวิจัยแบบบูรณาการในระดับที่ไปไกลกว่า Multi-disciplinary และ Interdisciplinary ในแง่ที่ว่า Multi-disciplinary เป็นการวิจัยในประเด็นเดียวกันแต่มองจากมุมมองหลายศาสตร์โดยแต่ละศาสตร์ตั้งโจทย์ของตนเอง Interdisciplinary เป็นวิจัยที่เราเริ่มเห็นความพยายามในการตั้งโจทย์ร่วมกันจากหลายศาสตร์และพัฒนาเครื่องมือหรือแนวคิดทฤษฎีการวิจัยที่ผสานหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน

Transdisciplinary เป็นการวิจัยที่เน้นเรื่องการผลิตร่วมกันของความรู้ (Co-production of Knowledge) ในแบบที่มิได้ข้ามแค่ศาสตร์เท่านั้น แต่ข้ามประเภทความรู้ด้วย ทั้งความรู้ทางวิชาการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความรู้บนฐานประสบการณ์ และมีการดึงภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมกระบวนการวิจัยและเรียนรู้ร่วมกันเพื่อการแก้ไขปัญหาความยั่งยื่น ซึ่งผลลัพธ์ของการวิจัยแบบ Transdisciplinary นั้นได้ทั้งความรู้ใหม่และทางออกใหม่สำหรับการแก้ไขปัญหาด้วย ตัวอย่างของการวิจัยลักษณะนี้เช่น การวิจัยไทบ้าน และการวิจัยเพื่อท้องถิ่น (ภายใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เดิม) 

แต่ไม่ว่างานวิจัยของท่านจะเป็นแบบใด หากท่านสนใจที่จะทำงานวิจัยเกี่ยวกับ SDGs สามารถติดต่อมาพูดคุยกันได้ที่เพจ SDG Move TH ของเราครับ เผื่อว่าจะแลกเปลี่ยนกันและอาจเป็นประโยชน์ในการพัฒนาข้อเสนอของท่านครับ

Author

  • ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

Exit mobile version