Director’s Note: 06 – ความหลากหลายของประเด็นวิจัยเกี่ยวกับ SDGs

สวัสดีวันจันทร์ครับ

สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์แห่ง SDGs ก็ว่าได้ สำหรับชาว SDG Move 

  • เสาร์ก่อนจันทร์ที่แล้ว ทีม SDG Move ไปมีส่วนร่วมกับการให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ SDGs ในงาน International Youth Day ซึ่งมีเยาวชนมีส่วนร่วมมากมาย
  • วันจันทร์ที่แล้วที่ต้องเตรียมการ Launch รายงาน Sustainable Development Report 2021 #SDR2021 และ SDG Index 2021 ผ่านหน้าเพจ SDSN Thailand และผ่านสื่อหลายสำนักที่ได้นำข้อมูลของเราไปเผยแพร่ต่อ 
  • วันอังคารและวันพุธ มีการอบรม SDG101 กับภาคสุขภาพ ที่ทางสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าภาพร่วมกับ SDG Move โดยจัดเป็นเวลา 2 วันติดกัน ได้รับความสนใจที่มากพอสมควร พร้อมทั้งได้วิทยากรจากหลายภาคส่วนที่สำคัญกับการขับเคลื่อน SDGs 
  • วันพฤหัสบดี เป็นวันที่คณะเศรษฐศาสตร์ จัดงาน Econ Symposium 2021 ในธีม ก้าวต่อไปเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน มีเปเปอร์จาก Research Cluster ทั้ง 4 Cluster มานำเสนอประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจ โควิด 19 และการก้าวต่อไปของประเทศไทย ทั้งในด้านความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจสีเขียว ทรัพยากรมนุษย์ และความสามารถในการแข่งขัน 
  • วันอาทิตย์ได้ประชุมแลกเปลี่ยนกับภาคีภาควิชาการและภาคประชาสังคมในนาม Thailand SDG Partnership เพื่ออัพเดทความคืบหน้าของความร่วมมือและสิ่งที่จะผลักดันร่วมกันโดยใช้งาน High-Level Political Forum on Sustainable Development เป็นเป้าหมายปลายทางในระยะสั้น 

จากกิจกรรม บทความที่นำเสนอ และบทสนทนาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นทำให้เห็นความหลากหลายของประเด็นวิจัยที่นักวิชาการสามารถนำไปเป็นโจทย์สำหรับการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมาย SDGs ได้ไม่น้อยเลย และมันมี Keyword ที่สำคัญ 1 คำ 

คำนั้นคือคำว่า “Intersectionality” 

Intersectionality หมายถึง การซ้อนทับกันของประเด็น หากมองในมุมของปัญหาความยั่งยืน Intersectionality ของปัญหานั้นทำให้ปัญหาซับซ้อนขึ้นไปอีกและนั่นเป็นเหตุทำให้ปัญหาความยั่งยืนแก้ไขได้ยาก ตัวอย่างของปัญหาที่มีความทับซ้อนกันของประเด็น เช่น ปัญหาการสร้างโรงไฟฟ้าที่ภาคใต้เป็นปัญหาความมั่นคงทางพลังงานทับซ้อนกับประเด็นความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติสำหรับคนท้องถิ่น ปัญหาบ้านบางกลอยเป็นปัญหาทับซ้อนระหว่างการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคง สิทธิมนุษยชน ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่มีต้นเหตุมาจากความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมในการทำงานของแรงงานต่างด้าว เป็นต้น 

แต่ในเชิงการวิจัย Intersectionality ช่วยเปิดประเด็นและสร้างความเชื่อมโยงให้กับสาขาวิชาต่าง ๆ กับประเด็น SDGs ไม่น้อยเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น

  • การซ้อนทับระหว่างประเด็น SDGs กับมิติเชิงพื้นที่: เกิดเป็นประเด็นการวิจัยในประเด็น SDGs โดยเน้นที่ระดับพื้นที่ ใช้บริบทพื้นที่เป็นตัวตั้ง
  • การซ้อนทับระหว่างประเด็น SDGs กับมิติเชิงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย: เกิดเป็นประเด็นการวิจัยเกี่ยวกับชีวิตที่ยั่งยืนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ เช่น เยาวชน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เป็นต้น 
  • การซ้อนทับระหว่างประเด็น SDGs กับประเด็นในเชิงภูมิภาคหรือการเมืองระหว่างประเทศ: เกิดเป็นประเด็นวิจัยที่เชื่อมโยงสาเหตุ ผลกระทบ หรือนัยยะอื่น ๆ ระหว่างสถานการณ์ในระดับภูมิภาคกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 
  • การซ้อนทับระหว่างประเด็น SDGs กับเครื่องมือหรือทฤษฎีใหม่ ๆ ในศาสตร์หนึ่ง: เกิดเป็นประเด็นวิจัย เช่น การนำ Machine Learning มาใช้ในการวิเคราะห์เป้าหมาย SDGs ที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำ การศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับประเด็น SDGs (ทั้งด้านความยากจน การคอรัปชั่น พฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ) การนำ Blockchain มาใช้กับการบริหารจัดการเมืองให้โปร่งใส เข้าถึงได้ เป็นต้น 
  • การซ้อนทับระหว่างประเด็น SDG หนึ่งกับประเด็นอีก SDG หนึ่ง: เกิดเป็นประเด็นวิจัยที่ทำให้เห็นความเชื่อมโยงใหม่ ๆ ระหว่าง SDGs เช่น เกษตรกรรมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา-สุขภาพ-การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม เป็นต้น 
  • การซ้อนทับระหว่างประเด็น SDGs กับ Means of Implementation: เกิดเป็นประเด็นวิจัยเกี่ยวกับ SDGs และปัจจัยเชิงระบบที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs เช่น ความสอดคล้องเชิงนโยบายและกติกาในการขับเคลื่อนการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (SDG12) การเสริมสร้างศักยภาพให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการขับเคลื่อน SDG11 เมืองและชุมชนยั่งยืน กลไกการเงินเพื่อการพัฒนากับการหนุนเสริมภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อน SDGs (SDG17) ช่องว่างความรู้-เทคโนโลยี-นวัตกรรมในการขับเคลื่อนสันติภาพในภาคใต้ (SDG16) เป็นต้น 

เมื่อเราเห็นความเชื่อมโยงเหล่านี้ เราจะพบว่าประเด็นที่เราสามารถทำวิจัยได้เกี่ยวกับ SDGs นั้นแทบจะไม่มีจุดสิ้นสุดเลยทีเดียว และความเชื่อมโยงหรือการซ้อนทับของบางประเด็นที่นักวิจัยแต่ละคนเลือกอาจเหนือจินตนาการของเราก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ควรระลึกไว้ในใจก็คือ การทำวิจัยเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น สามารถเป็นงานวิจัยเพื่อการทำความเข้าใจสถานการณ์ได้ แต่หากทำได้มากกว่านั้น ควรผลักดันไปถึงการที่ทำให้งานวิจัยของเราเป็นงานวิจัยแบบ “Transdisciplinary” ให้ได้ 

การวิจัยแบบ “Transdisciplinary” นั้นเป็นการวิจัยแบบบูรณาการในระดับที่ไปไกลกว่า Multi-disciplinary และ Interdisciplinary ในแง่ที่ว่า Multi-disciplinary เป็นการวิจัยในประเด็นเดียวกันแต่มองจากมุมมองหลายศาสตร์โดยแต่ละศาสตร์ตั้งโจทย์ของตนเอง Interdisciplinary เป็นวิจัยที่เราเริ่มเห็นความพยายามในการตั้งโจทย์ร่วมกันจากหลายศาสตร์และพัฒนาเครื่องมือหรือแนวคิดทฤษฎีการวิจัยที่ผสานหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน

Transdisciplinary เป็นการวิจัยที่เน้นเรื่องการผลิตร่วมกันของความรู้ (Co-production of Knowledge) ในแบบที่มิได้ข้ามแค่ศาสตร์เท่านั้น แต่ข้ามประเภทความรู้ด้วย ทั้งความรู้ทางวิชาการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความรู้บนฐานประสบการณ์ และมีการดึงภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมกระบวนการวิจัยและเรียนรู้ร่วมกันเพื่อการแก้ไขปัญหาความยั่งยื่น ซึ่งผลลัพธ์ของการวิจัยแบบ Transdisciplinary นั้นได้ทั้งความรู้ใหม่และทางออกใหม่สำหรับการแก้ไขปัญหาด้วย ตัวอย่างของการวิจัยลักษณะนี้เช่น การวิจัยไทบ้าน และการวิจัยเพื่อท้องถิ่น (ภายใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เดิม) 

แต่ไม่ว่างานวิจัยของท่านจะเป็นแบบใด หากท่านสนใจที่จะทำงานวิจัยเกี่ยวกับ SDGs สามารถติดต่อมาพูดคุยกันได้ที่เพจ SDG Move TH ของเราครับ เผื่อว่าจะแลกเปลี่ยนกันและอาจเป็นประโยชน์ในการพัฒนาข้อเสนอของท่านครับ

Last Updated on มิถุนายน 21, 2021

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น