Site icon SDG Move

SDG Vocab | 35 – Migrant Remittances – เงินส่งกลับบ้านของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน

เป็นเวลาเนิ่นนานที่ผู้คนทั่วโลกได้ออกไปแสวงหาโอกาสในหน้าที่การงานและรายได้ที่ดีกว่า ไม่เพียงแต่อพยพจากชนบทเข้าสู่เมือง แต่ยังรวมถึงการโยกย้ายถิ่นฐานข้ามพรมแดนไปยังประเทศอื่นเพื่อทำงาน และจำนวนไม่น้อยของแรงงานเหล่านี้ (ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งงานประเภทใด อาทิ เดินทางเพื่อไปทำงานประจำบริษัทต่างชาติ องค์กรระหว่างประเทศ หรือแรงงานทั่วไป) ส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวที่ภูมิลำเนาในประเทศซึ่งเดินทางจากมา

Migrant remittances หรือ ‘เงินส่งกลับบ้านของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน’ ตามคำอธิบายของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) ระบุว่าเป็นทั้ง ‘เงิน’ หรือ ‘ของใช้’ ที่ซื้อมาโดยใช้เงินบางส่วนของรายได้ผู้นั้น นำส่งกลับไปยังครอบครัวหรือแม้กระทั่งเพื่อนของพวกเขา โดย migrant remittances ที่ว่านี้ถือเป็นแหล่งรายได้จากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดมากกว่าความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance) ที่ส่งกลับมาให้ ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ และในทางหนึ่งยังเป็นส่วนที่เชื่อมโยงหรือเป็นสัญลักษณ์ที่เห็นได้ชัดระหว่าง ‘การอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน’ (migration) และ ‘การพัฒนา’ (development) ด้วย

นั่นหมายความว่าเงินส่งกลับบ้านมีความสำคัญ เพราะเป็น ‘ความเป็นความตาย’ ของการช่วยเติมปากท้องของครอบครัวให้อิ่มและมีกินมีใช้โดยเฉพาะครอบครัวที่อยู่ในประเทศที่ยากจนหรือกำลังพัฒนา ซึ่งสำหรับ SDGs ก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญในจุดนี้ว่า แรงงานผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและครอบครัวมีบทบาทต่อการพัฒนาในระดับประเทศและโลก ดังที่กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (International Fund for Agricultural Development – IFAD) ระบุว่า เงินที่ส่งกลับมานั้นสามารถสร้างโอกาสที่จะมีเงินเก็บ และส่งกลับมาให้นำเงินไปลงทุน หรือใช้เข้าถึงการศึกษา/จ่ายค่าเทอม สุขภาพ และที่อยู่อาศัยที่ดีขึ้น อันจะช่วยเปลี่ยนชุมชนที่มีอยู่เดิมสู่โอกาสที่ดีกว่าหรือลดความยากจนลงได้ ขณะเดียวกัน สำหรับในครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ เงินส่งกลับบ้านอาจจะเป็นทุนสำหรับการเริ่มก่อร่างสร้างตัวทำธุรกิจขนาดเล็กก็เป็นได้

ซึ่งการตระหนักถึงข้อนี้ จะช่วยนำไปสู่การปรับปรุงกลไกรายล้อมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งเงินกลับบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีช่องทางการส่งเงินกลับโดยจะต้องมีความโปร่งใสและมีการแข่งขันกันเพื่อปรับลดค่าธรรมเนียมให้ ‘ถูก’ ลงด้วย

ปัจจุบันช่องทางสำหรับการส่งเงินกลับบ้านมีอาทิ การใช้บริการผ่านทางธนาคาร ธุรกิจบริการด้านส่งเงินกลับบ้านโดยเฉพาะ ไปรษณีย์ และโทรศัพท์มือถือ โดยที่ค่าธรรมเนียมอาจจะแพงหรือถูกกว่าแตกต่างกันไป แต่ส่วนมากมักจะมีค่าดำเนินการ, ค่าแปลงอัตราการแลกเปลี่ยน, หรือค่าเก็บเงินที่จะนำส่งกลับบ้าน เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปอาจจะเฉลี่ยอยู่ที่ 7% หรือสูงถึง 15-20% ในบางแหล่งที่อยู่/ภูมิภาค/ประเทศ ทำให้ในบางครั้งค่าธรรมเนียมเหล่านี้ไม่ได้ช่วยเอื้ออำนวยจุดประสงค์ของการส่งเงินกลับบ้านให้สามารถกระทำได้โดยง่าย

โดยข้อมูลจากธนาคารโลกประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ระบุว่า ค่าธรรมเนียมส่งเงินกลับบ้านในปัจจุบันยังอยู่ที่ราว 6.8% ซึ่งผู้ให้บริการที่ต่างกันอาจมีค่าธรรมเนียมที่สูงกว่านั้น อาทิ ธนาคารมีค่าธรรมเนียมสูงที่สุดถึง 11% ไปรษณีย์ที่ 8.6% ผู้ให้บริการรายอื่น อาทิ Western Union ที่ 5.8% โดยบริเวณเอเชียใต้มีค่าธรรมเนียมที่ต่ำที่สุดที่ประมาณ 5% แถบแอฟริกาซับซาฮาราที่ 9% และระหว่างประเทศภายในภูมิภาคแอฟริกาและระหว่างประเทศในหมู่เกาะแฟซิฟิกที่มากกว่า 10% (อ่านต่อ ที่นี่) ขณะที่การลดค่าธรรมเนียมส่งเงินกลับบ้านถือเป็นอีกหนึ่งเป้าประสงค์สำคัญของ #SDG10 – (10.c) นั้น ที่มุ่งมั่นเอาไว้ว่าจะต้องการลดไปให้ได้ถึงต่ำกว่าร้อยละ 3 ภายในปี 2573

ทั้งนี้ IMF ก็ได้ให้คำแนะนำในการหัก-ลดค่าธรรมเนียมลงสำหรับภาคส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปดำเนินการต่อ ดังนี้

‘เงินส่งกลับบ้าน’ ปรากฏใน ‘#SDG10 – (10.c) ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมในการส่งเงินกลับบ้านของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน (migrant remittances) ให้ต่ำกว่าร้อยละ 3 และขจัดการชำระเงินระหว่างประเทศ (remittance corridors) ที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าร้อยละ 5 ภายในปี 2573’

Target 10.c: By 2030, reduce to less than 3 per cent the transaction costs of migrant remittances and eliminate remittance corridors with costs higher than 5 per cent


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา :
What Are Remittances? (IMF)
Remittances: Funds for the Folks Back Home (IMF)
Remittances (migrationdataportal.org)
Remittances and migration (ifad.org)

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version