Snapshot การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานในช่วงโควิด-19 กับแนวทาง 3 ข้อให้การเคลื่อนย้ายปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ

หลังจากที่ประชาคมระหว่างประเทศให้การรับรองข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration – GCM) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2561 การโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ (international migration) ยังคงเป็นหนึ่งประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งและเห็นชัดเจนขึ้นในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งรูปแบบของการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ รวมถึงนโยบายและมาตรการที่กระทบต่อกลุ่มผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานเป็นพิเศษทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ

และเนื่องจากปี 2565 นี้ จะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดการประชุมทบทวนผลการปฏิบัติการในระดับโลก หรือ “International Migration Review Forum” (IMRF)ในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญที่บรรดารัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะใช้การประชุมเป็นพื้นที่อภิปรายแลกเปลี่ยนความคืบหน้าและนัยสำคัญต่อ SDGs ข่าวฉบับนี้นำเสนอภาพรวมข้อมูลโดยคร่าวของการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน และแนวทาง 3 ข้อที่ขจัดความท้าทายและเอื้ออำนวยให้การเคลื่อนย้ายเป็นไปด้วยความสงบ ปลอดภัย และเป็นไปตามระเบียบ ที่ท้ายที่สุดแล้ว จะสนับสนุนให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ได้

สรุปข้อมูลการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน (migrants)

  1. ในช่วงปี 2558 – 2563 จำนวนผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานที่เคลื่อนย้ายจากภูมิภาคที่พัฒนาน้อยกว่าไปยังภูมิภาคที่พัฒนามากกว่า คิดเป็นราว 2.8 ล้านคนต่อปี
  2. ตามข้อมูลปี 2562 มีแรงงานผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน (migrant workers) มากกว่า 169 ล้านคนทั่วโลก
  3. จำนวนของประชาชนที่อยู่นอกอาณาเขตของประเทศที่กำเนิดหรือประเทศที่ตนถือสัญชาติ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา นับเป็นราว 281 ล้านคนในปี 2563 ทำให้สัดส่วนของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศต่อจำนวนประชากรโลกมีเพิ่มมากขึ้นจาก 2.8% ในปี 2543 เป็น 3.6% ในปี 2563 และเมื่อสิ้นปี 2563 พบว่า ทั่วโลกมีเด็ก 1 ใน 66 คน หรือ 35.5 ล้านคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ใช้ชีวิตอยู่นอกอาณาเขตประเทศที่กำเนิด
  4. ในครึ่งปี 2563 การระบาดของโควิด-19 อาจมีส่วนทำให้จำนวนของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานทั่วโลกลดลงราว 2 ล้านคน
  5. ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2562 – 24 พฤศจิกายน 2563 พบว่ามีจำนวนผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานทั่วโลกที่เสียชีวิตมากกว่า 8,436 รายและอีก 5,534 รายที่สูญหายหรือคาดว่าเสียชีวิตแล้ว
  6. ในปี 2563 เงินส่งกลับบ้าน (remittances) ที่มีการบันทึกข้อมูลไว้อย่างเป็นทางการ กลับไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำและที่มีรายได้ปานกลาง มีจำนวน 549 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เป็นจำนวนที่น้อยกว่าในปี 2562 ที่ 1.7%
  7. ในแง่ของการตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19 ข้อมูลราวกลางเดือนธันวาคม 2563 พบว่า มีมาตรการจำกัดการเดินทางและการเคลื่อนย้ายและการที่รัฐบาลมีคำสั่งปิดพรมแดนประเทศ มากกว่า 111,000 มาตรการ และข้อมูลเดือนพฤศจิกายน 2564 มีข้อจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ มากกว่า 25,000 มาตรการที่ยังบังคับใช้อยู่

ในบริบทของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานถือเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งในแง่ที่ต้องเผชิญกับมาตรการและข้อกำหนดของการเคลื่อนย้าย การได้รับอนุญาตหรือไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้า พักอาศัย ทำงาน และเดินทางออก รวมไปถึงการเผชิญกับการเลือกปฏิบัติจากความเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (xenophobia) มุมมอง ภาพจำ กระทั่งข่าวสารข้อมูลเท็จที่มีต่อกลุ่มผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่สู้ดีนัก ตลอดจนความหวาดหวั่นจากการที่อาจไม่สามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็น อาทิ บริการสุขภาพและวัคซีน การคุ้มครองทางสังคม และการศึกษาทางไกล เหล่านี้เป็นตัวแสดงชี้ถึงความไม่เท่าเทียมและสะท้อนว่ายังคงเป็นปัญหา หากไม่สามารถจัดการได้ย่อมกระทบต่อหลักการความครอบคลุมของ SDGs

ทั้งนี้ ตามเอกสารรายงานของเลขาธิการสหประชาชาติที่ A/76/642 ระบุว่าการประชุม International Migration Review Forum ในปีนี้จะเป็นสลักสำคัญสะท้อนความร่วมมือพหุภาคี โดยได้ให้ 3 แนวทางสำคัญขจัดความท้าทายที่มีต่อประเด็นการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ดังนี้

  1. การสนับสนุนสังคมที่ครอบคลุม (inclusive societies) – ตระหนักและให้ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะในประเทศปลายทาง ประเทศทางผ่าน หรือประเทศต้นทาง
  2. การสนับสนุนการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานที่ปกติ (regular migration) – กล่าวคือเป็นการเคลื่อนย้ายที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามช่องทางที่ถูกกฎหมายที่หลากหลาย เพื่อเป็นการสร้างโอกาสและการผสานเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยที่ตระหนักถึงปัจจัยความท้าทายต่าง ๆ เช่น โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิวัฒนาการ/การเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ
  3. การลดความเปราะบางและเสริมสิทธิคุ้มครองให้กับผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน – ส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ครอบครัวและสังคมของพวกเขา โดยรวมไปถึงการจัดการกับการโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติหรือผิดกฎหมาย รวมถึงมาตรการที่ตอบสนองต่อกลุ่มประชากรนี้

นอกจากนี้ เอกสารรายงานดังกล่าวยังระบุว่า บทเรียนจากบริบทของโควิด-19 ย้ำให้เห็นความสำคัญของธรรมาภิบาลในการจัดการกับประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐานในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานที่เปราะบาง (เด็กและสตรี) รวมถึงได้เรียกร้องให้รัฐสมาชิกดำเนินการร่วมกันเพื่อผลักดันให้โลกเป็นที่ฟูมฟักสิทธิ ศักดิ์ศรี และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

เข้าถึงเอกสารรายงานฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ) ได้ ที่นี่

ข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (GCM) เป็นทั้งกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศและกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อจัดระเบียบการเคลื่อนย้ายของประชากรที่เดินทางข้ามพรมแดนประเทศ ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นลักษณะการให้คำมั่นของรัฐสมาชิกโดยไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศ
– (10.7) อำนวยความสะดวกในการอพยพและเคลื่อนย้ายคนให้เป็นไปด้วยความสงบ ปลอดภัย เป็นไปตามระเบียบ และมีความรับผิดชอบ (orderly, safe, regular and responsible migration) รวมถึงผ่านทางการดำเนินงานตามนโยบายด้านการอพยพที่มีการวางแผนและจัดการที่ดี

แหล่งที่มา:
Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration – Report of the Secretary-General (A/76/642) (reliefweb.int)

Last Updated on กุมภาพันธ์ 1, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น