ยังอีกยาวไกลที่ค่าธรรมเนียมเงินส่งกลับบ้าน (remittance) จะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 3 ภายในปี 2573

การพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง (low- and middle-income countries: LMICs) ส่วนหนึ่งที่สำคัญขึ้นอยู่กับเงินส่งกลับบ้าน (remittance) หรือเงินที่แรงงานผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานส่งกลับไปให้ครอบครัวยังภูมิลำเนาเดิม ซึ่งเป็น ‘ความเป็นความตาย’ ของปากท้องประชากรและครอบครัวจากประเทศเหล่านี้ อาทิ จากอินเดีย เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ และอียิปต์ ทว่าการไหลเวียนของเงินยังขึ้นอยู่กับหลากปัจจัย ทั้งโรคระบาด ราคาน้ำมัน สถานการณ์ในประเทศเจ้าบ้าน (host country) การมีงานทำ และที่สำคัญคือ ‘ค่าธรรมเนียม’ การส่งเงินกลับบ้านนั้น ‘แพง’ เกินไปหรือไม่ โดยปัจจัยหลังสุดนี้ก็ได้บรรจุอยู่ใน #SDG10 ด้วย ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศ (10.c) ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมของการส่งเงินกลับประเทศของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานให้ต่ำกว่าร้อยละ 3 และขจัดการชำระเงินระหว่างประเทศ (remittance corridors) ที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าร้อยละ 5 ภายใน ปี 2573 ทว่าในปัจจุบัน โลกยังคงต้องเร่งดำเนินการอีกมากเพื่อไปถึงเป้าหมายนี้

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เลขาธิการสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูแตเรซ กล่าวว่า จากเดิมที่โลกต้องพยายามลดค่าใช้จ่ายการทำธุรกรรมส่งเงินกลับประเทศเท่ากับหรือต่ำกว่า 3% นั้น เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการตอบสนองต่อโควิด-19 ด้วยจึงจำเป็นต้องเร่งลดค่าธรรมเนียมลงให้เท่ากับ 0% ให้มากที่สุด ขณะที่ข้อมูลค่าธรรมเนียมประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 จาก World Bank ชี้ว่า ยังอยู่ที่ 6.8% ซึ่งผู้ให้บริการที่ต่างกันอาจมีค่าธรรมเนียมที่สูงกว่านั้น อาทิ ธนาคารมีค่าธรรมเนียมสูงที่สุดถึง 11% ไปรษณีย์ที่ 8.6% ผู้ให้บริการรายอื่นอาทิ Western Union ที่ 5.8% นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมยังแตกต่างกันไปตามภูมิภาคด้วย โดยเปรียบเทียบแล้วบริเวณเอเชียใต้มีค่าธรรมเนียมที่ต่ำที่สุดที่ประมาณ 5% แถบแอฟริกาซับซาฮาราที่ 9% และระหว่างประเทศภายในภูมิภาคแอฟริกาและระหว่างประเทศในหมู่เกาะแฟซิฟิกที่มากกว่า 10% จะเห็นได้ว่า ในภาพรวมของโลกนั้น ยังต้องเร่งดำเนินการอีกมากให้บรรลุตาม #SDG 10 (10.c) และให้ไปไกลกว่าที่ SDG กำหนด

แต่ความท้าทายยังมีมากขึ้นไปอีก ที่ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้มีจำนวนเงินส่งกลับบ้านที่ลดลงในห้วง 2 ปีนี้ถึง 14% จาก 548 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2562 เป็น 508 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 และจะลดต่ำลงไปอีกที่ 470 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 ด้วยเป็นผลจากทั้งการที่ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานเหล่านี้ไม่มีงานทำ เดินทางกลับบ้าน  และการเดินทางอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติหน้าใหม่ลดลงเพราะข้อจำกัดของการเดินทางระหว่างประเทศ เป็นต้น

ขณะที่ ในมุมของประเทศ LMICs เอง นอกจากจะเผชิญความท้าทายจากเงินส่งกลับบ้านแล้ว ยังรวมถึงหนึ่งปัจจัยสนับสนุนทางการเงินของประเทศที่สำคัญอย่าง การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (foreign direct investment: FDI)  ที่ลดลงอย่างมากเช่นเดียวกัน จาก 534 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 เป็น 365 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 และคาดว่าจะตกลงไปที่ 373 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 รวมลดลงถึง 30% ตอกย้ำสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศ LMICs ว่าอยู่ในภาวะที่น่ากังวล กระทบกับปากท้อง สุขภาพ และการศึกษาของประชากรภายในประเทศ

ทั้งนี้ ข้อมูลที่เผยแพร่ในบทความ ‘Preserving the lifeline of migrants’ remittances’ บนเว็บไซต์ D+C Development and Cooperation ระบุว่า หนทางที่จะช่วยขับเคลื่อน #SDG10 (10.c) ทำได้ด้วยการให้ผู้อพยพโยกยายถิ่นฐานสามารถเข้าถึงบริการการรับและส่งเงินได้ก่อน โดยไม่เกี่ยงสถานะทางการเงินหรือความสามารถในการเข้าถึงบริการออนไลน์ ให้มีการส่งเสริมความรู้การใช้ช่องทางส่งเงินออนไลน์ที่โดยเปรียบเทียบแล้วมีค่าธรรมเนียมถูกกว่าที่ประมาณ 2.8% ให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือสามารถเข้าถึงบริการเปิดบัญชีธนาคารได้ด้วยเพื่อแรงงานจะได้ทั้งค่าธรรมเนียมถูกและได้รับบริการที่ปลอดภัย ให้มีการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการต่าง ๆ ในพื้นที่นั้นเพื่อให้ค่าธรรมเนียมถูกลง ให้ธนาคารคอยตรวจดูอัตราค่าธรรมเนียมและพยายามลดอุปสรรคลงโดยจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบข้อมูลที่ใช้สำหรับตรวจดูความเคลื่อนไหวได้อย่าง real-time ซึ่งตอนนี้ World Bank เองก็ได้ตั้งคณะทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ ส่วนรัฐบาลอาจพิจารณาเข้ามาช่วยจัดการเคลื่อนย้ายเงินออมและเงินลงทุนของกลุ่มผู้พลัดถิ่นประเภท ‘Diaspora’ รวมทั้งออกพันธบัตรเฉพาะกลุ่มได้ (diaspora bond)

ทั้งนี้ การจะลดค่าธรรมเนียมลงได้นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องเงินส่งกลับบ้านเป็นการเฉพาะด้วย เพื่อให้ระบบการทำงานภาคการเงินในการโอน-ส่งเงินเป็นไปอย่างราบรื่น ที่ค่าธรรมเนียมจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและปากท้องของประชากรในประเทศเหล่านี้อีกต่อไป

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG8 (8.1) การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืน โดยเฉพาะ GDP ของประเทศ (8.5) การจ้างงานเต็มที่ #SDG10 (10.c) ลดค่าธรรมเนียมการส่งเงินกลับประเทศของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานให้ต่ำกว่าร้อยละ 3 และ #SDG17 (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินไปยังประเทศกำลังพัฒนา (17.16) หุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (17.18) สนับสนุนการจัดเก็บข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลา และจำแนกโดยละเอียด ซึ่งรวมถึงข้อมูลสถานการณ์อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน

แหล่งที่มา:
https://www.dandc.eu/en/article/many-developing-countries-reduced-remittances-and-less-foreign-direct-investment-are-double

Last Updated on เมษายน 26, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น