Site icon SDG Move

นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิที่ดินทั้งหมด 227 คน ถูกฆาตรกรรมในปี 2020 นับเป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบ 9 ปี

รายงานจาก Global Witness เผยตัวเลขจำนวนผู้เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิในที่ดินที่ถูกฆาตกรรมทั่วโลกในปี 2020 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 ปี เนื่องจากความรุนแรงในการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนายังคงเกิดขึ้นแม้โลกอยู่ในภาวะโรคระบาดก็ตาม

Global Witness องค์กรเอ็นจีโอระดับโลกที่ทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดเผยรายงานประจำปี “Last Line of Defence” ระบุว่า มีนักสิ่งแวดล้อมจำนวน 227 คน ถูกฆาตรกรรมในปี 2020 ที่ผ่านมา โดยคนเหล่านี้ที่ทำงานเพื่อปกป้องผืนป่า แม่น้ำ และระบบนิเวศทางธรรมชาติที่พึ่งพาอาศัยและใช้ชีวิตจากการแย่งยึดที่ดิน และการแปรสภาพ และหาประโยชน์อื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ โดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้สัมพันธ์กับระดับของผลกระทบของวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นต่อประเทศรายได้น้อยอย่างไม่เป็นสัดส่วน สร้างความเสียหายต่อกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง เช่น กลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า ทำให้ตกเป็นเหยื่อของการสังหารเพราะความขัดแย้งถึงหนึ่งในสามของจำนวนการเสียชีวิตทั้งหมด แม้จะเป็นกลุ่มประชากรที่มีเพียงแค่ 5% ทั่วโลกก็ตาม

รายงานเผยว่า จำนวนผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจนถูกฆาตกรรมต่อปีเพิ่มสูงขึ้นในช่วงระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา โดยสถติปี 2020 นี้คิดเป็นสองเท่าของปี 2013 หรือสามารถคิดเป็นตัวเลขการฆาตรกรรมนักสิ่งแวดล้อม 4 คนในทุกสัปดาห์นับตั้งแต่มีการลงนามข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015 เพื่อต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม Global Witness ระบุว่าตัวเลขการฆาตกรรมที่นำเสนอนี้อาจต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องมาจากระดับความโปร่งใสของการรายงานข้อมูลของรัฐ เสรีภาพสื่อ และสิทธิพลเมืองของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกันมาก

ข้อมูลของปี 2020 ทำให้เห็นว่าความรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุดในทวีปอเมริกาใต้และอเมริกากลาง อันเนื่องมาจากความพยายามในการต่อต้านการทำเหมือง การทำสัมปทานป่าไม้ในพื้นที่ที่รียกได้ว่ายังมีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในโลก โดยประเทศโคลอมเบียกลายเป็นประเทศที่มีนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมถูกฆาตกรรมมากที่สุดในโลกในปีที่ผ่านมา เป็นจำนวนทั้งหมดถึง 65 ราย

รองลงมาคือประเทศเม็กซิโก มีนักสิ่งแวดล้อมถูกสังหาร 30 ราย ลำดับที่สามคือประเทศฟิลิปปินส์ 29 ราย ต่อด้วยประเทศบราซิล 20 ราย และประเทศคองโก 15 ราย ทั้งนี้ ยังได้มีการเสนอข้อมูลผู้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกฆาตกรรมในประเทศไทย 2 ราย ได้แก่ นายคาร ไชยประเสริฐ หัวหน้าชุดพิทักษ์ป่าซับลังกา จ.ลพบุรี ซึ่งถูกพรานล่าของป่ายิงเสียชีวิตขณะลาดตระเวน และ นางกรรณิการ์ วงค์ศิริ กำนันต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย ที่ถูกจ้างวานฆ่าเนื่องจากความขัดแย้งด้านการจัดสรรพื้นที่ป่ายางพารากับกลุ่มนายทุน

ตัวเลขนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิที่ดิน ที่ถูกฆาตกรรมในปี 2020 ตามรายประเทศ
ที่มา : Global Witness

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้องค์กร Global Witness และพันธมิตรทำการสอบสวนสถานการณ์การสังหารที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งยากขึ้น แต่จากข้อมูลที่มี ก็ทำให้พบว่าการสังหารที่มีการเก็บข้อมูลไว้อย่างน้อย 30% เชื่อมโยงกับการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่ส่วนใหญ่เป็นการตัดไม้ การทำเหมือง และการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ และไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดในการเสียชีวิตอีกกว่า 100 ราย

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG16 สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
- (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ โดยมีตัวชี้วัด คือ จำนวนคดีฆาตกรรม ลักพาตัว การถูกพราก การกักขังหน่วงเหนี่ยว การทรมานผู้สื่อข่าว บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสื่อ สหภาพทางการค้าและผู้ให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
#SDG1 ขจัดความยากจน
-(1.4) สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องประสบปัญหาความยากจนและเปราะบาง มีสิทธิอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและควบคุมเหนือที่ดินและอสังหาในรูปแบบอื่น มรดกทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสม และบริการทางการเงิน ซึ่งรวมถึงระบบการเงินระดับฐานราก (microfinance) ภายในปี 2573
#SDG2 ยุติความหิวโหย
- (2.3) เพิ่มความสามารถในการผลิตทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็ก โดยเฉพาะผู้หญิงชนพื้นเมือง เกษตรกรแบบครอบครัว คนเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวประมง ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยรวมถึงการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรและปัจจัยนำเข้าในการผลิต ความรู้ บริการทางการเงิน ตลาด และโอกาสสำหรับการเพิ่มมูลค่าและการจ้างงานนอกพื้นที่การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ อย่างปลอดภัยและเท่าเทียมภายในปี 2573
#SDG15 การใช้ประโยช์และอนุรักษ์ระบบนิเวศ

ที่มา :
Murders of environment and land defenders hit record high (The Guardian)
227 นักเคลื่อนไหวสิทธิที่ดิน-สวล.ถูกฆ่าทั่วโลกในหนึ่งปี คนไทย 2 Global Witness เผย (Green News)

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version