SDG Updates | การแย่ง-ยึดที่ดิน (Land grabs): การพรากสิทธิเหนือที่ดินและทรัพยากรไปจากชุมชนคนท้องถิ่น

‘ที่ดิน’ เป็นทรัพย์สินที่มีค่า เป็นหลักประกันของชีวิต เป็นที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งใช้ทำมาหากินทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม และมีความหมายในการประกอบสร้างความเป็นชุมชน ความเป็นครอบครัว และความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของบุคคล (identity)

ขณะเดียวกัน ที่ดินก็เป็นภาพสะท้อนใช้แสดง ‘สถานะ’ หรือ ‘ฐานะ’ ความเป็นอยู่ของบุคคลที่ไม่ว่าใครก็ฝันใฝ่จะเข้าเป็นเจ้าของถือกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินสักแปลงหนึ่งหรือมากกว่านั้น โดยมีเอกสารสิทธิ อาทิ ‘โฉนดที่ดิน’ ซึ่งเป็นหนังสือยืนยันอย่างเป็นทางการ โดยกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ก็ได้อธิบายประโยชน์ของการถือครองโฉนดที่ดินประการสำคัญข้อแรก ๆ ว่า ทำให้ได้มาซึ่ง ‘สิทธิใน/เหนือที่ดินผืนนั้นอย่างสมบูรณ์โดยชอบด้วยกฎหมาย’ อันหมายรวมถึงสิทธิในการเข้าใช้ประโยชน์ สิทธิในการจำหน่าย สิทธิในการขัดขวางไม่ให้ผู้ใดเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินซึ่งมีการกำหนดขอบเขตและเนื้อที่ และเป็นทรัพย์สินที่ใช้พิสูจน์ความเป็นเจ้าของต่อรัฐและเอกชน

ทว่าในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมา ที่ดินที่คาดว่าสูงถึงมากกว่า 80 ล้านเอเคอร์ (มากกว่า 202,400,000 ไร่) ทั่วโลก ถูกแย่งและยึดไป โดยที่ผู้อยู่อาศัยแต่เดิมถูกบังคับให้ต้องออกจากบ้านและที่ดินผืนนั้น โดยปราศจาก ‘การยินยอมโดยสมัครใจและได้รับข้อมูลบอกกล่าวล่วงหน้า’ (Free, Prior, and Informed Consent – FPIC)

เราเรียกการกระทำเช่นนั้นว่า ‘การแย่งยึดที่ดิน’ (Land Grabs)

การแย่งยึดที่ดิน คืออะไร?

ตามจริงแล้ว การแย่งยึดที่ดินเป็นเรื่องทางการเมืองที่มีการวางแผนไว้ก่อน โดยใช้อำนาจเข้าควบคุมที่ดินและทรัพยากรที่ผูกติดกับที่ดินนั้น ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ แร่ธาตุ หรือผืนป่า เพื่อให้ครอบคลุมการใช้ประโยชน์จากผืนดินนั้นทั้งหมด ทำให้การเข้าไปควบคุมที่ดินดังกล่าวเป็นทั้งเรื่องที่กระทบกับความเป็นชุมชนท้องถิ่น เป็นเรื่องภายในประเทศ และในบางกรณียังเกี่ยวพันในลักษณะระหว่างประเทศ/ข้ามชาติด้วย

ขณะที่การแย่งยึดที่ดินเกิดขึ้นได้กับที่ดินขนาดเล็กและการใช้แรงงานเข้มข้น (labour-intensive) ไปจนถึงที่ดินขนาดใหญ่ ทว่าคำนิยามของการแย่งยึดที่ดินส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มีใจความเหมือนกันคือ การเข้าไปครอบครองที่ดินขนาดใหญ่ (large-scale acquisition) ที่มีตั้งแต่มากกว่า 200 เฮกเตอร์ (มากกว่า 506 ไร่) 1,000 เฮกเตอร์ (2,530 ไร่) มากกว่า 10,000 เฮกเตอร์ (มากกว่า 25,300 ไร่) ไปจนถึง 50,000 เฮกเตอร์ (126,500 ไร่) หรือมากกว่านั้น ผ่านการซื้อหรือการทำสัญญาเช่าที่มีกรอบระยะเวลากำหนดไว้ชัดเจน อาทิ 30 ปี 50 ปี หรือ 99 ปี โดยมีสิทธิที่จะต่ออายุสัญญาได้

โดยจุดประสงค์ของการเข้าครอบครองที่ดินนั้นก็เพื่อประโยชน์ทางการค้าและอุตสาหกรรมที่โดยมากแล้วเป็นกรณีของเกษตรกรรมและผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อการส่งออก การทำเหมืองหรือขุดเจาะหาวัตถุดิบ หรือการพัฒนาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและการท่องเที่ยว ด้วยความที่ต้องพึ่งพาการลงทุนมหาศาล จึงมักเกี่ยวข้องกับการเข้ามาลงทุนหรือกว้านซื้อ/เช่าของชาวต่างชาติ บริษัท/บรรษัทข้ามชาติ ตลอดจนกลุ่มบุคคล โดยการจัดทำข้อตกลงเรื่องที่ดินกับรัฐบาล ทั้งนี้ ในหลาย ๆ กรณีเป็นการกระทำโดยไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับชุมชนท้องถิ่น ส่งผลให้การเข้าถึงและควบคุมทรัพยากรเหนือที่ดินผืนนั้นไม่เป็นไปอย่างเสมอภาคกัน และมักแตกต่างกันที่สิทธิใน/เหนือที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย

องค์กรไม่แสวงผลกำไรหลาย ๆ แห่ง โดยเฉพาะ International Land Coalition (ILC) ประกาศ Tirana Declaration (2011) นิยามการแย่งยึดที่ดินว่าเป็นการซื้อไว้ในครอบครองหรือได้รับสัมปทาน โดยมีการกระทำที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิที่เท่าเทียมกันของผู้หญิง
  • ไม่ได้อยู่บนฐานของ FPIC ของผู้อยู่อาศัย/ใช้ที่ดินผืนที่มีกรณี ไม่ได้มีการประเมินอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม หรือในมิติที่เกี่ยวกับเพศ
  • ไม่ได้เป็นสัญญาที่โปร่งใส ที่มีการกำหนดความมุ่งหมายในการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่ชัดเจน อาทิ ด้านการจ้างงาน หรือการแบ่งปันผลประโยชน์
  • ไม่ได้มีการวางแผนอย่างเป็นประชาธิปไตย หรือผู้คนไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้

การแย่งยึดที่ดินไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อยู่ในประวัติศาสตร์โลกมาเนิ่นนาน

หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติจะเห็นว่า มีการต่อสู้และแย่งชิงที่ดินมานานแล้ว เช่นที่ชาวยุโรปเข้ามาแย่งยึดที่ดินของชนพื้นเมืองในอเมริกาเหนือและออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตัวอย่างของการแย่งยึดที่ดินครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ (The biggest land grabs in the history) ที่กระทบต่อสุขภาวะทางจิตใจและความเป็นอยู่ของชนพื้นเมืองในสองพื้นที่จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ จะเห็นว่าการกระทำเพื่อแย่งยึดที่ดินมาเป็นเอกสิทธิ์ของกลุ่มบุคคล บริษัท หรือประเทศหนึ่งนั้น ได้ส่งผลอย่างไรต่อการครอบครองที่ดินแห่งนั้นในเวลาต่อมาผ่านวิธีการทางกฎหมายเพื่อชี้ชัดความเป็นเจ้าของที่มีการใช้ประโยชน์ได้โดยชอบธรรม

ขณะที่กระแสการแย่งยึดที่ดินในปัจจุบันเป็นเรื่องของการแปลงวิถีการผลิตอาหารของคนท้องถิ่นที่นักลงทุนมองว่า ‘ไม่มีผลิตภาพ’ (unproductive) สู่วิธีการผลิตอาหารขนานใหญ่ และการแปลงที่ดินที่ส่วนใหญ่เป็นผืนป่านำไปใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อการส่งออก จึงสามารถกล่าวได้ว่า ลักษณะของการแย่งยึดที่ดินเช่นนั้นชัดเจนขึ้นในช่วงปี 2007 – 2008 ที่ราคาอาหารพุ่งทะยานขึ้นสูง นำไปสู่การสรรหาที่ดินเพื่อผลิตอาหาร ทว่าด้วยความที่เน้นการส่งออก ทำให้พืชผลที่ได้จากที่ดินแปลงนั้น ๆ เป็นการทำกำไรเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการ แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้เลี้ยงปากท้องของคนในชุมชนซึ่งบางส่วนได้ผันตัวจากเจ้าของที่ดินกลายเป็นแรงงานติดที่

ทั้งนี้ มากกว่า 60% ของพืชผลที่เติบโตบนที่ดินในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้น ครอบครองโดยเจ้าของซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติ และ 2 ใน 3 ของที่ดินเพื่อการเกษตรเหล่านี้อยู่ในประเทศที่มีปัญหาความหิวโหยอย่างรุนแรง

การแย่งยึดที่ดินส่วนใหญ่เกิดขึ้นในซีกโลกใต้

จุดที่มักเกิดการแย่งและเข้ายึดที่ดินส่วนใหญ่ในโลก กระจุกตัวอยู่ที่ภูมิภาคแอฟริกา รวมไปถึงอเมริกาใต้ อเมริกากลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้

ภาพการแย่งยึดที่ดินช่วงปี 2000 – 2011 จาก INDIGENOUS PEOPLES’ RIGHTS TO LAND The Threat of Land Grabbing (IWGIA)

ในปี 2009 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization – FAO) ประเมินว่า ในช่วงปี 2007 – 2009 มีนักลงทุนต่างชาติได้เข้าครอบครองที่ดินอย่างน้อย 20 ล้านเฮกเตอร์ (50,600,000 ไร่) ในแอฟริกา ส่วนสถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ (International Food Policy Research Institute – IFPRI) ประเมินว่าในช่วงปี 2006 – 2009 มีการหารือเพื่อจัดทำข้อตกลงอนุญาตให้เข้าไปครอบครองที่ดินที่ครอบคลุมที่ทำการเกษตร (farmland) ในประเทศกำลังพัฒนาราว 15 – 20 ล้านเฮกเตอร์

โดยตัวอย่างการเข้าครอบครองที่ดินโดยบริษัท/บรรษัทขนาดใหญ่ นักลงทุน/นักการเมือง มีอาทิ กรณีที่บริษัทสัญชาติอเมริกัน Dominion Farms เข้าครอบครองที่ดิน 30,000 เอเคอร์ในไนจีเรียเพื่อใช้ปลูกข้าวในปี 2011 นักธุรกิจ/นักการเมือง Ly Yong Phat เข้าครอบครองที่ดิน 60,000 เอเคอร์ในกัมพูชาเพื่อใช้ปลูกอ้อยในปี 2006 หรือบริษัทสัญชาติอิตาลี Benetton เข้าครอบครองที่ดิน 1 ล้านเอเคอร์ในอาร์เจนตินาเพื่อใช้ผลิตขนสัตว์ ซีเรียล และไม้ในปี 2002

ขณะที่ในภาพรวม รายงานของ ILC เมื่อปี 2012 ระบุว่า ระหว่างปี 2000 – 2011 การแย่งยึดที่ดินได้ครอบคลุมประมาณ 203 ล้านเฮกเตอร์ (513,590,000 ไร่) ทั่วโลก หรือราว ๆ มากกว่าขนาดของสหราชอาณาจักร 8 เท่า หรือคิดเป็นขนาดทั้งหมดของยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางสังคมมองว่าการแย่งยึดที่ดินได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อชุมชนและระบบนิเวศ โดยเป็นประเด็นที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน และองค์กรไม่แสวงหากำไรในหลายพื้นที่ทั่วโลกยังคงส่งเสียงอย่างต่อเนื่องให้มีการแก้ไขปัญหา

การแย่งยึดที่ดิน โจทย์สำคัญของชนพื้นเมืองทั่วโลก

แม้ว่าภูมิภาคแอฟริกาจะเป็นจุดฮอตฮิตที่สุดที่บรรดาประเทศ/บรรษัทที่ร่ำรวยเข้าไปครอบครองที่ดิน อันเป็นการเบียดขับสิทธิของชุมชนท้องถิ่นจนไม่อาจใช้ประโยชน์เพื่อผลิตอาหารและขจัดความหิวโหยได้ International Work Group for Indigenous Affairs (IWGIA) อธิบายว่า ‘ชนพื้นเมือง’ ไม่ว่าที่ไหน ๆ อาจตกอยู่ในที่นั่งลำบากกว่า ตามที่หน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติของการเข้าแย่งยึดที่ดินได้บันทึกให้เห็น ชนพื้นเมืองมักเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเฟ้นหาที่ดินนั้น และมีความเปราะบางเป็นพิเศษเพราะมักจะไม่ได้รับการยอมรับและคุ้มครองโดยรัฐบาลผู้ออกกฎหมาย รวมถึงมักถูกกีดกันออกจากสิทธิในที่ดินและทรัพยากรอยู่เสมอ กระทบต่อสิทธิมนุษยชนของชนพื้นเมืองซึ่งได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เพราะมโนทัศน์ที่มีต่อที่ดินของผู้เข้าครอบครองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมองว่า ที่ดินผืนนั้นเป็น ‘ที่ว่างเปล่า ไม่มีผู้อยู่อาศัย ไม่มีการใช้งาน’ (empty/vacant, unoccupied, unused) ทำให้การเข้าไปควบคุมที่ดินผืนนั้นอ้างได้ว่ามีความชอบธรรม ไม่ว่าจะมีชุมชนคนพื้นเมืองอาศัยอยู่หรือไม่ ขณะที่มีการเจรจาทำสัญญากับนักลงทุนหรือบริษัท โดยที่รัฐสนับสนุนด้วยใบอนุญาตและข้อกฎหมาย สิทธิใน/เหนือที่ดินของชนพื้นเมืองกลับไม่เป็นที่คำนึงถึง ส่วนรูปแบบการผลิตแบบเกษตรกรรมขนาดเล็กดั้งเดิมของชนพื้นเมืองที่คำนึงถึงความยั่งยืนของระบบนิเวศและสืบทอดวิถีชีวิตดังกล่าวจากรุ่นสู่รุ่น ก็ได้รับผลกระทบจากการแย่งยึดที่ดินเช่นกัน

ตัวอย่างของการดิ้นรนมีให้เห็น กรณีศึกษาปี 2005 ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งทวีปอเมริกา (Inter-American Court of Human Rights) พบว่ามีการละเมิดสิทธิของชนพื้นเมือง Yakye Axa ในปารากวัยอยู่หลายประการ เช่น ที่ดินถูกนำไปใช้ทางการค้า ชนพื้นเมืองไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ชีวิตตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิม มีสภาพอยู่กินอย่างแร้นแค้น ไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดและสุขาภิบาลที่ดี ทุกข์ทรมานกับโรคภัย และเข้าไม่ถึงการศึกษาในโรงเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 21 ของทั้งอนุสัญญาระหว่างอเมริกา (Inter-American Convention) และอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 169 ระบุว่าสิทธิในทรัพย์สินของชนพื้นเมือง หมายรวมถึงสิทธิอื่น ๆ ด้วย พร้อมกับเน้นว่า

‘การปกป้องคุ้มครองสิทธิของชนพื้นเมืองในอาณาเขตที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง โดยความยินดีในชีวิตไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการได้รับการคุ้มครองทางเศรษฐกิจ แต่หมายถึงการได้รับการคุ้มครองสิทธิของกลุ่ม/สิทธิส่วนรวม ที่ครอบคลุมมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมบนฐานของความสัมพันธ์ที่มีต่อที่ดิน’

ตัวอย่างประเด็นการแย่งยึดที่ดินกับชนพื้นเมือง กรณีชนพื้นเมืองในกัมพูชา (2013)

หมายความว่า รัฐจะต้องคำนึงถึงผลกระทบของการสูญเสียอาณาบริเวณดั้งเดิมที่มีต่อ ‘สิทธิในการดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการอยู่รอด’ (rights to cultural identity and survival) ของชนพื้นเมือง ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งทวีปอเมริกาจึงมีคำสั่งให้รัฐบาลปักเขตแดนสำหรับชุมชนคนพื้นเมือง ให้คงไว้ซึ่งการเข้าถึงความต้องการจำเป็นขั้นพื้นฐานและการมี ‘ที่ดิน’

อีกตัวอย่างหนึ่งของการต่อสู้ที่เห็นได้จากห้วงปัจจุบัน คือกรณีสิทธิใน/เหนือที่ดินของชนพื้นเมืองกลุ่ม Guarani Mbyá และ Nhandeva ในบราซิล ที่แม้ภาครัฐจะให้การยอมรับถึงตัวตนและสิทธิในที่ดินและอาณาเขต Tekohá Dje’y ตั้งแต่ปี 2560 ทว่าในทางปฏิบัติยังไม่มีการแบ่งเขต-ปักเขตแดน (demarcated) และชนกลุ่มนี้ยังคงต้องเผชิญกับภัยอันตรายถึงแก่ชีวิตในแต่ละวัน

หวนกลับมาสู่ประเทศไทย ในภาพรวมก็เคยประสบกับปัญหาการแย่งยึดที่ดินเช่นกัน เช่น สมัยการใช้คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 หรือ ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ ที่มีข้อถกเถียงเรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน การมีเอกสารสิทธิ รวมถึงมุมมองด้านลบต่อชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มองว่าเป็นผู้ทำลายผืนป่า โดยข้อมูลจาก iLAW ยังระบุว่า ‘หลังใช้คำสั่งที่ 64/2557 ระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557- กรกฎาคม พ.ศ. 2560 มีคดีเกิดขึ้นทั้งหมด 1,003 คดี เฉลี่ยปีละ 334.3 คดี มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดี 136 คน ที่ดินถูกยึดทั้งหมด 4,689.24 ไร่’ ไปจนถึงตัวอย่างให้หลังที่มีการจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ทางการค้า อาทิ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 17/2558 เรื่องการจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินของรัฐเพื่อให้เช่าเป็นพื้นที่พัฒนา เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพของชนพื้นเมืองล่าสุดในไทย ก็คงจะเป็นข้อคำถามที่จะทิ้งไว้ปลายเปิดว่า เหตุการณ์ที่เกิดกับชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงในพื้นที่ผืนป่าแก่งกระจานนั้น เข้าข่ายเรียกว่าเป็น ‘การแย่งยึดที่ดิน’ อีกกรณีหนึ่งของไทยหรือไม่?

ชนพื้นเมืองกับสิทธิใน/เหนือที่ดิน โดยได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ดี จะต้องไม่ลืมว่านอกจากสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงมีแล้ว สิทธิเฉพาะด้านสำหรับชนพื้นเมืองยังครอบคลุมถึงสิทธิในที่ดินและสิทธิในการให้ความยินยอมโดยสมัครใจและได้รับข้อมูลล่วงหน้า (FPIC) โดยจำเป็นจะต้องตระหนักถึงสิทธิภายใต้กฎหมาย 3 ประการหลัก ดังนี้

  • ประการแรก กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงสิทธิในที่ดิน อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ สภาพแวดล้อมที่มีสุขภาวะที่ดี สะอาด และปลอดภัย สิทธิใน FPIC และการปกครองตนเอง (self-determination)
  • ประการที่สอง อนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่169 ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งระบุความสัมพันธ์ของสิทธิมนุษยชนและสิทธิใน/เหนือที่ดิน (land rights)
  • ประการที่สาม ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (UN Declaration on the Rights of Indigenous Peoples – UNDRIP) ซึ่งเป็นตัวบทที่ระบุถึงสิทธิมนุษยชนสำคัญสำหรับชนพื้นเมืองโดยตรง โดยเฉพาะมาตรา 25 ‘ชนพื้นเมืองมีสิทธิที่จะคงไว้และดูแลความสัมพันธ์ระหว่างขนบที่ตนยึดถือดั้งเดิมกับที่ดินที่ใช้และครอบครอง อาณาเขต แหล่งน้ำ พื้นที่ชายฝั่ง และทรัพยากรอื่น โดยมีหน้าที่รับผิดชอบให้สืบไว้สู่ลูกหลาน’

ทิ้งท้าย

เราจะจัดการประเด็นปัญหาการแย่งยึดที่ดินได้อย่างไร?

International Work Group for Indigenous Affairs แนะนำแนวทางสำคัญโดยสังเขปเอาไว้ ดังนี้

  • รัฐควรจะตรวจสอบกฎหมายภายในให้สอดคล้องและตระหนักถึงสิทธิของชนพื้นเมืองตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 3 ประการข้างต้น โดยเฉพาะสิทธิใน/เหนือที่ดินและทรัพยากร และสนับสนุนให้คงไว้ซึ่ง FPIC เมื่อจะมีการหารือจัดทำข้อตกลงกับนักลงทุน/บรรษัท
  • รัฐจะต้องจัดการกับปัญหาที่ค้างคา อาทิ ความขัดแย้ง การขับไล่-บังคับให้ย้ายออก การกดขี่ อันเป็นผลโดยตรงมาจากการแย่งยึดที่ดิน
  • รัฐจะต้องอำนวยความสะดวกให้ชนพื้นเมืองเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดเขตพื้นที่/อาณาเขตของชนพื้นเมือง และให้สถานะเหนือที่ดินนั้นตามกฎหมาย
  • รัฐจะต้องพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ และเผยแพร่ข้อตกลงเรื่องที่ดินให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และรัฐต้องมีความรับผิดรับชอบ (accountability)

ภาควิชาการและภาคประชาสังคมบางส่วนยังได้เสนอแนะต่อไปถึงการให้ผู้ที่ยากไร้ คนท้องถิ่น หรือชนพื้นเมืองได้ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงในที่ดินนั้น หรือไม่ก็ให้ออกกฎหมายเพื่อยุติการเข้าไปแย่งยึดที่ดินเพื่อผลิตอาหาร เชื้อเพลิงชีวภาพ หรืออื่น ๆ ที่ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาความหิวโหย ความยากจน หรือความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ทั้งนี้ เพราะอธิปไตยเหนือที่ดิน (Land sovereignty) เป็นสิทธิใน/เหนือที่ดินของประชาชนที่จะเข้าถึง ใช้งาน และควบคุมที่ดิน ทรัพยากร เขตแดน และผลประโยชน์จากที่ดินแห่งนั้น โดยเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้ความคุ้มครองและมีความรับผิดรับชอบต่อพลเมือง


● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่ : Change agent ตัวจริง: หรือชนพื้นเมืองคือผู้ขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ อย่างแท้จริงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

สิทธิใน/เหนือที่ดินเกี่ยวข้องโดยตรงกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
-(1.4) สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องประสบปัญหาความยากจนและเปราะบาง มีสิทธิอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและควบคุมเหนือที่ดินและอสังหาในรูปแบบอื่น มรดกทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสม และบริการทางการเงิน ซึ่งรวมถึงระบบการเงินระดับฐานราก (microfinance) ภายในปี 2573
#SDG2 ยุติความหิวโหย ความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรรมที่ยั่งยืน
-(2.3) เพิ่มความสามารถในการผลิตทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็ก โดยเฉพาะผู้หญิงชนพื้นเมือง เกษตรกรแบบครอบครัว คนเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวประมง ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยรวมถึงการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรและปัจจัยนำเข้าในการผลิต ความรู้ บริการทางการเงิน ตลาด และโอกาสสำหรับการเพิ่มมูลค่าและการจ้างงานนอกพื้นที่การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ อย่างปลอดภัยและเท่าเทียมภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศและอำนาจเสริมพลังแก่ผู้หญิง
-(5.a) ปฏิรูปให้ผู้หญิงมีสิทธิที่เท่าเทียมในทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการเข้าเป็นเจ้าของที่ดิน การควบคุมที่ดินและทรัพย์สินในรูปแบบอื่น การบริการทางการเงิน การรับมรดก และทรัพยากรธรรมชาติ ตามกฎหมายของประเทศ

สิทธิในที่ดินยังนำมาซึ่งสิทธิอื่น ๆ ตาม #SDG3 การมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี #SDG4 การเข้าถึงการศึกษา #SDG6 การมีน้ำดื่มสะอาด สุขอนามัยและสุขภาวะที่ดี #SDG11 การมีที่อยู่อาศัยที่เพียงพอและปลอดภัย ไปจนถึง #SDG15 การอนุรักษ์ไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

โดยเป็นหน้าที่สำคัญของภาครัฐที่จะต้องเป็นตัวแทนที่ดีของพลเมือง มีความรับผิดรับชอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างครอบคลุม ตาม #SDG16 สังคมสงบสุข มีความยุติธรรม สถาบันมีประสิทธิผล โดยเฉพาะการทำให้หลักการสำคัญของ SDGs อย่างการพัฒนาที่ครอบคลุมนั้น เกิดขึ้นได้

แหล่งอ้างอิง:
LAND GRABBING, INVESTMENTS & INDIGENOUS PEOPLES’ RIGHTS TO LAND AND NATURAL RESOURCES: CASE STUDIES AND LEGAL ANALYSIS (IWGIA)
INDIGENOUS PEOPLES’ RIGHTS TO LAND The Threat of Land Grabbing (IWGIA)
Land Grabbing and Indigenous Rights (LEAP UNEP)
The Global Land Grab (TNI)
With Indigenous rights at stake in Brasília, a territory is attacked in Paraty (mongabay)
การแย่งยึดที่ดินโดยกฎหมาย ใต้เงา คสช. (iLAW, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม)
สี่ปี คำสั่ง คสช. “ทวงคืนผืนป่า” ล้มเหลวเรื่องการเพิ่มพื้นที่ป่า ทำชาวบ้านเดือดร้อน (iLAW, ศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน)
มารู้จักเอกสารสิทธิเกี่ยวกับ “ที่ดิน” กันดีกว่า (กรมที่ดิน)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น