Site icon SDG Move

ตัวเลขผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จะสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 สวนทางกับเงินบริจาคจากนานาชาติ

รายงานฉบับล่าสุดจากหน่วยงานด้านมนุษยธรรมขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ในปี 2022 จะมีประชาชน 274 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (humanitarian assistance) ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจาก 17% จากปีก่อนหน้า (235 ล้านคน) และสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายทศวรรษ อันเป็นผลพวงของการระบาดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสถานการณ์ความขัดแย้งที่ได้ผลักดันให้ผู้คนจำนวนมากเข้าใกล้กับความอดอยากมากขึ้น

2 ธันวาคมที่ผ่านมา สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office for the Coordination of Humanitarian Affairs-UNOCHA) เผยแพร่ รายงาน ‘Global Humanitarian Overview 2022’ ซึ่งเป็นการประเมินความต้องการด้านมนุษยธรรมที่ครบสมบูรณ์มากที่สุดในโลก ระบุว่า ในปี 2022 ทุก 1 ใน 29 คนจะต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในรูปแบบในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเพิ่มขึ้น 250% นับตั้งแต่ปี 2015 ที่มีเพียง 1 ใน 95 คนเท่านั้นที่ต้องการความช่วยเหลือ

รายงานฉบับดังกล่าวให้ข้อมูลว่า นานาชาติได้บริจาคเงินช่วยเหลือให้เพียง 17,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเป้าหมายที่ต้องการที่ 37,700 ล้านดอลลาร์ และในปีที่จะถึงนี้ องค์การสหประชาชาติและหน่วยงานพันธมิตรประเมินว่าต้องใช้เงินสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 41,000 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน 183 ล้านคนใน 63 ประเทศ แต่สถานการณ์ความขาดแคลนด้านเงินบริจาคคาดว่าจะเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับปีที่ผ่านมา

ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาวิกฤตด้านมนุษยธรรมใน 5 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน ซีเรีย เยเมน เอธิโอเปีย และซูดาน ต้องการใช้เงินทุนสูงที่สุด โดยคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 4,500 ล้านดอลลาร์ พุ่งสูงขึ้นอย่างมากด้วยสถานการณ์ของอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของรัฐบาลตอลิบาน

รายงานยังประเมินว่า ภายในปี 2050 ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้มีประชากรมากถึง 216 ล้านคนต้องโยกย้ายถิ่นฐานภายในประเทศ เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร ทำให้ผู้คนอีก 45 ล้านคนที่อาศัยอยู่ใน 43 ประเทศขณะนี้เสี่ยงต้องเผชิญกับความอดอยาก

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
- (1.5) ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างภูมิต้านทานให้กับผู้ที่ยากจนและอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง รวมทั้งลดความเสี่ยงและความล่อแหลมต่อภาวะสภาพอากาศผันผวนรุนแรง การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ
#SDG2 ยุติความหิวโหย

- (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการ และเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปีพ.ศ. 2573
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
- (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ที่มา :
Record number of people will need humanitarian aid next year, UN says (DevX)
UN launches record humanitarian appeal for 2022 as needs soar (Aljazeera)

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version