ตัวเลขผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จะสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 สวนทางกับเงินบริจาคจากนานาชาติ

รายงานฉบับล่าสุดจากหน่วยงานด้านมนุษยธรรมขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ในปี 2022 จะมีประชาชน 274 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (humanitarian assistance) ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจาก 17% จากปีก่อนหน้า (235 ล้านคน) และสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายทศวรรษ อันเป็นผลพวงของการระบาดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสถานการณ์ความขัดแย้งที่ได้ผลักดันให้ผู้คนจำนวนมากเข้าใกล้กับความอดอยากมากขึ้น

2 ธันวาคมที่ผ่านมา สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office for the Coordination of Humanitarian Affairs-UNOCHA) เผยแพร่ รายงาน ‘Global Humanitarian Overview 2022’ ซึ่งเป็นการประเมินความต้องการด้านมนุษยธรรมที่ครบสมบูรณ์มากที่สุดในโลก ระบุว่า ในปี 2022 ทุก 1 ใน 29 คนจะต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในรูปแบบในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเพิ่มขึ้น 250% นับตั้งแต่ปี 2015 ที่มีเพียง 1 ใน 95 คนเท่านั้นที่ต้องการความช่วยเหลือ

รายงานฉบับดังกล่าวให้ข้อมูลว่า นานาชาติได้บริจาคเงินช่วยเหลือให้เพียง 17,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเป้าหมายที่ต้องการที่ 37,700 ล้านดอลลาร์ และในปีที่จะถึงนี้ องค์การสหประชาชาติและหน่วยงานพันธมิตรประเมินว่าต้องใช้เงินสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 41,000 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน 183 ล้านคนใน 63 ประเทศ แต่สถานการณ์ความขาดแคลนด้านเงินบริจาคคาดว่าจะเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับปีที่ผ่านมา

ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาวิกฤตด้านมนุษยธรรมใน 5 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน ซีเรีย เยเมน เอธิโอเปีย และซูดาน ต้องการใช้เงินทุนสูงที่สุด โดยคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 4,500 ล้านดอลลาร์ พุ่งสูงขึ้นอย่างมากด้วยสถานการณ์ของอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของรัฐบาลตอลิบาน

รายงานยังประเมินว่า ภายในปี 2050 ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้มีประชากรมากถึง 216 ล้านคนต้องโยกย้ายถิ่นฐานภายในประเทศ เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร ทำให้ผู้คนอีก 45 ล้านคนที่อาศัยอยู่ใน 43 ประเทศขณะนี้เสี่ยงต้องเผชิญกับความอดอยาก

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
- (1.5) ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างภูมิต้านทานให้กับผู้ที่ยากจนและอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง รวมทั้งลดความเสี่ยงและความล่อแหลมต่อภาวะสภาพอากาศผันผวนรุนแรง การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ
#SDG2 ยุติความหิวโหย

- (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการ และเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปีพ.ศ. 2573
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
- (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ที่มา :
Record number of people will need humanitarian aid next year, UN says (DevX)
UN launches record humanitarian appeal for 2022 as needs soar (Aljazeera)

Last Updated on ธันวาคม 27, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น