Site icon SDG Move

ชุดอาหารเช้าในเมืองไอจิ: จานอาหารสะท้อนเมืองที่โอบรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม

จากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ทำการสำรวจในช่วงปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 พบว่า จังหวัดไอจิมีประชากรชาวต่างชาติจำนวนมากถึง 269,685 คน เมื่อเทียบกับกรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีประชากรชาวต่างชาติ จำนวน 541,807 คน โดยจำนวนประชากรชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในจังหวัดไอจิมากที่สุด 3 อันดับ คือ ชาวบราซิล จำนวนประมาณ 60,000 คน ตามมาด้วยชาวจีน จำนวน 46,000 คน และชาวเวียดนาม จำนวน 44,000 คน

สิ่งที่สำคัญที่สุดของมนุษย์เราสำหรับการเริ่มต้นในแต่ละวันคืออาหารเช้า ในประเทศญี่ปุ่น เราสามารถพบเมนู “ชุดอาหารเช้า” ได้ทั่วไปตามร้านกาแฟ หรือร้านอาหาร หากกล่าวถึงเมนูทั่วไปในชุดอาหารเช้า จะประกอบไปด้วยขนมปังปิ้งและไข่ แต่ในชุมชนชาวต่างชาติของจังหวัดไอจิ การรับประทานอาหารเช้าในคาเฟ่ หรือร้านอาหาร ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเปิดสัมผัสประสบการณ์ลิ้มรสอาหารนานาชาติที่มีความแปลกใหม่ แต่สถานที่เหล่านี้ยังเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างการเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อีกด้วย ทั้งนี้ Yuko Kawaguchi ประธานองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานสนับสนุนชาวต่างชาติในประเทศญี่ปุ่น ได้ให้ความเห็นเช่นกันว่า “บางประเทศมีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารเช้านอกบ้าน ซึ่งสิ่งนี้เข้ากับวัฒนธรรมอาหารเช้าที่จังหวัดไอจิได้เป็นอย่างดี”

การเติบโตของร้านขายอาหารเช้านานาชาติในจังหวัดแสดงให้เห็นการผนวกรวมวิถีชีวิตที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมกับวิถีชีวิตในชุมชนดั้งเดิมเป็นอย่างดีผ่านอาหารมื้อแรกของวัน “อาหารเช้า” จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือซึ่งช่วยเสริมพลังความสร้างสรรค์ให้ชุมชนท้องถิ่นที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเกิดความเข้มแข็งและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกต่อไป อีกทั้งการเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมตั้งแต่ในระดับชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับและเคารพความแตกต่างหลากหลายของเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะเมื่อประชากรส่วนใหญ่ในอนาคตจะอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตเมืองและพลวัตของการเคลื่อนย้ายของประชากรจากซีกโลกอื่นเกิดขึ้นรวดเร็วมากขึ้น การพัฒนาและออกแบบเมืองจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงและเข้าใจบริบทความซับซ้อนของคนทุกคนอย่างมีส่วนร่วม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

ราสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านอาหาร ไม่ว่าเป็นวัตถุดิบ เครื่องปรุง วิถีการกิน หรือความเป็นอยู่ได้อย่างไร

จากบทความ Multinational breakfast specials reflect Aichi’s growing international community เผยแพร่ใน The Japan Times โดย Maiko Sukano ได้พาเราไปเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านอาหารในชุมชนแห่งนี้จากเรื่องราวของ Kazuyuki Suzuki เจ้าของร้านเบเกอรี่ Yunus เจ้าของร้านกาแฟ และ Thao Suzuki เจ้าของร้านเวียดนาม

Kazuyuki Suzuki เจ้าของร้านเบเกอรี่ คาเฟ่สไตล์เยอรมันเลือกใช้วัตถุดิบทำอาหารจานเด่นเยอรมันจากท้องถิ่นผสมผสานเข้ากับเทคนิคกรรมวิธีปรุงอาหารเฉพาะของชาตินั้น ๆ

Yunus ชาวตุรกีที่มาอาศัยและเปิดคาเฟ่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น เล่าถึงวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวตุรกีที่มีความคล้ายคลึงกับชาวญี่ปุ่น คือ ให้ความสำคัญกับมื้ออาหารพร้อมครอบครัวและเพื่อนฝูง และอาหารเช้ามื้อใหญ่ อีกทั้งอาหารตุรกียังมีการผสมผสานระหว่างความเป็นเมดิเตอร์เรเนียนและอารบิกอีกด้วย

และ Thao Suzuki ชาวเวียดนามที่ย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น เธอได้ตัดสินใจเปิดร้านอาหารเวียดนามและกลายเป็นร้านที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะเมนู บั๊ญหมี่ (bánh mì) หรือแซนด์วิชเวียดนามที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารฝรั่งเศส และร้านของ Thao ยังได้เปิดห้องเรียนสำหรับการสอนทำอาหารเวียดนาม สองครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

ถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะยังดำเนินต่อไป ส่งผลให้การเดินทางระหว่างประเทศกลายเป็นเรื่องที่ยาก แต่เราก็สามารถเรียนรู้วัฒนธรรมต่างชาติได้จากชุมชนท้องถิ่น Thao เจ้าของร้านเวียดนามได้กล่าวว่า “อยากให้ทุก ๆ คนรู้สึกเหมือนได้อยู่ที่ประเทศเวียดนาม แม้ว่าจะมีอุปสรรคการเดินทางเนื่องจากโควิด-19”

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ 
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
Multinational breakfast specials reflect Aichi’s growing international community (The Japan Times)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | ผู้ชอบสำรวจการ "ข้าม" วัฒนธรรมของตนเองและสังคม แต่ไม่มองข้ามความอยุติธรรมที่ฉุดรั้งการพัฒนา

Exit mobile version