Site icon SDG Move

สำรวจ ‘10 สถานการณ์เด่นด้านสุขภาพ’ จากรายงานสุขภาพคนไทยปี 2567 พบหลายภัยเงียบใกล้ตัว

ในทุก ๆ ปี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดทำ  “รายงานสุขภาพคนไทย ปี 2567 ” ซึ่งเป็นการรวบรวมประเด็นสำคัญทางสุขภาพและสังคมของปี โดยนำเสนอ 11  ตัวชี้วัดสุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลต่อสุขภาพคนไทยในมิติต่าง ๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสุขภาพของประชาชน และ 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ รวมถึง 4 ผลงานดี ๆ เพื่อสุขภาพคนไทย และบทความพิเศษเรื่อง “ความเครียด ภัยเงียบของสังคมไทย” ซึ่งเป็นการรวบรวมประเด็นสำคัญทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อเป็นประโยชน์และแนวทางในการแก้ปัญหาสุขภาพได้อย่างยั่งยืนต่อไป

จากรายงานสามารถสรุป 10 สถานการณ์เด่นด้านสุขภาพในปี 2567 ได้ดังนี้

  1. การกราดยิงกับแนวทางการควบคุมอาวุธปืน – จากสถิติพบว่าปี 2560 คนไทยครอบครองปืน 10 ล้านกระบอก เฉลี่ย 15.1 กระบอก ต่อ 100 คน ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และอันดับที่ 13 ของโลก รวมถึงมีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนในปี 2559 ถึง 3,830 คน คิดเป็นค่าเฉลี่ย 4.45 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 11 ของโลก
  2. ปัญหาแพทย์ลาออก – กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าตั้งแต่ช่วง ปี 2556 – 2565 พบไทยมีแพทย์ลาออกเฉลี่ยปีละ 455 คน และเกษียณอายุปีละ 150 – 200 คน ทำให้แต่ละปีต้องสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์เฉลี่ยปีละ 655 คน โดยนักวิชาการบางท่านเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ‘The Great Resignation’ หรือ ภาวะการลาออกครั้งใหญ่ของบุคลากรสาธารณสุข
  3. สองทศวรรษของบัตรทองและการขยายสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม – การดำเนินงานของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ขยายสิทธิประโยชน์ครอบคลุมการรักษาทุกโรค เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพแก่ประชาชน พร้อมขยายการให้บริการที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว ไม่แออัด และเท่าเทียมกัน
  4. การพนันออนไลน์กับเยาวชนและคนหนุ่มสาว – จากการสำรวจในปี 2566 ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน พบว่าคนหนุ่มสาว อายุ 15 – 25 ปี ใน 19 จังหวัดทั่วประเทศ มีผู้เล่นการพนันมากถึงร้อยละ 42.1 โดยเป็นการพนันออนไลน์ร้อยละ 11.9 การพนันทั้งออฟไลน์และออนไลน์ร้อยละ 20.4 โดย 1 ใน 4 เป็นนักพนันออนไลน์หน้าใหม่
  5. อุบัติเหตุซ้ำจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ – อุตสาหกรรมก่อสร้าง ถือเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของอุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงาน โดยพบว่าในปี 2562 มีอุบัติเหตุจากการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 11,599 กรณีคิดเป็น 12% จากอุบัติเหตุทั้งหมด 94,906 กรณี และมีสัดส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการก่อสร้างสูงถึง 29% หรือมีจำนวน 186 กรณี จากจำนวนอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 639 กรณี
  6. มาเฟียข้ามชาติกับการแก้ไขปัญหา –  ปัญหามาเฟียข้ามชาติที่ได้แทรกซึมเข้ามาทำธุรกิจผิดกฎหมายในไทยอย่างล้นหลาม ไม่ว่าจะเป็นสถานบันเทิงผิดกฎหมาย ขบวนการค้ายาเสติด การฟอกเงิน ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทย เป็นภัยความมั่นคง และภัยเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้เข้ามาสร้างเครือข่ายกับฝ่ายการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ จนเกิดเป็นการทุจริตในประเทศ
  7. แรงงานไทยในตะวันออกกลาง : ทางสองแพร่งระหว่าง “ความมั่งคั่ง” กับ “ความมั่นคงในชีวิต” – แม้รัฐบาลไทยจะออกแบบระบบการจัดส่งและติดตามคุณภาพชีวิต ในการทำงานของแรงงานไทยในตะวันออกกลางมาอย่างต่อเนื่อง แต่เหตุจากสงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ นั้นพบว่ายังมีช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดปัญหาและความท้าทายทั้งในด้านความเป็นธรรม – สงคราม – สุขภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยเข้ามาสั่นคลอนความมั่นคงในชีวิตของแรงงานไทย
  8. มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตคนไทย ถึงเวลาทวงสิทธิอากาศสะอาด – กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ปี 2563 พบจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคที่อาจมีความสัมพันธ์กับมลพิษทางอากาศ ทั่วประเทศจำนวน 6,880,709 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรคทางเดินหายใจ ตามด้วยโรคผิวหนังอักเสบ ตาอักเสบ และกลุ่มโรคหัวใจ หลอดเลือดและสมองอุดตัน ขณะที่ องค์การอนามัยโลก รายงานว่าปี 2561 ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากมลพิษอากาศมากกว่าสามหมื่นราย
  9. ภารกิจในการถ่ายโอน รพ.สต. ไปสู่ อบจ.  –  มีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานในท้องถิ่นเป็นศูนย์สุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะดำเนินงานทั้งด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน การรักษาพยาบาลเบื้องต้น และอาจพัฒนาการให้บริการรักษาพยาบาลในระดับที่สูงขึ้นได้ ซึ่งการถ่ายโอนดังกล่าวนั้น เป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม
  10. ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 –  มีทิศทางที่มุ่งเน้นให้เกิดระบบสุขภาพที่เป็นธรรม โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่เสียเปรียบหรือถูกละทิ้งในสังคม การคุ้มครองกลุ่มคนที่อยู่ในสภาวะเปราะบาง รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนและทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้เป็นระบบสุขภาพที่มีความเป็นธรรมทั้งด้านสุขภาพทางกาย จิต ปัญญา และสังคม กับทุกช่วงวัย

สามารถติดตาม 11 ตัวชี้วัดสุขภาพ  4 ผลงานดี ๆ เพื่อสุขภาพคนไทย และบทความพิเศษได้ในรายงานสุขภาพคนไทย ประจำปี 2567 โดยรายงานได้ประมวลผลและสังเคราะห์สถานการณ์ด้านสุขภาพของคนไทย และผลกระทบที่เกิดขึ้นในสังคมมาในทุกมิติ

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ย้อนอ่าน ’10 สถานการณ์เด่นด้านสุขภาพ’ ของไทยในเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา
ส่อง ‘10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ’ ในรายงานสุขภาพคนไทย ประจำปี 2566
– SDG Updates | รายงานสุขภาพคนไทย 2565 – เปิดข้อมูลสุขภาพ และครอบครัวไทย ใต้วิกฤติโควิด 19
– SDG Updates | สำรวจผลกระทบของโควิด-19 ต่อสุขภาพจิตของคนไทยใน 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อดูแลสุขภาพจิตใจกันให้มากขึ้นในปี 2564 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.6)  พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ

แหล่งที่มา: รายงานสุขภาพคนไทยปี 2567 –  thaihealthreport

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version