ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้อุตสาหกรรมรูปแบบดั้งเดิมหลายแห่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่การก่อให้เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อม แต่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่กำลังเติบโต อาทิ เทคโนโลยีบล็อกเชน ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีควอนตัม และหุ่นยนต์ ก็กำลังสร้างแนวทางใหม่ให้เกิดการแก้ไขปัญหาแบบที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน
เทคโนโลยีเกิดใหม่อย่างบล็อกเชน ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีควอนตัม หรือการประมวลผลเชิงควอนตัม หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีความจริงขยาย (extended reality) เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงคำยอดฮิตติดกระแสเท่านั้น แม้จะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเป้าหมายด้านความยั่งยืนหรือการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะ หากแต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านี้กลับถูกนำมาใช้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างผลลัพธ์ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ตัวอย่างการนำ 4 เทคโนโลยีเกิดใหม่มาใช้ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- บล็อกเชน (blockchain) ถูกนำมาใช้สร้างตลาดคาร์บอนที่โปร่งใสและปลอดภัย โดยเปิดให้สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากตลาดคาร์บอนรูปแบบเดิมต้องเผชิญกับปัญหาความไร้ประสิทธิภาพ ความไม่โปร่งใส และการทุจริต แต่ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ทุกธุรกรรมของคาร์บอนเครดิตจะถูกบันทึกอย่างปลอดภัยและตรวจสอบได้ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย อีกทั้งยังช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างน่าเชื่อถือและมีความโปร่งใสในกระบวนการซื้อขายคาร์บอน
- ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) แบบจำลองสภาพภูมิอากาศขั้นสูง ที่ในปัจจุบันนำ AI มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม รูปแบบสภาพอากาศ และข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศในอดีต เพื่อคาดการณ์แนวโน้มระยะยาวของอุณหภูมิโลก การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงต่าง ๆ โดย AI จะช่วยระบุผลกระทบเฉพาะพื้นที่ เช่น ภัยแล้งหรืออุทกภัย ทำให้สามารถวางแผนรับมือได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้ นักวิจัยยังใช้ AI จำลองสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงกระบวนการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage : CCS) ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และค้นหาวิธีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้ผลมากที่สุด
- การประมวลผลเชิงควอนตัม (quantum computing) หรือเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์รูปแบบใหม่ที่อาศัยปรากฏการณ์เชิงควอนตัมในการช่วยประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยในด้านพลังงานเทคโนโลยีควอนตัม มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยนำมาจำลองพฤติกรรมของโมเลกุลและวัสดุต่าง ๆ เพื่อช่วยให้นักวิจัยออกแบบแบตเตอรี่หรือพัฒนาวัสดุสำหรับแผงโซลาร์เซลล์ที่ดียิ่งกว่าเดิม ซึ่งความสามารถในการจำลองและทดสอบวัสดุจำนวนมหาศาลในรูปแบบต่าง ๆ จะช่วยเร่งกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดขั้นสูงให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
- หุ่นยนต์ (robot) มีบทบาทสำคัญในการทำให้ภาคเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแหล่งสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้ เช่นการทำเกษตรแนวตั้ง (Vertical Farming) ซึ่งต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ ทำให้ช่วยลดการใช้น้ำและพลังงาน รวมถึงสามารถผลิตอาหารได้ในพื้นที่จำกัด ด้วยระบบอัตโนมัติในการเพาะปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยว พร้อมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งและการใช้พื้นที่เพาะปลูกแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ โดรนและหุ่นยนต์ ยังสามารถตรวจสอบพืชผลเพื่อค้นหาการระบาดของโรคได้อย่างแม่นยำ รวมถึงช่วยเพิ่มผลผลิตและลดการใช้สารเคมีอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกและวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น พลังแห่งนวัตกรรม กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากสามารถนำมาใช้ได้อย่างถูกวิธีและเกิดประโยชน์สูงสุด ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ พร้อมเสริมความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน แม้หนทางแห่งอนาคตอาจเผชิญปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น หากแต่นวัตกรรมและศักยภาพของมนุษย์ยังคงเป็นความหวังว่าจะเปลี่ยนภัยคุกคามให้กลายเป็นโอกาสในการสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนได้ต่อไป
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ‘AutoVacc’ หุ่นยนต์ดึงวัคซีนโควิด-19 จากทีมนักวิจัย จุฬาฯ เพิ่มโอกาสกระจายวัคซีนและลดความเหนื่อยล้าให้เจ้าหน้าที่
– AI อาจช่วยลดการเลือกปฏิบัติในการรับเข้าทำงาน แต่ต้องมาจากความคิดและการควบคุมอัลกอริทึมของมนุษย์
– Carbon Footprint มหาศาลจากการขุด Bitcoin ทั่วโลก นำมาสู่การยกเลิกการชำระเงินซื้อ Tesla ด้วย Bitcoin
– ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลร่วมกันของ Blockchain จะเป็นเครื่องมือสร้าง Smart City ได้อย่างไร ?
– SDG Updates | Blockchain ช่วยส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานและแก้ปัญหาด้านข้อมูลของภาคเกษตรไทยได้อย่างไร
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.c) เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและมุ่งจัดให้มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยถ้วนหน้าและในราคาที่สามารถจ่ายได้ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ภายในปี พ.ศ. 2563
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.a) สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการเสริมความแข็งแกร่งของขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนไปสู่แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเตือนภัยล่วงหน้า
แหล่งที่มา: 4 Emerging Technologies to Fight Climate Change (Earth.Org)