Carbon Footprint มหาศาลจากการขุด Bitcoin ทั่วโลก นำมาสู่การยกเลิกการชำระเงินซื้อ Tesla ด้วย Bitcoin

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2021 อีลอน มัสก์ (Elon Musk) CEO บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Tesla Inc. ประกาศผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ว่า Tesla ได้ระงับการรับชำระเงินด้วยบิตคอยน์ (Bitcoin) ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เนื่องจากมีความกังวลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในการขุดเหรียญบิตคอยน์และการทำธุรกรรมต่างๆ โดยเฉพาะพลังงานจากถ่านหินที่ปล่อยมลพิษที่เป็นอันตรายที่สุด ซึ่งนับเป็นเวลาหนึ่งเดือนเท่านั้นหลังจากที่ Tesla เพิ่งประกาศว่าสามารถใช้เหรียญบิตคอยน์ซื้อรถยนต์ของเทสลาในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

สกุลเงิน Bitcoin คือ สกุลเงินในรูปแบบของดิจิทัล ที่ต้องใช้พลังงานจำนวนมากในผลิต เนื่องจากต้องใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงในการถอดสมการคณิตศาสตร์ หรือ ที่เรียกว่า ‘การขุดบิตคอยน์’ หรือ ‘Bitcoin mining’

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศแสดงให้เห็นว่า ‘การขุดบิตคอยน์’ ใช้พลังงานมหาศาล โดยอัตราการใช้พลังงานทั่วโลกเพื่อขุดบิตคอยน์ในปัจจุบันมีปริมาณเท่ากับการใช้พลังงานของประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี 2019 ทั้งปี และยังไม่รวมถึงระบบการเงินที่ดำเนินการด้วยพนักงานและคอมพิวเตอร์จำนวนหลายล้านเครื่อง ก็ใช้พลังงานในปริมาณสูงเช่นกัน

เมื่อบิตคอยน์เริ่มกลายเป็นสกุลเงินกระแสหลักเนื่องจากหลายบริษัทและสถาบันทางการเงินรายใหญ่ของสหรัฐฯ ยอมรับให้เป็นสกุลเงินที่ชำระเงินและทำธุรกรรมต่างๆ ได้ จึงทำให้เกิดความต้องการมากขึ้นและตามมาด้วยราคาที่สูงขึ้น นักขุดจำนวนมากจึงแข่งขันกันอย่างหนักหน่วงในการแก้สมการคณิตศาสตร์เพื่อขุดเหรียญให้ได้เร็วที่สุดด้วยคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งต้องการใช้พลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ

การศึกษาในปี 2019 ที่ตีพิมพ์ลงวารสารวิทยาศาสตร์ Joule คาดว่าการขุดบิตคอยน์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 22 – 22.9 ล้านเมตริกตันต่อปี หรือเท่ากับระดับที่ทั้งจอร์แดนและศรีลังกาปล่อย อุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซีจึงมีความพยายามมากขึ้นในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการขุดบิตคอยน์ และการเข้าสู่ตลาดคริปโตของบริษัทระดับใหญ่ก็อาจสามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดการผลิต ‘บิตคอยน์สีเขียว’ หรือ “Green Bitcoin’ ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนได้ อีกทั้งการกำหนดนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลทั่วโลกก็อาจช่วยลดผลกระทบนี้ได้เช่นกัน

หลายโปรเจกต์ทั้งในแคนาดาไปจนถึงไซบีเรียกำลังค้นหาวิธีการขุดบิตคอยน์โดยไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และใช้พลังงานทางเลือก เช่น พลังงานน้ำ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และทำให้สกุลเงินนี้เป็นที่ยอมรับของนักลงทุนมากขึ้น

แต่การเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกก็ทำให้ต้นทุนในการขุดบิตคอยน์สูงขึ้น โดยเฉพาะนักขุดในประเทศจีนที่ผลิตบิตคอยน์ถึง 70% ของจำนวนทั้งหมดในโลก โดยใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งมาจากถ่านหินเป็นหลักในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี เพราะมีราคาถูก และใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานน้ำ ในช่วงฤดูที่มีฝนตกของปีเท่านั้น ดังนั้นหากสามารถสร้างแรงจูงใจให้เฉพาะนักขุดในจีนเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนก็จะช่วยแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขุดบิตคอยน์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอุตสาหกรรม เกี่ยวข้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 7 การเข้าถึงพลังงานสะอาด ในประเด็น การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน (Renewable Energy) (7.2) และการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (7.3)
- SDG 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม ในประเด็น ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน (9.4)
- SDG 13 รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเด็น และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (13.2)

ที่มา: Thomson Reuters Foundation News, Siam Blockchain

Last Updated on พฤษภาคม 14, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น