‘AutoVacc’ หุ่นยนต์ดึงวัคซีนโควิด-19 จากทีมนักวิจัย จุฬาฯ เพิ่มโอกาสกระจายวัคซีนและลดความเหนื่อยล้าให้เจ้าหน้าที่

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว นักวิจัยไทยพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยดึงวัคซีนโควิด-19 จากขวดแก้วที่มีประสิทธิภาพ ที่ช่วยลดปริมาณการสูญเสียวัคซีน ช่วยเพิ่มโอกาสการกระจายวัคซีนจากปริมาณวัคซีนที่มีอยู่ และลดความเหนื่อยล้าให้แก่บุคคลากรทางการแพทย์

ทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาหุ่นยนต์แขนกล “AutoVacc” หรือ Automate Vaccine ที่มีระบบอัตโนมัติในการดึงวัคซีน AstraZeneca ออกจากขวดแก้วได้มากถึง 12 โดส ภายในเวลา 4 นาที มากกว่าการดึงวัคซีนด้วยมือ 20% หรือจาก 10 โดสเป็น 12 โดส โดยเริ่มใช้งานในศูนย์ฉีดวัคซีนตึกจามจุรี 9 แล้วตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา

“การเพิ่มขึ้น [ของจำนวนโดส] 20% ที่ได้ หมายความว่า หากเรามีวัคซีน AstraZeneca สำหรับ 1 ล้านคน เครื่องนี้จะสามารถเพิ่มจำนวนโดสให้ได้พอถึง 1.2 ล้านคน” ผศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ นักวิจัยหลัก ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์กล่าว

ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบางส่วนใช้เข็มฉีดยาแบบพิเศษ low dead space syinge ที่ช่วยดูดวัคซีนได้แม่นยำมากขึ้นและลดการสูญเสียวัคซีนในพื้นที่ปลายหลอด ซึ่งสามารถแบ่งบรรจุวัคซีนได้มากถึง 12 โดสต่อขวด แต่เทคนิคนี้จำเป็นต้องใช้ทักษะระดับสูง การใช้หุ่นยนต์จะช่วยแบ่งเบาภาระงานและลดแรงกดดันที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์ในการแบ่งบรรจุวัคซีน

เครื่องต้นแบบนี้มีราคา 2.5 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ประกอบด้วย เช่น กระบอกฉีดยา ทีมนักวิจัยคาดว่า จะสามารถผลิตหุ่นยนต์ AutoVacc ได้อีกถึง 20 เครื่องภายในเวลา 3-4 เดือน แต่จำเป็นต้องได้รับเงินทุนและการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อกระจายระบบนี้ไปให้ได้ทั่วประเทศ และยังมีแผนที่จะพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับใช้กับขวดวัคซีน Pfizer-BioNTech และ Moderna ด้วย

อ่านรายละเอียดการทำงานของ AutoVacc เพิ่มเติมที่ “เครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนอัตโนมัติ”  นวัตกรรมจากวิศวฯ จุฬาฯ เพิ่มจำนวนผู้รับวัคซีนได้ 20% ลดภาระงานบุคลากรการแพทย์

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
- (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า

ที่มา : Thailand develops robotic system to squeeze out more vaccine doses (Rueters)

Last Updated on สิงหาคม 26, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น