Site icon SDG Move

ธนาคารโลก วิเคราะห์ GDP ไทยชะลอตัวเหลือ 1.8% ท่ามกลางความไม่แน่นอนการค้าโลก – เสนอเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวช่วย

ธนาคารโลก (World Bank: WB) ได้เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ชื่อว่า Thailand Economic Monitor: Digital Pathways to Growth” หรือ “รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย : ขับเคลื่อนการเติบโตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” ซึ่งนำเสนอประมวลภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก รวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างที่สร้างความล่าช้าในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ของไทยลดลงเหลือ 1.8% จาก 3.2% ในปีก่อนหน้า และคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องในปี 2569 เหลือ 1.7% สะท้อนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลกในช่วงที่ผ่านมา การส่งออกที่ยังอ่อนแอ การบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัว และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่ยังไม่เต็มศักยภาพ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงถึง 24% จากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะจากความกังวลด้านความปลอดภัย

หากความเชื่อมั่นด้านการลงทุนปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจไทยในปี 2568 อาจขยายตัวได้ถึง 2.2% และ 1.8% ในปี 2569 ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตได้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะการเจรจาเรื่องนโยบายภาษีกับสหรัฐฯ หากผลออกมาเป็นบวก การลงทุนจะเริ่มกลับมา ดร.เกียรติพงษ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทยกล่าว อย่างไรก็ตาม ด้วยความไม่แน่นอนด้านนโยบายภาษี ที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ในระดับสากล อาจเป็นอุปสรรคต่อการดึงดูดการลงทุนในอนาคต

ในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล รายงานระบุว่าไทยมีเศรษฐกิจดิจิทัลมูลค่าราว 6% ของ GDP และถือเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียน ขณะเดียวกันกลุ่มที่มีอัตราการจ้างงานเติบโตเร็วที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอย่างอุตสาหกรรมบริการการเงิน การชำระเงินดิจิทัล ฟินเทค ซอฟต์แวร์ และวิศวกรรม ด้วยศักยภาพดังกล่าวคาดว่าเทคโนโลยีดิจิทัลอาจเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างงาน ยกระดับคุณภาพการให้บริการ และเพิ่มผลิตภาพของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยังเผชิญความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการส่งออกที่เร่งตัวก่อนมาตรการภาษีจากประเทศคู่ค้าโลกจะมีผลบังคับใช้  

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีจุดแข็งจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของภาครัฐ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี นับตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19  ดังนั้น รายงานจึงเสนอว่าควรการดำเนินการที่สำคัญเพื่อเร่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกภาคตั้งแต่ ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) รวมถึง ภาคอีคอมเมิร์ซ สุขภาพ และการเงิน เป็นกุญแจสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นของ นโยบายที่สอดประสานกัน เพื่อขยายเครือข่ายบรอดแบนด์ คุ้มครองข้อมูล และสนับสนุนนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.2) บรรลุการมีผลิตภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นผ่านความหลากหลาย การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการมุ่งเน้นในภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้แรงงานเป็นหลัก (Labour intensive)
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม อุตสาหกรรม
– (9.c) เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร และพยายามที่จะจัดให้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยถ้วนหน้าและในราคาที่สามารถจ่ายได้ ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ภายในปี 2563
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.1) เสริมความแข็งแกร่งของการระดมทรัพยากรภายในประเทศ โดยรวมถึงการสนับสนุนระหว่างประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนา เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถภายในประเทศในการเก็บภาษีและรายได้อื่น ๆ ของรัฐ
– (17.5) ยอมรับและดำเนินการตามระบอบการส่งเสริมการลงทุนให้กับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด

แหล่งที่มา:
อนาคตดิจิทัลของประเทศไทย กุญแจสำคัญในการกระตุ้นการเติบโต (worldbank)
รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย : ขับเคลื่อนการเติบโตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล – บทสรุปผู้บริหาร  (worldbank)
ปัจจัยลบรุมเร้าศก.ไทย เวิลด์แบงก์หั่นเหลือ1.8% KKP ชี้เสี่ยงถดถอยทางเทคนิค (thansettakij)

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version