ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นอย่างไร? เมื่อครึ่งหนึ่งของโลกยังเข้าถึงอินเตอร์เน็ตไม่ได้ และไม่มีกรอบ “global data governance”

โควิด-19 ย้ำให้เห็นว่า ‘ข้อมูลดิจิทัล’ (digital data) มีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นทรัพยากรเชิงกลยุทธ์และเชิงเศรษฐกิจในเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) ในมิติสาธารณสุข ‘ข้อมูล’ ช่วยให้ทุกประเทศจัดการกับการระบาดของโรคได้และการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพระหว่างประเทศยังเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและพัฒนาวัคซีน

ในสถานการณ์เดียวกันนี้โลกเผชิญกับการแบ่งแยกทางดิจิทัล (digital divide) การแบ่งแยกที่เกี่ยวกับข้อมูล (data-related divide) ความคับคั่งบนอินเตอร์เน็ตที่จะพุ่งสูงในปี 2565 แต่ครึ่งหนึ่งของโลกยังไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างถ้วนหน้า ส่วนบรรษัทแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่ อาทิ Google และ Facebook ควบคุมทุกระดับของห่วงโซ่ข้อมูลทั้งโลก มีรายได้จากการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เป็นเจ้าของถือครองสตาร์ทอัพด้านปัญญาประดิษฐ์จำนวนมาก ขณะที่นโยบาย/มาตรการควบคุมกำกับและบริหารข้อมูลดิจิทัลในระดับโลกมีเพียง 3 ประเทศ/กลุ่มประเทศชั้นนำอย่าง สหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่ยังมีมุมมองและแนวทางที่แตกต่างกัน

จากบริบทที่ว่านี้ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) กับรายงาน Digital Economy Report 2021 ล่าสุด จึงเสนอว่าถึงเวลาแล้วที่โลกควรมีแนวทางใหม่ในการเร่งควบคุมกำกับและบริหารจัดการดิจิทัล (digital governance) ผ่านกรอบการควบคุมกำกับและบริหารจัดการข้อมูลระดับโลก (global data governance framework) ที่จะเอื้อให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลข้ามพรมแดนได้โดยได้รับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว คำนึงถึงกฎหมายและความมั่นคงของรัฐ และช่วยสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาในเศรษฐกิจดิจิทัลให้ได้มากที่สุด


ข้อมูลดิจิทัลเกี่ยวพันกับทั้งข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ปัจจุบันสหรัฐฯ และจีนเป็นศูนย์กลางราว 50% ของศูนย์ข้อมูลดิจิทัลระดับโลก โดยครอบครอง 5G นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ แหล่งทุนถึง 94% ของสตาร์ทอัพปัญญาประดิษฐ์ทั้งหมด และสามารถสร้างมูลค่าจากแพลตฟอร์มดิจิทัลใหญ่ที่สุดของโลกในช่วงโรคระบาดได้อย่างมหาศาล ขณะเดียวกันบรรษัทแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่าง Apple, Microsoft, Amazon, Alphabet (Google), Facebook, Tencent และ Alibaba ได้ขยายระบบนิเวศ – ลงทุนในห่วงโซ่ข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลในทุกระดับและทุกส่วน  อาทิ บรอดแบนด์ดาวเทียม โครงสร้างพื้นฐานการเก็บข้อมูล Cloud

ถึงกระนั้น ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศเป็นผู้ให้บริการ ‘ข้อมูลดิบ’ กับบรรษัทแพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่ในภายหลังได้กลายมาเป็นผู้บริโภคที่จ่ายค่าบริการ ‘ข้อมูลที่ผ่านการประมวลผล’ มาแล้วจากบรรษัทเหล่านี้ ส่วนประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ความท้าทายยังไม่พ้นไปจากการมีและการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต โดยปัจจุบันมีเพียง 20% ของประชากรที่มีอินเตอร์เน็ตใช้ แต่ความเร็วในการดาวน์โหลดยังช้าและมีราคาสูง และในแง่ของการซื้อขายสินค้าออนไลน์ซึ่งเป็นหมุดทางเศรษฐกิจวิถีใหม่เช่นนี้ กลับพบว่าประชากรในประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดใช้ประโยชน์/ใช้บริการซื้อสินค้าออนไลน์ได้น้อยกว่า 1 ใน 10 ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว พบว่า 8 ใน 10 ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสามารถใช้ประโยชน์/ใช้บริการซื้อสินค้าออนไลน์ได้

โจทย์สำคัญคือ โลกจะหาวิธีควบคุม กำกับ และบริการจัดการข้อมูลดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเหล่านี้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ มีแนวทางเน้นที่ ‘ภาคเอกชน’ เป็นผู้ควบคุมข้อมูล จีนมีแนวทางเน้นที่ ‘ภาครัฐ’ เป็นผู้ควบคุมข้อมูล ส่วนสหภาพยุโรปประสงค์ให้ ‘ปัจเจกบุคคล’ เป็นผู้ควบคุมข้อมูล โดยคำนึงถึงคุณค่าที่ยึดถืออย่างสิทธิมนุษยชน

UNCTAD ระบุต่อไปว่า ในสภาวะเช่นนี้ การที่ไม่มีกรอบการควบคุมกำกับและบริหารจัดการข้อมูลระดับโลก (global data governance framework) จะกลายเป็นอุปสรรคต่อยุคสมัยใหม่เสียเอง เพราะจะขวางกั้นไม่ให้นานาประเทศสามารถพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่เพื่อที่จะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลให้มากที่สุด ทั้งยังเป็นอุปสรรคไม่ให้สามารถให้การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของบุคคลจากการใช้ข้อมูลโดยภาครัฐและภาคเอกชน และความสามารถในการจัดการกับประเด็นที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคงของชาติ

โดย UNCTAD มองว่าการพัฒนาให้มีกรอบการควบคุมกำกับและบริหารจัดการข้อมูลระดับโลก (global data governance framework) จะเป็นโซลูชันที่ครอบคลุมทั้งการนำมาใช้ในการเอื้ออำนวยการเคลื่อนย้ายข้อมูลข้ามพรมแดนให้เป็นการกระจายข้อมูลอย่างเท่าเทียมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนในการควบคุมกำกับและบริหารจัดการบรรษัทแพลตฟอร์มดิจิทัลด้วย เพื่อในท้ายที่สุดแล้วข้อมูลดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ที่คำนึงถึงสิทธิ-ความเป็นส่วนตัว กฎหมาย ความมั่นคงของรัฐ ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำลง และเก็บเกี่ยวประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลให้ได้มากที่สุด

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
โครงสร้างพื้นฐานและสายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุม จะช่วยให้คนเข้าถึงบริการสาธารณสุขทางไกลได้อย่างเสมอภาค
“Talentism” เตรียมทักษะให้พร้อมหลังโควิด-19 เริ่มได้ด้วย “การศึกษา” และ “อินเตอร์เน็ต” ที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน
ฝึกฝนครู – เชื่อมต่อ digital divide – คิดหลักสูตรใหม่ จินตนาการถึงการศึกษารูปแบบใหม่ในช่วงวิกฤติโรคระบาด

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
#SDG9 ในภาพรวมของการพัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ราคาซื้อหาได้ เข้าถึงได้ทุกคน
-(9.5) เพิ่มพูนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา และให้ภายในปี 2573 มีการส่งเสริมนวัตกรรมและให้เพิ่มจำนวนผู้ทำงานวิจัยและพัฒนาต่อประชากร 1 ล้านคนและการใช้จ่ายในภาคสาธารณะและเอกชนในการวิจัยและพัฒนาให้เพิ่มมากขึ้น
-(9.c) การเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร และพยายามที่จะจัดให้มีการเข้าถึงอินเทอร์เนตโดยถ้วนหน้าและในราคาที่สามารถจ่ายได้สำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุดภายในปี 2563
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศ
#SDG16 สังคมสงบสุข ครอบคลุม ยุติธรรม สถาบันมีประสิทธิผล
-(16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ

แหล่งที่มา:
New approach needed to make digital data flow beneficial for all (UN)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น