รายงานของธนาคารโลก ชี้ไทยจำเป็นต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ เตรียมรับมือการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น

SDG Recommends ฉบับนี้ ขอเชิญชวนอ่าน รายงานการประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย – การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน (The Thailand Public Revenue and Spending Assessment: Promoting an Inclusive and Sustainable Future) เนื่องจากหลังมีการใช้นโยบายการคลังขนานใหญ่ในการรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ขณะนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังต้องควบคุมระดับหนี้สาธารณะไม่ให้สูงเกินไปด้วย

รายงานฉบับนี้ จัดทำโดยธนาคารโลก (World bank) ได้ระบุถึงแนวทางปฏิรูปที่จำเป็นเพื่อรับมือกับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งปัจจัยท้าทายระยะปานกลางในการลดระดับการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลต้องเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้าง เพื่อตอบสนองความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่จำเป็นต้องมีการเพิ่มค่าใช้จ่ายในด้านบำนาญ สวัสดิการผู้สูงอายุ และสวัสดิการการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อจำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงต้องรักษาความยั่งยืนทางการคลังด้วย

รายงานการประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐฉบับนี้ จะเป็นตัวกำหนดทางเลือกของรายได้และรายจ่ายที่มีความยั่งยืน ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจมีความเสมอภาคและพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น โดยจะต้องมีการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ ปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มการให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายภาครัฐในด้านความช่วยเหลือทางสังคม การศึกษา และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รวมถึงนโยบายช่วยเหลือทางการเงินต่าง ๆ ยังเป็นการให้ความช่วยเหลือที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล 

นอกจากนี้ ยังพบว่าการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาต่อจำนวนนักเรียนในระดับอนุบาลและระดับมัธยมศึกษายังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล ซึ่งการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐในด้านเหล่านี้ สามารถส่งเสริมความเท่าเทียมและการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพทางการคลัง จะช่วยสร้างความมั่นใจว่านโยบายด้านรายได้และรายจ่ายสนับสนุนกลุ่มที่เปราะบางที่สุด รวมถึงสามารถตอบสนองต่อความท้าทายที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความถี่และความรุนแรงมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี ในระยะยาว การรับมือกับภาระทางการคลังที่จะเกิดจากการใช้จ่ายที่จำเป็น พร้อมกับบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่มีความยั่งยืนนั้น จะต้องอาศัยการจัดเก็บรายได้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น รายงานฉบับนี้นำเสนอการปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า ซึ่งเมื่อนำแต่ละวิธีมารวมกันจะสามารถเพิ่มรายได้ได้ราวร้อยละ 3.5 ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ ประกอบด้วยการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และยกเลิกการยกเว้นต่าง ๆ การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและลดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีและการหักค่าใช้จ่าย และการขยายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยหากมีการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของทศวรรษนี้ การปฏิรูปเหล่านี้จะส่งเสริมความให้เกิดความเท่าเทียมและเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บรายได้ภาครัฐเพื่อรองรับการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น

คิม อลัน เอ็ดเวิร์ด นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและหัวหน้าโครงการของธนาคารโลก กล่าวว่า “การเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐเป็นเรื่องที่จำเป็น นอกจากนี้ ประเทศไทยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐผ่านมาตรการให้ความช่วยเหลือทางสังคม การศึกษา และสาธารณสุข เช่น การใช้มาตรการช่วยเหลือทางสังคมที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนจะช่วยลดภาระทางการคลังแต่ยังสามารถลดระดับความยากจนได้”

ภายใต้กรอบดังกล่าว เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้จ่าย รายงานฉบับนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะหลายประการ เช่น ด้านการศึกษา การจัดสรรทรัพยากรในระดับประถมศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะส่งเสริมผลลัพธ์การเรียนรู้ให้ดีขึ้นได้ ขณะที่ ด้านสาธารณสุข การคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีประสิทธิภาพและการให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันรักษาสุขภาพจะช่วยลดภาระและความจำเป็นของการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงในอนาคตได้ ทั้งนี้ การพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
World Bank เผยปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ยังน่าห่วงเผชิญภาวะหยุดชะงัก – พร้อมชี้เศรษฐกิจหมุนเวียนคือหนึ่งในทางออก 
15 องค์กรการกุศลชั้นนำเรียกร้องให้ World Bank Group และ IMF ลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดให้มากขึ้น
UN Women และ World Bank เปิดหลักสูตรออนไลน์ ‘ความเท่าเทียมทางเพศในภาคขนส่ง’ ให้เรียนฟรี
SDG Updates | เสริมภูมิคุ้มกันให้ประเทศไทย ผ่านกลไกการประกันและการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.2) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัย ที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา ภายในปี 2573
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.1)  ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีการขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 7 ต่อปี
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
(10.4) นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.1) เสริมความแข็งแกร่งของการระดมทรัพยากรภายในประเทศ โดยรวมถึงการสนับสนุนระหว่างประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนา เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของประเทศในการเก็บภาษีและรายได้อื่นๆ ของรัฐ

แหล่งที่มา:
ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐเพื่อรองรับการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น – World bank 
The Thailand Public Revenue and Spending Assessment: Promoting an Inclusive and Sustainable Future – World bank

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น