รายงานเศรษฐกิจไทยปี 2566 การท่องเที่ยวกลับมาเติบโตอีกครั้ง – แต่ยังต้องรับมือกับความเสี่ยงจากอุทกภัยและภัยแล้ง

ปลายเดือนมิถุนายน ธนาคารโลก (World Bank: WB) เผยแพร่ รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย การรับมือกับภัยแล้งและอุทกภัยเพื่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน หรือ Thailand Economic Monitor – Building a resilient future : coping with droughts and floods คาดการณ์ว่าปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตสูงขึ้น ร้อยละ 3.9 เพิ่มขึ้นมาร้อยละ 2.6 จากปีที่แล้ว เนื่องจากอุปสงค์จากจีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีความแข็งแกร่งเกินกว่าที่คาดไว้ รวมถึงการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโต แม้แนวโน้มเศรษฐกิจจะดีขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีความเสี่ยงจากการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังคงอ่อนแอ รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เป็นความท้าทายสำคัญ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเผชิญกับอุปสรรคเชิงโครงสร้าง เช่น ภาวะประชากรสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกที่ลดลง และหนี้ครัวเรือนที่สูงอีกด้วย 

จากรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ 2 ส่วน ดังนี้

  • แนวโน้มเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยง
    • แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะแข็งแกร่งขึ้นในปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ก่อนที่จะชะลอตัวลงตามแรงต้านของเศรษฐกิจโลก ด้านการบริโภคภาคเอกชน แม้แนวโน้มจะชะลอลงบ้างหลังจากที่ฟื้นตัวขึ้นจากการเปิดเมืองเมื่อปีก่อน แต่จะยังขยายตัวได้แข็งแกร่งตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับแรงสนับสนุนจากตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้นและอุปสงค์ด้านการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นที่มาจากประเทศจีน
    • รายงานคาดการณ์ว่าการเติบโตในปี 2567 จะอยู่ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 3.6 และร้อยละ 3.4 ในปี 2568 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะสูงถึง 28.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 84 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 และคาดว่ากลับมาเท่าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงก่อนการเกิดการระบาดของโควิด-19 ภายในครึ่งปีหลังของปี 2567
    • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในระดับปานกลางถึงร้อยละ 2.0 ในปี 2566 และท่ามกลางราคาพลังงานโลกที่เริ่มผ่อนคลาย การตรึงราคา และการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ และแม้จะมีการควบคุมราคาพลังงานและการขนส่งสาธารณะ เพื่อช่วยลดแรงกดดันด้านค่าครองชีพ แต่การควบคุมราคาดังกล่าวมักจะเป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพในการกระจายรายได้ ส่งผลกระทบแบบถดถอยในการกระจายรายได้ ทำให้เป็นการลดประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร และบิดเบือนกระบวนการของเงินเฟ้อ 

อย่างไรก็ดี แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ความผันผวนของปัญหาจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่สร้างความเสียหายและค่าใช้จ่ายในการดำเนินเศรษฐกิจที่สูง ทำให้จำเป็นต้องมีการทบทวนเพื่อวางแนวทางในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม

  • การรับมือกับปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งของประเทศไทย
    • ประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านอุทกภัยอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลกรองจากเวียดนาม เมียนมา และกัมพูชาสะท้อนจากดัชนีการบริหารความเสี่ยง (INFORM Index) หากไม่มีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเหมาะสม จะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) ในปี 2563 ได้ประเมินความสูญเสียจากอุทกภัยเฉลี่ยต่อปีคิดเป็นมูลค่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
    • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มความถี่และความรุนแรงของปัญหาอุทกภัยในทศวรรษต่อไป ซึ่งประเทศไทยจะมีการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำฝนต่อปี โดยประเมินว่าหากไม่มีมาตรการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเกิดผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยในรอบ 50 ปี เช่นเดียวกับกรณีของปี 2554 หรืออาจรุนแรงขึ้นเป็นสองเท่า
    • ความคืบหน้าในการรับมือกับปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ความท้าทายบางประการยังคงอยู่  เนื่องจากพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ (2561) ยังมีผลบังคับใช้ไม่สมบูรณ์ และภูมิทัศน์เชิงสถาบันยังคงมีความแยกส่วน

ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกรอบการทำงานที่แข็งแกร่งกว่าเดิมในการจัดลำดับความสำคัญของการวางแผนลดความเสี่ยง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำ และการจัดการการใช้ที่ดินและน้ำ”

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
–  World Bank เผยปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ยังน่าห่วงเผชิญภาวะหยุดชะงัก – พร้อมชี้เศรษฐกิจหมุนเวียนคือหนึ่งในทางออก 
รายงานของธนาคารโลก ชี้ไทยจำเป็นต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ เตรียมรับมือการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น
15 องค์กรการกุศลชั้นนำเรียกร้องให้ World Bank Group และ IMF ลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดให้มากขึ้น 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
– (1.5) ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างภูมิต้านทานให้กับผู้ที่ยากจนและอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง รวมทั้งลดความเสี่ยงและความล่อแหลมต่อภาวะสภาพอากาศผันผวนรุนแรง การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.1)  ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีการขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 7 ต่อปี
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.5) ลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดจนลดความสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจเทียบเคียงกับGDP ของโลก ที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.1) เสริมความแข็งแกร่งของการระดมทรัพยากรภายในประเทศ โดยรวมถึงการสนับสนุนระหว่างประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนา เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของประเทศในการเก็บภาษีและรายได้อื่นๆ ของรัฐ

แหล่งที่มา:
Thailand Economic Monitor June 2023: Coping with Floods and Droughts – World Bank
เศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวตามอุปสงค์ของประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยว –  World Bank

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น