Site icon SDG Move

เมล็ดกาแฟปลูกในห้องแล็บอาจพร้อมเสิร์ฟภายใน 4 ปีหน้า นักวิทย์ฟินแลนด์หวังลดพื้นที่ทำไร่และก๊าซเรือนกระจก

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากฟินแลนด์ประสบความสำเร็จในเพาะเมล็ดกาแฟในห้องแล็บ และอาจได้รับการอนุมัติให้วางขายได้ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาภายในสี่ปีข้างหน้า โดยการพัฒนาทางเทคโนโลยีทางชีวภาพนี้จะช่วยลดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อมาทำการเกษตรและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการกระบวนการผลิตกาแฟ

เมล็ดกาแฟที่ปลูกในห้องแล็บของ VTT Technical Research Center มาจากกระบวนการเพาะเลี้ยงเซลล์ (cell cultures) ที่ได้จากใบของต้นกาแฟในลักษณะแขวนลอยในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพที่เต็มไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่าง ๆ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวในการผลิตผลิตภัณฑ์จากสัตว์และพืชอื่น ๆ จากห้องปฏิบัติการ

การเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกาแฟและกาแฟคั่วบด ที่ผลิตในห้องแล็บโดย VTT Technical Research Center
ที่มา : VTT

ฟินแลนด์ เป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคกาแฟมากต่อหัวประชากรมากที่สุดในโลก นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการพัฒนาการเกษตรแบบเซลล์ (cellular agriculture) เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะมีกาแฟดื่มไม่ว่าในสถานการณ์ใด โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทีมนักวิจัย VTT ได้ทดลองชิมกาแฟแก้วแรกที่ได้จากเมล็ดกาแฟที่เติบโตในห้องแล็บของพวกเขา พบว่า มีกลิ่นและรสชาติใกล้เคียงกับกาแฟได้จากไร่กาแฟแบบทั่วไป

ในแต่ละปี มีการผลิตกาแฟมากถึงเกือบหนึ่งหมื่นล้านกิโลกรัมและความต้องการนี้จะเพิ่มสามเท่าในปี 2050 ดังนั้น เพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาด ผู้ผลิตจะต้องเพิ่มพื้นที่ดินใหม่เพื่อการเพาะปลูกมากขึ้น ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยมากขึ้น รวมถึงการใช้น้ำจำนวนมาก เมล็ดกาแฟที่มาจากการเพาะเลี้ยงเซลล์จึงถือเป็นทางเลือกใหม่ที่ความยั่งยืนมากกว่า นอกจากจะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมดังที่กล่าวมาแล้ว ยังจะช่วยลดความจำเป็นในการขนส่งเมล็ดกาแฟในระยะทางข้ามประเทศจากพื้นที่เพาะปลูกในภูมิภาคเขตร้อนไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จำนวนมหาศาล

งานวิจัยจาก University College London คำนวนปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปลดปล่อยออกมาจากกระบวนต่าง ๆ ที่นำมาสู่กาแฟเอสเปรซโซหนึ่งแก้ว ได้ค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 0.28 กิโลคาร์บอน ซึ่งกาแฟที่ผลิตด้วยกรรมวิธีที่ไม่ยั่งยืนนั้นมีคาร์บอนฟุตพรินต์เท่ากับการผลิตชีสในปริมาณเท่ากัน และเป็นครึ่งหนึ่งของกระบวนการเลี้ยงวัวเพื่อเอาเนื้อในปริมาณเท่ากัน

ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกาแฟประเภทต่าง ๆ
ที่มา : The Conversation

แม้จะมีความกังวลในเชิงพาณิชย์ว่าผู้บริโภคกาแฟจะเลือกบริโภคกาแฟแบบเซลล์นี้หรือไม่ แต่นักวิจัยได้ให้ความเห็นว่า ในอนาคต พื้นที่เพาะปลูกกาแฟทั่วโลกหลายแห่งจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรุนแรง มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 พื้นที่ครึ่งหนึ่งอาจไม่สามารถให้ผลผลิตได้อีกต่อไป เมล็ดกาแฟที่มาจากห้องแล็บนี้ก็จะกลายเป็นตัวเลือกทดแทนที่เหมาะสม

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ยุติความหิวโหย
- (2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดาเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาคุณภาพของดินและที่ดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี 2573
#SDG 15 นิเวศบนบก
- (15.2) ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายในปี 2563

ที่มา :
Sustainable coffee grown in Finland – the land that drinks the most coffee per capita produces its first tasty cup with cellular agriculture (VTT)
Finnish Researchers Grow Coffee in a Lab (VOANews)
Coffee: here’s the carbon cost of your daily cup – and how to make it climate-friendly (The Conversation)

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version