Dispatch Coffee ธุรกิจกาแฟคั่วในแคนาดาที่ส่งเสริมผู้ผลิตในประเทศยากจนและใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้

Dispatch Coffee ธุรกิจกาแฟคราฟท์คั่วในแคนาดา ที่นำแนวคิดความยั่งยืนใส่ลงไปในการจัดหาเมล็ดกาแฟจากแหล่งผลิตของเกษตรกรรายย่อยใน 50 ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมักเผชิญกับการค้าที่ไม่เป็นธรรม มาผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีพัฒนาเครื่องคั่วกาแฟที่ดึงรสชาติและกลิ่นเฉพาะของแต่ละพันธุ์สะท้อนเรื่องราวของแหล่งผลิตที่หลากหลาย สร้างการตระหนักรู้กับผู้บริโภคให้หันมาชงกาแฟดื่มเองที่บ้านกันมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลกับปัญหาขยะเพราะเป็นบรรจุภัณฑ์กาแฟที่สามารถย่อยสลายได้ เป็นการริเริ่มและปรับตัวต่อยุคที่การดื่มกาแฟเป็นเทรนด์ แต่แก้วกาแฟกว่า 2 พันล้านชิ้นต่อวันถูกทิ้งกองทับเป็นภูเขาขยะ ส่วนผู้ผลิตเมล็ดกาแฟยังคงอยู่กับความยากจนในบรรดาประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก


Chrissy Durcak ผู้ก่อตั้งธุรกิจ Dispatch Coffee ดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิดดังกล่าว ตระหนักถึงเป้าหมาย SDGs และมองว่าความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และปัจเจกบุคคลเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเป็นเรื่องของสุขภาพและสุขภาวะของโลก โดยที่อุตสาหกรรมกาแฟสามารถช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงได้ จากการผสมผสานการออกแบบ เทคโนโลยี และธุรกิจให้เป็นพลังการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และการค้าที่เป็นธรรม (fair trade)

เนื่องจากปัญหาเรื่องกาแฟซึ่งเป็นเทรนด์ฮิตในปัจจุบัน มีทั้งขยะแก้วกาแฟกว่า 2 พันล้านตันต่อวัน ระบบการผลิตเมล็ดกาแฟที่เป็นส่วนหนึ่งที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุดติด 10 อันดับแรก ส่วนผู้ผลิตเมล็ดกาแฟซึ่งส่วนใหญ่เป็นไร่กาแฟชนบทราว 12.5 ล้านแห่ง (95% เป็นไร่ที่มีขนาดน้อยกว่า 31.25 ไร่ และ 84% เป็นไร่ที่มีขนาดน้อยกว่า 12.5 ไร่) ใน 50 ประเทศกำลังพัฒนา ล้วนเผชิญกับความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โดยได้สัดส่วนรายได้คิดเป็นน้อยกว่า 10% ของรายได้จากอุตสาหกรรมกาแฟทั่วโลกที่มีมูลค่า 200 – 250 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ผู้ผลิตเหล่านี้ยังติดกับความยากจน และต้องได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อเป็นรายได้จุนเจืออยู่

Dispatch coffee เริ่มต้นจากรถกระบะหนึ่งคันในเมืองมอนทรีออล แคนาดา ก่อนที่จะขยายทีมและธุรกิจร้านค้าปลีก/คาเฟ่กว่า 680 เมืองในทวีปอเมริกาเหนือ รวมทั้งขายปลีกทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์/ระบบลงทะเบียน subscription และใช้โมเดลราคาที่ช่วยเพิ่มทุนให้ถึงมือผู้ผลิต

โดยบ่มเพาะความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับผู้ผลิตตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้มั่นใจในการทำงานร่วมกันและจะได้ผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้ผลิตและผู้ค้า โดยซื้อเมล็ดกาแฟจากไร่ขนาดเล็กราว 20 ไร่ คัดสรรจาก 13 ประเทศที่รายได้ของประชากรส่วนมากพึ่งพิงกับการส่งออกกาแฟเพื่อการพาณิชย์ และผู้ผลิตรายย่อยเหล่านี้ อาทิ ในโคลัมเบีย เปรู แทนซาเนีย เมียนมา มารวมตัวกันผ่านเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการนักในระดับภูมิภาค หรือโครงสร้างแบบที่ร่วมมือกันเพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดได้

นอกจากนี้ มากกว่า 45% ของเมล็ดกาแฟยังได้มาจากธุรกิจที่ขับเคลื่อนโดยผู้หญิงในฐานะผู้ผลิต ในฐานะเจ้าของที่มีอำนาจตัดสินใจ และในฐานะผู้ส่งออกด้วย

จากนั้น Dispatch coffee จะนำเมล็ดกาแฟมาคั่วผ่านเครื่องคั่วที่ทางทีมได้พัฒนามาเพื่อให้สามารถดึงรสชาติและกลิ่นเฉพาะตัวของเมล็ดกาแฟจากแต่ละแหล่งได้ เป็นขั้นตอนที่สร้างจุดขายและแสดงให้เห็นลักษณะความพิเศษและซับซ้อนของเมล็ดกาแฟ ก่อนจะนำมาคั่วอีกครั้งเพื่อให้เป็นกาแฟคั่วกลาง บรรจุใส่หีบห่อ พร้อมขายสำหรับการชง

ด้านบรรจุภัณฑ์ Dispatch coffee ใช้ถุงที่สามารถย่อยสลายได้ (biodegradable) ซึ่งได้รับการพัฒนาโดย TekPak Solutions บริษัทแคนาดาที่มีจุดเด่นด้านการผลิตวัสดุแบบ Omnidegradable ซึ่งไปไกลกว่า biodegradable เพราะสามารถย่อยสลายเป็นปุ๋ยหรือสารอาหารได้เพียงมีจุลินทรีย์ช่วย

นอกจากสนับสนุนให้ผู้บริโภคหันมาชงกาแฟดื่มเองที่บ้านกันมากขึ้น Dispatch coffee ยังมีวิธีคิดในการติดตามผลลัพธ์ที่ธุรกิจมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่คำนึงถึงการสนับสนุนเกษตรกรรมที่ยั่งยืน การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การลดขยะ และหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของผู้ผลิตในประเทศที่ยากจนได้

● อ่านบทความเกี่ยวกับ sustainable business ที่:
Kubé ธุรกิจเพื่อสังคมที่ผลิตไอศกรีมทำจากหัวกะทิ ส่งเสริม Food Justice ให้กับผู้ผลิตท้องถิ่น ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
Liv Up ฟู๊ดเทคสตาร์ทอัพเชื่อมเกษตรกรท้องถิ่น-ผู้บริโภคในเมืองบราซิล ส่งอาหารสดใหม่ตรงถึงหน้าบ้าน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
-(1.4) กลุ่มที่ประสบปัญหาความยากจนและเปราะบาง มีสิทธิอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากร การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและควบคุมเหนือที่ดินและอสังหาในรูปแบบอื่น ฯลฯ
#SDG2 ในด้านเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
-(2.3) เพิ่มความสามารถในการผลิตทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาการรายเล็ก โดยเฉพาะผู้หญิง คนพื้นเมือง เกษตรกรแบบครอบครัว คนเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวประมง ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยรวมถึงการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากร ตลาด ฯลฯ
-(2.4) ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตร ที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มความสามารถในการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศและเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิง
-(5.5) ผู้หญิงมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และมีโอกาสเท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในทางการเมือง เศรษฐกิจ และภาคสาธารณะ
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
-(8.1) ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีการขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 7 ต่อปี
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
-(12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดในวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้น และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้น เพื่อลดผลกระทบทางลบที่จะมีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

แหล่งที่มา:
Dispatch Coffee: The power of adopting sustainable business practices (food in Canada)

Last Updated on กันยายน 8, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น