Site icon SDG Move

แนวโน้มการสร้างพื้นที่เล่นกีฬาใหม่เมื่อโลกร้อนขึ้น – โอลิมปิกฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022 ใช้ ‘หิมะเทียม’ เกือบ 100%

ผลจากอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว (Winter Olympics) 2022 ที่จีนเป็นเจ้าภาพ หรือ ‘Beijing 2022’ ที่เพิ่งจัดพิธีเปิดไปเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เลือกพึ่งพาการใช้หิมะเทียมเกือบ 100% เพราะสถานที่แข่งขันมีหิมะธรรมชาติไม่เพียงพอ ทั้งเป็นผลมาจากความแห้งแล้งอย่างรุนแรงในฤดูหนาวนี้และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมนักสำหรับกีฬาฤดูหนาว ทำให้เป็นครั้งแรกที่การจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวใช้หิมะเทียมสูงที่สุดเท่าที่เคยจัดมา

เพื่อผลิตหิมะปกคลุมพื้นที่แข่งขันกีฬากลางแจ้งที่ไม่ได้มีหิมะมากพอเพื่อเล่นกีฬาทั้งในหยานชิง (Yanqing) และจางเจียโข่ว (Zhangjiakou) ที่กินพื้นที่ถึงประมาณ 800,000 ตารางเมตร ต้องใช้เครื่องผลิตหิมะมากกว่า 100 เครื่อง และปืนทำหิมะมากกว่า 300 กระบอก รวมถึงใช้ทรัพยากรน้ำปริมาณมหาศาล คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ประเมินว่าต้องใช้น้ำสูงถึง 49 ล้านแกลลอนตลอดการแข่งขันนี้ หรือคิดเป็นปริมาณน้ำดื่มที่คนเกือบ 100 ล้านคนดื่มในหนึ่งวัน แม้ว่าทางการจีนจะยืนยันว่าใช้เฉพาะปริมาณน้ำฝนตามธรรมชาติและน้ำรีไซเคิลในการผลิตหิมะเท่านั้น แต่ก็มีความกังวลว่าอัตราการใช้น้ำที่สูงจะสร้างแรงกดดันซ้ำเติมต่อทรัพยากรน้ำที่ขาดแคลนอยู่แล้วของภูมิภาคนี้ รวมทั้งการที่อุณหภูมิในพื้นที่แข่งขัน ณ เวลานี้สูงกว่าจุดเยือกแข็งทำให้เครื่องผลิตต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นในการผลิตหิมะด้วย

นอกจากนี้ การใช้หิมะเทียมยังสร้างความกังวลเรื่องความปลอดภัยให้กับนักกีฬา เนื่องจากหิมะเทียมมีสัดส่วนของน้ำมากกว่า มีความเปียกมากกว่าจึงมีแนวโน้มว่าหิมะเทียมนั้นจะแข็งและหนาแน่นกว่าหิมะธรรมชาติ ทำให้เกิดอันตรายมากขึ้นสำหรับนักกีฬาที่อาจล้มและกระแทกระหว่างการแข่งขัน

อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ และสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนรุนแรงมากขึ้นทำให้หิมะธรรมชาติในหลาย ๆ พื้นที่ลดลง สถานที่สำหรับเล่นกีฬาฤดูหนาวจึงต้องพึ่งพาหิมะเทียมมากขึ้นในอนาคต การศึกษา ‘Climate change and the future of the Olympic Winter Games: athlete and coach perspectives’ ระบุว่า จะมีเพียง 10 เมืองจากทั้งหมด 21 เมืองที่เคยได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในเวลา 50 ปีที่ผ่านมาเท่านั้นที่จะยังคงมีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมสำหรับเล่นกีฬาฤดูหนาวเมื่อปี 2050 มาถึงและจะเหลือเพียงแค่เมืองเดียวเท่านั้นในปี 2100

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG6 นำ้สะอาดและการสุขาภิบาล
- (6.4) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และลดจำนวนประชากรที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่มา :
All the Beijing snow is human-made — a resource-intensive, ‘dangerous’ trend as planet warms (CNN)
Climate change and fake snow could make the Winter Olympics ‘dangerous,’ study finds (CNN)

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version