SDG Updates | เพราะ ‘กีฬา’ มีพลังเปลี่ยนโลกและอนาคต – มุ่งสู่ความยั่งยืนไปกับ Tokyo 2020 Games

พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 32 หรือ Tokyo 2020 Games ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เริ่มต้นอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อ 23 กรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมา และแม้การแข่งขันในครั้งนี้จัดขึ้นช้ากว่ากำหนดเดิมไปถึง 1 ปี แต่มหกรรมกีฬาครั้งสำคัญของมนุษยชาติก็ยังได้รับความสนใจจากผู้ชมจากทั่วทุกมุมโลกอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

นอกจาก Tokyo 2020 จะเป็นตัวแทนของความสามัคคี ความร่วมมือ สปิริตอันแรงกล้าผ่านการแข่งขันกีฬาแล้ว ยังเป็นการจุดประกายความหวังในสถานการณ์ยากลำบากที่เกิดขึ้นทั่วโลก คณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิกยังได้แสดงถึงความมุ่งมั่นว่าการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นความพยายามครั้งสำคัญของการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ได้แสดงให้โลกเห็นอีกด้วย


ประเด็น ‘ความยั่งยืน’ ใน กีฬาโอลิมปิก

การเดินทางของความยั่งยืนในการแข่งขันกีฬาครั้งประวัติศาสตร์เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ( International Olympic Committee: IOC) ได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดโลก (UN Earth Summit) ที่ ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 1992 หลังจากนั้นประเด็นเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงได้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในกีฬาโอลิมปิก และเป็นหัวข้อที่ต้องคำนึงถึงในการจัดกิจกรรมของ IOC เรื่อยมา

ในปี 2012 กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งกีฬา London 2012 Games เป็นครั้งแรกที่ประเด็นความยั่งยืนได้กลายเป็นหัวใจของการวางแผนและการจัดกิจกรรมทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกที่มีการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ตลอดระยะเวลาของการจัดงาน

ด้วยแนวทางการดำเนินงานที่คำนึงถึงความยั่งยืน ผู้จัดงานสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้ถึง 400,000 ตัน ขณะที่ของเสียจากการจัดงาน 100% ถูกเปลี่ยนเส้นทางจากหลุมฝังกลบ โดย 62% ของขยะเหล่านั้นถูกนำกลับมาใช้ใหม่ รีไซเคิล นอกจากนี้ 99% ของขยะที่มาจากการติดตั้งและรื้อถอนสถานที่จัดการแข่งขันก็ถูกนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลเช่นกัน

หลังจากนั้นในปี 2014 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้รับรอง ‘Olympic Agenda 2020‘ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘IOC Sustainability Strategy’ หรือ ยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนของ IOC โดยประเด็น ‘ความยั่งยืน’ เป็นหนึ่งในสามเสาหลักของ Olympic Agenda 2020 ควบคู่ไปกับประเด็น ‘ความน่าเชื่อถือ’ และ ‘เยาวชน’ และมีการกำหนดให้ รวมประเด็นความยั่งยืนในเข้าไปในการดำเนินงานทุกด้านของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

สองปีถัดมาในปี 2016IOC Sustainability Strategy‘ ได้รับการรับรองคณะกรรมการโอลิมปิกสากล โดยในกลยุทธ์การดำเนินงานจะต้องโฟกัสประเด็นความยั่งยืนใน 5 พื้นที่หลัก ดังนี้ 1) โครงสร้างพื้นฐานและพื้นที่ธรรมชาติ 2) การจัดหาและการจัดการทรัพยากร 3) การเคลื่อนย้ายและการเดินทาง 4) แรงงาน และ 5) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากศ

ศึกษาเพิ่มเติม IOC Sustainability Strategy

ในปีเดียวกัน การจัดการแข่งขันโอลิมปิก Rio 2016 Games ก็ได้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยเฉพาะในมิติด้านสิ่งแวดล้อมทั้งจากความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจก จากการใช้พลังงานหมุนเวียน การขนส่งและโลจิสติกส์คาร์บอนต่ำ สถานที่จัดงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตเหรียญรางวัลอย่างมีประสิทธิภาพ และด้วยการใช้โปรแกรมชดเชยคาร์บอนอย่างครอบคลุม ทำให้การจัดการแข่งขัน Rio 2016 ลดคาร์บอนไปได้มากกว่าสองล้านตัน


5 ธีมความยั่งยืน ของ Tokyo 2020 Games

เพียงสี่ปีหลังจากการประกาศว่า กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิก ครั้งที่ 32 ประจำปี 2020 คณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิกได้เผยแพร่ Sustainability Plan ฉบับแรกในปี 2017 เพื่อแสดงความมุ่งมั่นผสานพลังของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกกับการดำเนินการตามหลักการของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

คอนเซปต์ความยั่งยืนของ Tokyo 2020 Games ทั้งการจัดโอลิมปิกและพาราลิมปิก คือ “Be Better, together – For the Planet and the People” โดยกำหนดธีมความยั่งยืนหลักของ Sustainability Plan บนฐานของประเด็นความยั่งยืนที่เป็นที่หารือ ในระดับโลกและ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย ได้แก่ 

1. Climate Change มุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2. Resource Management การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนเพื่อการปล่อยของเสีย/ขยะเป็นศูนย์
3. Natural Environment and Biodiversity เมือง ธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพที่ผสานอยู่ร่วมกัน
4. Human Rights, Labour and Fair Business Practices เคารพความหลากหลายของผู้คน ด้วยการให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน แรงงาน และการทำงานที่เป็นธรรม
5. Involvement, Cooperation and Communications สร้างการมีส่วนร่วม ความเป็นหุ้นส่วนจากทุกภาคส่วน และความเท่าเทียมกัน

อ่าน SDG Recommends | ส่อง 5 ธีม SDGs ใน Tokyo Olympic 2020
ความเชื่อมโยงระหว่าง 5 ธีมความยั่งยืนหลักของ Tokyo Games 2020 และ Sustainable Develoment Goals (SDGs) – ที่มา : Sustainability Pre-Games Report – Sustainability Highlights (IOC)


01 | Climate Change – Towards Zero Carbon

เป้าหมายการมุ่งสู่การจัดโอลิมปิกมีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในครั้งนี้ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยความก้าวหน้าในครั้งนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญของความพยายามดำเนินการตามความตกลงปารีส เพื่อลดความรุนแรงของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวในครั้งนี้จะสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์มากถึง 3,010,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (t-CO2) หากใช้วิธีการแบบเดิม แต่ด้วยความพยายามลดและหลีกเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนด้วยวิธีต่างๆ ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 280,000 ตัน หรือเทียบเท่ากับประมาณก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานต่อปีของมากกว่าสามหมื่นครัวเรือน โดยวิธีการที่ผู้จัดงานเลือกใช้ได้แก่

  • กระแสไฟฟ้าที่ใช้ในสถานที่แข่งขันและสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดการแข่งขัน Tokyo 2020 Games มาจากแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยไฟฟ้ามาจากพลังงานชีวมวลจากไม้ที่เหลือจากการก่อสร้างหรือการตัดไม้ และจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่บางส่วนมาจากการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิเมื่อปี 2011
  • นอกเหนือจากใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) ที่ใช้ไฮโดรเจนเหลวเป็นเชื้อเพลิง จำนวน 500 คันที่ในช่วงเวลาการแข่งขันกีฬา ไฟที่ถูกจุดในกระถางคบเพลิงและตลอดการวิ่งคบเพลิงทั่วญี่ปุ่นก็ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน รวมถึงแหล่งพลังงานบางส่วนที่ใช้ในหมู่บ้านนักกีฬาก็มาจากพลังงานไฮโดรเจนเช่นกัน
ไฟสีเหลืองในกระถางคบเพลิงจากพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจน
ที่มา : APNews
  • ยังมีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ที่ไม่มีการปลดปล่อยมลพิษและคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์โดยตรง
  • การจัดการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ ใช้สถานที่ที่มีอยู่เดิมแล้วมากถึง 60% ให้เป็นประโยชน์สูงสุดเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้าง สำหรับการก่อสร้างสถานที่จัดการแข่งขันใหม่ (เพียง 8 แห่ง จากสถานที่จัดงานทั้งหมด 43 แห่ง) ผู้จัดได้ใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างที่จะทำให้แน่ใจว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
  • ส่วนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น จากการขนส่งและก่อสร้าง จะถูกชดเชยด้วยการเพิ่มความสามารถในการดูดซับหรือลดจากส่วนอื่น

02 | Resource Management – Zero Wasting

การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรอย่างไร้ประสิทธิภาพและผลิตของเสียให้เป็นภาระกลับอีกต่อ โดยแนวทางสำคัญในการจัดการทรัพยากรใน Tokyo 2020 จึงต้องจัดการทั้งขาเข้าและขาออกของทรัพยากร

อุปกรณ์และสิ่งของที่ใช้ในการจัดงาน (เช่น คอมพิวเตอร์) จะต้องจัดหามาด้วยวิธีการเช่าให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และสิ่งของที่ซื้อใหม่จะต้องถูกนำไปใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลให้ได้มากถึง 99% ของจำนวนทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ไม้ที่บริจาคโดยเทศบาลมากกว่า 60 แห่งสำหรับ Operation BATON (หมู่บ้านนักกีฬาที่สร้างด้วย ‘Timber Of the Nation’) สำหรับ Olympic Village Plaza จะถูกรื้อถอนหลังการแข่งขันกีฬาและคืนสู่เทศบาลเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ในสถานที่ต่าง ๆ ในท้องถิ่นต่อไป

‘Timber Of the Nation’ ไม้สำหรับ Olympic Village Plaza ที่สลักชื่อว่ามาจากพื้นที่ใดของประเทศญี่ปุ่น
ที่มา : Olympics.com

หรือหากผลิตใหม่จะต้องใช้วัสดุที่มาจากการรีไซเคิล โดยไอเท็มที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลที่ได้รับความสนใจตั้งแต่ก่อนการแข่งขันเริ่มต้นขึ้น ได้แก่ สัญลักษณ์ของการแข่งขันโอลิมปิก ประกอบด้วย

  • คบเพลิงโอลิมปิก – ทำจากอะลูมิเนียมรีไซเคิลจากวัสดุเหลือจากการก่อสร้างที่อยู่สำเร็จรูปเพื่อผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 ที่โทโฮคุ
  • ชุดเครื่องแบบสำหรับผู้วิ่งคบเพลิง – ทำจากวัสดุที่ได้จากการรีไซเคิลขวดพลาสติก
  • เหรียญรางวัล – ทำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น มือถือเก่า ที่ประชาชนนำส่งให้มากถึงหกล้านเครื่อง [อ่านต่อ Tokyo 2020 Medal Project]
  • โพเดียมรับรางวัล – ทำจากวัสดุที่มาจากการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ประชาชนนำส่งให้มากถึงเกือบ 12 ตัน และขยะพลาสติกในทะเล

นอกจากนั้นยังลดการสร้างขยะด้วยแนวคิด 3Rs (Reduce Reuse and Recycle: 3R) ลดใช้ นำกลับมาใช้ซ้ำ และรีไซเคิล โดยมีการแบนการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อบรรจุอาหาร และมีเป้าหมายการใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลของเสียระหว่างการดำเนินงานให้ได้ถึง 65%


03 | Natural Environment and Biodiversity – City within Nature, Nature within City

Tokyo 2020 Games ถูกจัดขึ้นภายใต้การสนับสนุนแนวคิดการพัฒนาเมืองของกรุงโตเกียว นั่นคือ “เมืองในธรรมชาติ/ธรรมชาติภายในเมือง” ในการสร้างสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สอดคล้องกับกิจกรรมต่างๆ ของคนในเมือง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน

ในการเตรียมการเพื่อการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ได้มีความพยายามในการปรับปรุงเมืองและสถานที่จัดงานให้เขียวชอุ่มยิ่งขึ้น ด้วยการย้ายต้นไม้เข้ามาปลูกในเมืองและสถานที่จัดงานมากขึ้น และปลูกต้นไม้สายพันธุ์พื้นถิ่นเพื่อเป็นการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และยังมีการตัดแต่งกิ่งต้นไม้ริมถนนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ต้นไม้ยังสามารถเติบโตได้และให้ร่มเงาแก่ผู้คนได้ดีขึ้น

นอกจากนั้นยังมีการดูแลและปรับปรุงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำในเมืองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียในสถานที่จัดงานและการใช้น้ำฝนและน้ำที่ผ่านการรีไซเคิลแล้ว


04 | Human Rights, Labour and Fair Business Practices – Diversity

ความหลากหลายและความครอบคลุม (Diversity and Inclusion : D&I) เป็นประเด็นที่ถูกรวมเข้าไปในทุกมิติของการจัดการแข่งขันกีฬาในครั้งนี้ เพื่อแสดงความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของทุกคน/ทุกกลุ่ม

อาสาสมัครที่ทำงานในสถานที่แข่งขันและหมู่บ้านนักกีฬาที่เป็นที่รู้จักในนาม ‘Field Cast’ จำนวนถึง 80,000 คน เป็นตัวแทนของความร่วมมือของกลุ่มที่มีความหลากหลายสูง เพราะมีทั้งอาสาสมัครที่เป็นคนญี่ปุ่นและมาจากอีก 120 ประเทศ/ภูมิภาคอื่น ๆ เป็นผู้หญิงมากถึง 60% และประกอบด้วยคนหลายช่วงอายุตั้งแต่ต่ำกว่า 20 ปีไปจนถึง 80 ปี

ไม่ว่าคุณจะเดินได้หรือไม่ได้ ทุกคนจะต้องสามารถเข้าถึงการแข่งขันกีฬาที่สำคัญต่อมนุษยชาติได้เท่ากัน ผ่านการดำเนินงานเพื่อให้ความสะดวกทั้งสามด้าน คือ 1) การอำนวยความสะดวกในสถานที่จัดงาน เช่น การมีที่นั่งชมสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ ประตูกว้างที่สามารถให้วีลแชร์ผ่านได้ และห้องน้ำสำหรับผู้ที่เงื่อนไขทางร่างกายต่างๆ 2) การให้ข้อมูลเกี่ยวกับงาน ทั้งเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน ประกาศ และเอกสารที่ออกอย่างเป็นทางการจะนำเสนอผ่านหลายๆ ภาษา รวมถึงภาษาเบรลล์ และภาษามือ และ 3) การเดินทาง เช่น ทางเข้าที่ไม่ใช่บันไดเพื่อสะดวกต่อผู้ใช้วีลแชร์ บล็อกนำทางสำหรับผู้พิการทางสายตา การใช้พาหนะเดินทางที่พื้นรถต่ำทำให้ขึ้นลงรถสะดวก และพาหนะที่มีทางลาดอัตโนมัติสำหรับรถวีลแชร์ เป็นต้น

นอกจากนั้น Tokyo 2020 ยังเป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ และการเปิดกว้างต่อความหลากหลายโดย

  • เป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่มีความสมดุลระหว่างนักกีฬาหญิงและชายเป็นครั้งแรก โดยมีนักกีฬาหญิง 49% และชาย 51% และยังเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งแผนกเวชศาสตร์การกีฬาหญิงในศูนย์การแพทย์ในหมู่บ้านนักกีฬา เพื่อดูแลนักกีฬาหญิงโดยเฉพาะ
  • ภายใต้การนำของ Hashimoto Seiko ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2021 ทำให้มีตัวแทนผู้หญิงเพิ่มในคณะกรรมการอีก 12 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 42%
  • นอกจากนี้ ยังมีการก่อตั้งชุมชน LGBTQ+ ถาวรแห่งแรกในโตเกียว ในชื่อ Pride House Tokyo โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความตระหนักในประเด็น LGBTQ ผ่านการสร้างพื้นที่ให้บริการ การจัดกิจกรรม และการผลิตเนื้อหาที่หลากหลาย ซึ่งเป็น Pride House แห่งแรกที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก

05 | Involvement, Cooperation and CommunicationsUnited in Partnership & Equality

Tokyo 2020 เปิดกว้างสำหรับทุกคนด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมและความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ โดยเฉพาะในประเด็นความยั่งยืนกับผู้คนในสังคมเพื่อสร้างสังคมที่มีความหลากหลายและความครอบคลุม ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น

  • Tokyo 2020 Medal Project – ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการขยะอิเล็กทรอนิกส์มาเพื่อใช้ผลิตเหรียญรางวัล
  • Tokyo 2020 Recovery Monuments – อนุสรณ์ที่เป็นสื่อกลางระหว่างนักกีฬาและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและสึนามิในโทโฮคุเมื่อปี 2011 โดยประติมากรรมที่ได้รับการออกแบบจากนักเรียนมัธยมในโทโฮคุจะถูกติดตั้งในพื้นที่จัดงาน เมื่อจบเกมส์ ประติมากรรมที่มีลายเซ็นนักกีฬาจากทั่วโลกจะถูกนำกลับไปติดตั้งในชุมชนที่ประสบภัย
Tokyo 2020 Recovery Monuments
ที่มา: Olympics.com

ในวาระการประชุมสหประชาชาติ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN 2030 Agenda for Sustainable Development) ย่อหน้าที่ 37 ระบุว่า :


“ กีฬาเป็นยังตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน เราตระหนักดีถึงการมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นของกีฬาในการทำให้เกิดการพัฒนาและสันติภาพในการส่งเสริมความอดทนและความเคารพและการมีส่วนร่วมในการเสริมอำนาจของผู้หญิงและคนหนุ่มสาว บุคคล และชุมชน ตลอดจนเป้าหมายด้านสุขภาพ การศึกษา และความครอบคลุมทางสังคม “

การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกเป็นหนึ่งในการแข่งขันกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก นี่ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ประชาคมโลกจะได้แสดงออกถึงความร่วมมือร่วมใจและความมุ่งมั่นใช้พลังของการกีฬาเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น ครอบคลุมขึ้น และยั่งยืนขึ้น การจัดการแข่งขันกีฬา Tokyo 2020 Games ครั้งนี้และครั้งต่อๆ ไปจะเป็นหมุดหมายที่สำคัญของการเชื่อมโลก ที่ไม่เพียงแค่หมายถึงมนุษย์ทุกคนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธรรมชาติด้วย


ที่มา :
– สรุปเนื้อหาสำคัญจาก Sustainability Pre-Games Report – Sustainability Highlights (IOC) เผยแพร่เมื่อเมษายน 2020
Overview of the Tokyo 2020 Games Sustainability Plan (IOC)
– London 2012’s sustainability legacy lives on (IOC)

Tokyo 2020 to use 100 per cent renewable sources for electricity at Olympics (Inside the Games)
‘LGBTQ landmark’: Tokyo opens Olympics Pride House (CTVNews)
Tokyo 2020 highlights the possibilities for a circular economy (IOC)
More than 200,000 applications received for Tokyo 2020 Volunteer Programme

Last Updated on กรกฎาคม 31, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น