Site icon SDG Move

CPI เผยดัชนีการรับรู้การทุจริตประจำปี 2565 พบไทยคะแนนดีขึ้น 1 คะแนน รั้งอันดับ 101 ของโลก แต่สถานการณ์ทุจริตในประเทศยังน่ากังวล

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เผยแพร่จดหมายข่าว (press release) ระบุและวิเคราะห์อย่างรวบรัดเกี่ยวกับดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี 2565 ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) มีประเทศที่ถูกจัดอันดับทั้งสิ้น 180 ประเทศ โดยประเทศเดนมาร์ก ถูกจัดให้มีคะแนนสูงสุดของโลก ได้คะแนน 90 คะแนน อันดับที่ 2 ตกเป็นของประเทศฟินแลนด์ และประเทศนิวซีแลนด์ ได้คะแนน 87 คะแนนเท่ากัน ด้านประเทศโซมาเลีย รั้งอันดับท้ายสุด ได้คะแนนเพียง 12 คะแนน ส่วนประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 36 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก ดีขึ้นจากปี 2564

CPI เป็นดัชนีที่มีอิทธิพลต่อภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชันของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ส่วนหนึ่งเนื่องจากนักลงทุนหรือนักธุรกิจหลายประเทศใช้ดัชนี CPI เพื่อประเมินความน่าสนใจลงทุนของแต่ละประเทศ โดยมองว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เป็นต้นทุนหรือความเสี่ยงในการเข้ามาประกอบธุรกิจ

จดหมายข่าวข้างต้นระบุข้อมูลที่เปิดเผยโดย นิวัติไชย  เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1) ภาพรวม ประเทศไทย ได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 36 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก ดีขึ้นจากปี 2564 ที่ได้คะแนน 35 คะแนน และอยู่ในอันดับที่ 110 ของโลก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ไทยอยู่อันดับที่ 4 ขณะประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดคือประเทศสิงคโปร์ ได้ 83 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก ส่วนอันดับที่ 2 และ 3 คือประเทศมาเลเซีย และประเทศเวียดนาม โดยได้คะแนน 47 และ 42 ตามลำดับ

2) ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยในปี 2565 เป็นการประเมินจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่ง โดยประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 2 แหล่ง ได้แก่ 

นิวัติไชย อธิบายว่ามุมมองของผู้ตอบแบบสอบถามที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากภาครัฐได้มีการแก้ไขปัญหาการติดสินบน โดยมีการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับสินบนอย่างจริงจัง รวมทั้งการพัฒนาระบบการอนุมัติ อนุญาตให้มีความโปร่งใส การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ประกอบกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ได้ส่งเสริมให้มีการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการอนุมัติอนุญาตตามนโยบาย “Digital Government” ตลอดจนมีการเปิดเผยข้อมูลลงในระบบดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคประชาชนมีความตื่นตัวในการจับตามองการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ

3) แหล่งข้อมูลที่ได้รับคะแนนลดลงจากปี 2564 มีจำนวน 2 แหล่ง ได้แก่

นิวัติไชย อธิบายว่าการรับรู้ของผู้ประเมินที่มองว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐยังรับรู้และถือปฏิบัติตามนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวมไม่มากเท่าที่ควร รวมถึงยังคงมีการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนขาดการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตอย่างจริงจัง เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานรัฐยังต้องมีนโยบายและแนวทางที่ชัดเจนและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

4) แหล่งข้อมูลที่ได้รับคะแนนคงที่จากปี 2564 มีจำนวน 5 แหล่ง ได้แก่

นิวัติไชย อธิบายว่ามุมมองของผู้ประเมินในแหล่งข้อมูลดังกล่าว อาจเห็นว่าถึงแม้ในปีที่ผ่านมาประเทศไทย จะได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทุจริตต่าง ๆ เช่น มีการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับระบบ การลงโทษผู้ที่กระทำการทุจริต แต่ในปัญหาการทุจริตต่าง ๆ ของประเทศไทย ยังคงมีอยู่ ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มา เช่น พฤติกรรมการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ การป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการตรวจสอบและลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทุจริต ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม 

อย่างไรก็ตาม แม้คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตในปีนี้จะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะสถานการณ์ช่วงปลายปี 2565 คาบเกี่ยวมาถึงเดือนแรกของปี 2566 ก็พบว่ามีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตหลายกรณีที่น่าเป็นกังวล อาทิ กรณีอธิบดีกรมอุทยานเรียกรับสินบน กรณีตำรวจขับรถนำขบวนนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงกรณีการทุจริตการสอบตำรวจนายสิบ เช่นนั้น การรั้งอันดับการรับรู้การทุจริตที่อันดับ 101 ของโลก จึงยังไม่เพียงพอที่จะยืนยันว่าสถานการณ์การทุจริตในประเทศไทยดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอาจต้องทำงานหนักขึ้นทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติเพื่อจัดการกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ที่จะส่งผลดีต่อการสร้างสังคมที่สงบสุข ยุติธรรม และโปร่งใสต่อไป

สอดคล้องกับคำเเนะนำขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ที่ระบุว่า นานาประเทศควรให้ความสำคัญในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจบริหาร ตุลาการและนิติบัญญัติ รวมทั้งส่งเสริมสิทธิเสรีภาพทางสังคม ให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลภาครัฐผ่านระบบสารสนเทศ การจำกัดการใช้อิทธิพลทางการเมืองตลอดจนการเสริมสร้างความเข้มแข็งเกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ รวมถึงการรับมือกับปัญหาการทุจริตข้ามชาติในทุกรูปแบบ ทั้งนี้ ประเทศที่มีค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตสูงควรให้ความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในเรื่องการต่อต้านสินบนข้ามชาติ ตลอดจนการติดตามทรัพย์สินคืน

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ‘ทุจริตคอร์รัปชัน’ เอื้อให้การลักลอบขนคนเข้าเมืองและการค้ามนุษย์ทำได้สะดวกขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
– ความพยายามขจัดการค้ามนุษย์ของไทยตกระดับมาที่ Tier 2 Watch List โดยที่ ‘การทุจริต’ เป็นหนึ่งในปัจจัยสกัดพัฒนาการ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.5) ลดการทุจริตและการรับสินบนทุกรูปแบบอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.6) พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา: ป.ป.ช. เผยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติประกาศผลดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2565 ประเทศไทย ได้ 36 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก (ป.ป.ช.)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย 

Author

  • Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

Exit mobile version