ความพยายามขจัดการค้ามนุษย์ของไทยตกระดับมาที่ Tier 2 Watch List โดยที่ ‘การทุจริต’ เป็นหนึ่งในปัจจัยสกัดพัฒนาการ

ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รายงานการค้ามนุษย์ปี 2564 (Trafficking in Persons Report – TIP Report 2021) จัดลดระดับไทยอยู่ที่ Tier 2 Watch List จากเดิมที่รัฐบาลไทยสามารถยกระดับความแข็งขันในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ได้ค่อนข้างดีอยู่ที่ Tier 2 ต่อเนื่องมา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2561 – 2563 โดยตามข้อมูลของ TIP Report 2011 – 2021 ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา (2554 – 2564) ไทยเคยถูกจัดระดับอยู่ที่ Tier 2 Watch List แล้วเมื่อปี 2554 – 2556, 2559 – 2560 และเคยได้ระดับต่ำสุดที่ Tier 3 ในปี 2557 – 2558

ซึ่งนอกจากปี 2564 จะมีปัจจัยจากโควิด-19 ร่วมด้วย แต่ความพยายามของไทย (จากที่เคยมีพัฒนาการ) อาจจะยังมีไม่เพียงพอ อาทิ พัฒนาการด้านการประสานงานกับภาคประชาสังคมในการสืบสวนการค้ามนุษย์และการคุ้มครองเหยื่อผู้เสียหาย การจัดอบรมและประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้พิพากษา การจัดตั้งคณะกรรมการ/ส่วนงานเพื่อพิจารณาบางประเด็นเป็นการเฉพาะอันรวมถึงกลไกการส่งต่อระดับชาติและการจัดการปัญหากการแสวงประโยชน์ทางเพศกับเด็ก

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของปัจจัยที่หลากหลาย (อาทิ ที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน แรงงานข้ามชาติ แรงงานประมงและเครื่องนุ่งห่ม) ที่เป็นอุปสรรคต่อความมุ่งมั่นของไทยในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์เสียเอง กลับเป็นเรื่อง ‘การทุจริตและเข้าไปพัวพันของเจ้าหน้าที่รัฐ’

ภาพจาก : TIP Report 2021

ย้อนไปตั้งแต่ปี 2556 มีเจ้าหน้าที่รัฐ 73 รายที่ถูกสืบสวนว่ามีความพัวพันกับการค้ามนุษย์ โดยจนถึงตอนนี้มี 8 รายที่อยู่ระหว่างการสอบสวน, 4 รายที่อยู่ในดุลยพินิจของอัยการ, 8 รายอยู่ในดุลยพินิจของศาลชั้นต้น, 32 รายอยู่ในขั้นอุทธรณ์, 8 รายที่ถูกจำคุก, 11 รายที่ ‘พ้นผิด’, และ 2 รายที่หลบหนีข้อกล่าวหา

ขณะเดียวกันในปีที่ผ่านมา ไทยได้ดำเนินคดีทางกฎหมายเจ้าหน้าที่รัฐ 5 รายด้วยการลงโทษจำคุก (คดีเมื่อ 2562) มีการยึดทรัพย์เจ้าหน้าที่รัฐที่พัวพันกับเคสการค้ามนุษย์ 1.2 ล้านบาท นอกจากนี้ ปลายปี 2563 ที่มีการระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ณ สมุทรสาคร ก็มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนความพัวพันของเจ้าหน้าที่รัฐในการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติอันนำไปสู่การสืบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐ 33 ราย และเจ้าหน้าที่รัฐ 9 รายซึ่งถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับอาชญากรรมค้ามนุษย์ โดยสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว 8 ใน 9 และอีก 1 ที่ยังคงอยู่ระหว่างการสอบสวน ทั้งนี้ มีเหตุผลและหลักฐานเพียงพอเชื่อว่าจะสามารถดำเนินคดีได้ 2 ราย ขณะที่ 6 ราย เป็นเพียง ‘การละเลยหน้าที่’ จึงได้รับโทษทางวินัยแทน

และนั่นก็ทำให้เห็นว่า ในคดีค้ามนุษย์ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง การดำเนินคดีนั้น ไม่ใช่ทั้งหมดที่ใช้ ‘กฎหมายอาญา’ ดำเนินคดีเอาผิดและลงโทษ

จากตัวอย่างข้างต้น รายงานฉบับนี้ยังได้ระบุว่า การทุจริตและการเข้าไปพัวพันของเจ้าหน้าที่รัฐในการอำนวยให้การค้ามนุษย์เกิดขึ้นได้ยังคงมีอยู่ และเป็นหนึ่งประเด็นที่ทำให้ภาคประชาสังคมหรือองค์กรไม่แสวงผลกำไรลำบากใจที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐบางแห่งในบางกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจบางรายอาจให้คำมั่นที่จะทำการสืบสวนแต่ก็ไม่สามารถนำหลักฐานที่เพียงพอและชัดเจนมาประกอบการบังคับใช้กฎหมายได้ เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายบางรายลังเลใจที่จะสืบสวนผู้ที่มีอิทธิพลซึ่งเป็นเจ้าของเรือ หรือกระทั่งพบว่ามีผู้กระทำความผิดที่มีความเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง

อ่านรายละเอียดสาเหตุอื่น ๆ ว่าทำไมไทยถึงถูกจัดระดับลดลง ที่:

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังคงเน้นย้ำว่าได้ให้ความสำคัญและ ‘พยายาม’ ต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านการดำเนินคดี การคุ้มครองดูแลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการป้องกันการค้ามนุษย์ (อ่านต่อในรายละเอียดที่ BBC)

*ความหมายของแต่ละ Tier
Tier 1
– รัฐบาลพยายามดำเนินการอย่างจริงจังจนอัตราการค้ามนุษย์ต่ำ
Tier 2 – รัฐบาลยังดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ แต่มีความพยายามปรับปรุง
Tier 2 Watch List – กลุ่มประเทศที่ต้องจับตามองเพราะมีเหยื่อจากการค้ามนุษย์สูงขึ้น และไม่มีหลักฐาน/มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะชี้ว่ารัฐบาลพยายามปรับปรุง
Tier 3 – รัฐบาลดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ และไม่มีความพยายามแก้ไข

● เข้าถึงรายงานได้ที่ : TIP Report 2021
● อ่าน SDG Vocab ที่เกี่ยวข้อง : Modern Slavery (ทาสสมัยใหม่)
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : ‘ทุจริตคอร์รัปชัน’ เอื้อให้การลักลอบขนคนเข้าเมืองและการค้ามนุษย์ทำได้สะดวกขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศและอำนาจเสริมพลังแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง
– (5.2) ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิง รวมถึงการค้ามนุษย์ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น
#SDG8 เศรษฐกิจเติบโตและงานที่มีคุณค่า
– (8.7) ขจัดแรงงานบังคับ ยุติการค้าแรงงานทาสในยุคสมัยใหม่และการค้ามนุษย์ และยุติการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบ ภายในปี 2568
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ครอบคลุม สถาบันมีความรับผิดรับชอบ
– (16.2) ยุติการข่มเหง การหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
– (16.3) ส่งเสริมนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ หลักประกันการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับทุกคน
– (16.4) ในด้านการลดการลักลอบเคลื่อนย้ายเงิน และต่อสู้กับอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรทุกรูปแบบ ภายในปี 2573

ทั้งนี้ สาเหตุปัจจัยที่หยิบยกในข่าวนี้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับ
– (16.5) ลดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และการรับสินบนทุกรูปแบบ
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดรับชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ

แหล่งที่มา:
https://www.state.gov/reports/2021-trafficking-in-persons-report/
รายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจําปี 2562
รายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจําปี 2563

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น