ไทยขยับขึ้นอันดับที่ 60 จากการจัดอันดับของ World Happiness Report 2023 ฟินแลนด์ยังคงครองที่ 1 ‘ประเทศที่มีความสุขที่สุด’ 6 ปีซ้อน

ทุกวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันความสุขสากล’ (International Day of Happiness) โดยปีนี้ เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network : SDSN) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) เผยแพร่ รายงานความสุขโลกประจำปี 2566 (World Happiness Report 2023)  ซึ่งเป็นการจัดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก สำหรับปีนี้ ประเทศฟินแลนด์ ยังคงครองอันดับที่ 1 ประเทศที่มีความสุขมากที่สุดต่อเนื่องกว่า 6 ปีซ้อน ขณะที่ ประเทศไทย ขยับอันดับขึ้นจากเดิมที่อยู่ในอันดับที่ 61 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับที่ 60 ของการจัดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก

นับเป็นเวลากว่าสิบปีแล้วที่รายงานความสุขโลกฉบับแรกได้รับการเผยแพร่ และเป็นเวลา 10 ปีพอดีที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติรับรองมติ 66/281 ประกาศให้วันที่ 20 มีนาคมของทุกปีเป็นวันแห่งความสุขสากล การจัดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกได้ใช้ผลการสำรวจที่น่าเชื่อถือจาก Gallup World Poll บริษัทสำรวจข้อมูลระดับโลก โดยได้ทำการสำรวจและประเมินระดับความสุขของประชาชนหลายล้านคนใน 150 ประเทศทั่วโลก ซึ่งผลการจัดอันดับได้ใช้ข้อมูลค่าเฉลี่ยจากการสำรวจระดับโลกช่วงปี 2563-2565 และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องของจากจำนวนตัวอย่างประชากรตลอดช่วง 3 ปี ในระดับคะแนนจาก 0 ถึง 10 ผ่านการสำรวจและให้คะแนนผ่านปัจจัยสำคัญ 6 ประการ ได้แก่ (1) การสนับสนุนทางสังคม (2) อายุขัยคาดเฉลี่ย (3) เสรีภาพในการเลือกในชีวิต (4) ความเอื้ออาทร (5) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP Per Capita) และ (6) การรับรู้การทุจริต

สำหรับการจัดอันดับปี 2566 ประเทศฟินแลนด์ ครองอันดับที่หนึ่งของประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ได้คะแนนสูงสุดอยู่ที่ 7.804 เต็ม 10 ตามมาด้วย อันดับที่ 2 เดนมาร์ก อันดับที่ 3 ไอซ์แลนด์ และอันดับที่ 4 คือ อิสราเอล โดยขยับขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับที่ 9 และตามมาด้วยอันดับที่ 5 เนเธอร์แลนด์ โดยผลการจัดอันดับในปีนี้ ส่วนใหญ่อันดับจะคล้ายกับในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหลายประเทศในกลุ่มนอร์ดิกติดอยู่ในอันดับต้น ๆ และสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศสิงคโปร์ได้อันดับดีที่สุดในภูมิภาคนี้ อยู่ที่อันดับ 25 ของโลก ด้วยคะแนน 6.587 คะแนน 

ขณะที่ ประเทศไทยได้คะแนนอยู่ที่ 5.843 คะแนน โดยจากปัจจัยสำคัญ 6 ประการ มีคะแนนมุมมองแต่ละด้าน ดังนี้ มุมมองต่อการทุจริตอยู่ที่ 0.013 เป็นคะแนนที่ต่ำที่สุดจากทุกด้าน ส่วนคะแนนด้านเสรีภาพที่ 0.624 คะแนน มุมมองต่อการสนับสนุนทางสังคม  1.344 คะแนน อายุขัยคาดเฉลี่ย 1.594 คะแนน ความเอื้ออาทร 0.291 คะแนน และ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP Per Capita) 1.515  คะแนน 

ขณะที่ 5 อันดับประเทศที่มีความสุขรั้งท้ายสุดของตาราง ได้แก่ อัฟกานิสถาน (อันดับที่ 137) เลบานอน (อันดับที่ 136) สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน (อันดับที่ 135) ซิมบับเว (อันดับที่ 134) สาธารณรัฐคองโก  (อันดับที่ 133) และบอตสวานา (อันดับที่ 132) นอกจากนี้ สำหรับประเทศยูเครนและรัสเซียที่อยู่ในสภาวะภัยสงคราม พบว่าอันดับกลับขยับขึ้น โดยรัสเซียขยับจากอันดับ 80 ในปีที่แล้ว มาเป็นอันดับ 70 ในปีนี้ และยูเครนขยับจากอันดับ 98 มาเป็นอันดับ 92 ซึ่งทั้งสองประเทศนั้นมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น ยูเครนได้รับการสนับสนุนจากจิตสำนึกและจุดมุ่งหมายที่มีร่วมกันของประชาชน ตลอดจนความเชื่อมั่นที่มีต่อผู้นำ ขณะที่ การสนับสนุนความเป็นผู้นำของรัสเซียนั้นลดลงเหลือ 0

อย่างไรก็ดี ข้อค้นพบจากการสำรวจยังเผยให้เห็นว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปี 2563-2565 สูงพอ ๆ กับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด 2560-2562 และฟินแลนด์ยังคงครองตำแหน่งสูงสุดเป็นปีที่หกติดต่อกัน ลิทัวเนียเป็นประเทศใหม่เพียงประเทศเดียวใน 20 อันดับแรก โดยขยับขึ้นมามากกว่า 30 อันดับตั้งแต่ปี 2560 ขณะที่ อัฟกานิสถานและเลบานอนที่บอบช้ำจากสงครามยังคงเป็นสองประเทศที่ไม่มีความสุขที่สุดในการสำรวจ ซึ่งภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงคราม สะท้อนถึงกระแสของความเอื้ออาทรและการสนับสนุนทางสังคมในเชิงบวกที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ไทยได้อันดับ 61 จาก World Happiness Report 2022 ฟินแลนด์ครองที่หนึ่งประเทศที่มีความสุขที่สุด 5 ปีซ้อน
เลขาธิการ UN แถลงประเด็น SDGs ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปี 2566 พร้อมเรียกร้องทั่วโลกยุติการก่อสงครามทำลายล้างธรรมชาติ
SDG Updates | เปิดรายงาน Sustainable Development Report 2022 และ SDG Index 2022 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
–  (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับการตัดสินใจ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
– The world’s happiest countries for 2023 – CNN
The World Happiness Report 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น