World Happiness Report 2024 ไทยขยับขึ้นอันดับที่ 58 ‘ประเทศที่มีความสุขที่สุด’ – ฟินแลนด์ครองที่หนึ่ง เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน

วันที่ 20 มีนาคมของทุกปี เป็น ‘วันความสุขสากล’ (International Day of Happiness) สำหรับปีนี้ เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network : SDSN) ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ได้เผยแพร่ รายงานความสุขโลกประจำปี 2567 หรือ ‘World Happiness Report 2024’  รายงานผลการจัดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก โดยใช้ข้อมูลค่าเฉลี่ยจากการประเมินระดับโลกในช่วงปี 2564 – 2566 ซึ่งผลปีนี้ ประเทศฟินแลนด์ ยังคงครองอันดับที่ 1 ประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลกต่อเนื่อง 7 ปีซ้อน ขณะที่ ประเทศไทย ได้ขยับขึ้นมาสองอันดับจากเดิมอยู่ในอันดับที่ 60 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับที่ 58 ในปีนี้

การจัดอันดับได้ใช้ผลการสำรวจที่น่าเชื่อถือที่สุดจาก Gallup World Poll บริษัทสำรวจข้อมูลระดับโลก โดยได้ทำการสำรวจและประเมินระดับความสุขจากผู้คนกว่า 140 ประเทศ ซึ่งผลการจัดอันดับได้ใช้ข้อมูลค่าเฉลี่ยจากการสำรวจระดับโลกช่วงปี 2564 – 2566 และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องของจากจำนวนตัวอย่างประชากรตลอดช่วง 3 ปี ในระดับคะแนนจาก 0 ถึง 10 ผ่านการสำรวจและให้คะแนนผ่านปัจจัยสำคัญ 6 ประการ ได้แก่ (1) การสนับสนุนทางสังคม (2) อายุขัยคาดเฉลี่ย (3) เสรีภาพในการเลือกในชีวิต (4) ความเอื้ออาทร (5) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP Per Capita) และ (6) การรับรู้การทุจริต

สำหรับการจัดอันดับปี 2567 ประเทศฟินแลนด์ ยังคงครองอันดับที่ 1 ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกซึ่งได้รับการจัดอันดับต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยได้คะแนนสูงสุดที่ 7.741 จากคะแนนเต็ม 10 ตามมาด้วย อันดับที่ 2 เดนมาร์ก อันดับที่ 3 ไอซ์แลนด์ และอันดับที่ 4 สวีเดน โดยขยับขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับที่ 6 และตามมาด้วยอันดับที่ 5 อิสราเอล ซึ่งตกลงมาหนึ่งอันดับจากปีที่แล้ว โดยผลการจัดอันดับในปีนี้ ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกยังคงติดอยู่ใน 10 อันดับต้น ๆ อย่างไรก็ดี การที่อิสราเอลติดอันดับ 5 อาจสร้างความประหลาดใจท่ามกลางสงครามกับกลุ่มฮามาส ซึ่งการจัดอันดับนั้นถูกอ้างอิงตามค่าเฉลี่ยช่วงสามปี ก่อนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้น

ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศสิงคโปร์ได้อันดับดีที่สุดในภูมิภาคนี้ อยู่ที่อันดับ 30 ของโลก ด้วยคะแนน 6.523 คะแนน ซึ่งตกอันดับจากปีที่แล้วมา 5 อันดับ ขณะที่ ประเทศไทยได้คะแนนอยู่ที่ 5.976 คะแนน โดยจากปัจจัยสำคัญ 6 ประการ มีคะแนนมุมมองแต่ละด้าน ดังนี้ มุมมองต่อการทุจริตอยู่ที่ 0.024 เป็นคะแนนที่ต่ำที่สุดจากทุกด้าน ส่วนคะแนนด้านเสรีภาพที่ 0.756 คะแนน มุมมองต่อการสนับสนุนทางสังคม 1.347 คะแนน (เพิ่ม) อายุขัยคาดเฉลี่ย 1.463 คะแนน ความเอื้ออาทร 0.283 คะแนน และ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP Per Capita) 1.484 คะแนน 

ขณะที่ 5 อันดับประเทศที่มีความสุขรั้งท้ายสุดของตาราง ได้แก่ อัฟกานิสถาน (อันดับที่ 143) เป็นอันดับสุดท้าย เลบานอน (อันดับที่ 142) เลโซโท (อันดับที่ 141) สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน (อันดับที่ 140) และสาธารณรัฐคองโก  (อันดับที่ 139) แต่ที่น่าแปลกใจสำหรับปีนี้ คือสหรัฐอเมริกา หลุดจากยี่สิบอันดับแรกของประเทศที่มีความสุขที่สุด ซึ่งจากการสำรวจพบว่าในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา คะแนนความสุขของผู้ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี ต่ำกว่าคะแนนความสุขของผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงประเทศอื่น ๆ มีผลคะแนนประเมินความสุขที่ไต่อันดับเพิ่มขึ้นมา

อย่างไรก็ดี แต่ละช่วงวัยมีความพึงพอใจในการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาถึงอายุและสถานการณ์ในชีวิตพบว่าผู้ที่เกิดก่อนปี 2508 รุ่น Boomers มีการประเมินชีวิตสูงกว่าผู้ที่เกิดหลังปี 2523 รุ่น Millennials และ Gen Z ประมาณหนึ่งในสี่จุดจากการประเมิน อันเป็นผลมาจากวิกฤตที่เกิดขึ้นเช่นจากโรคระบาด สงคราม และความไม่เท่าเทียมของช่องว่างระหว่างเพศที่เกิดขึ้น 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
–  (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.1) ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีการขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 7 ต่อปี
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.5)  ลดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และการรับสินบนทุกรูปแบบ
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับการตัดสินใจ

แหล่งที่มา:
These are the world’s happiest countries in 2024 – CNN 
Happiness of the younger, the older, and those in between –  Worldhappiness

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น