Site icon SDG Move

มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ เผยภาพดาวเทียม ‘เหมืองแรร์เอิร์ท’ เมียนมา – เสี่ยงสารพิษปนเปื้อนน้ำกก กระทบสิ่งแวดล้อมชายแดนไทย

มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation: SHRF) เปิดเผยแถลงการณ์พร้อมภาพถ่ายดาวเทียมแสดงถึงการทำเหมืองแร่หายาก (แรร์เอิร์ธ) บริเวณตอนใต้ของเมืองสาด รัฐฉาน ประเทศเมียนมา มีที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ โดยห่างจากชายแดนไทยเพียงประมาณ 25 กิโลเมตร ซึ่งมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ มีความกังวลว่าสารพิษตกค้างจากกระบวนการทำเหมืองอาจไหลลงสู่ลำน้ำสายต่าง ๆ และกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุของการปนเปื้อนสารพิษในแม่น้ำกก ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของแม่น้ำสายสำคัญในภาคเหนือของไทยให้เลวร้ายยิ่งขึ้น

มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ ชี้ให้เห็น 4 ประเด็นสำคัญที่น่ากังวล ได้แก่ 

  1. ทำเลเหมืองใกล้ชายแดนไทย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวห่างจากชายแดนไทยเพียง 25 กิโลเมตร ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน้ำและสุขภาพของประชาชนนับล้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ท้ายน้ำของเขตลุ่มน้ำกกที่เชื่อมโยงกันทั้งสองประเทศ 
  2. ลักษณะการขุดเจาะและรูปแบบของบ่อเหมือง บ่งชี้เป้าหมายในการสกัดแร่เทอร์เบียม (Tb) และดิสโพรเซียม (Dy) ซึ่งจากภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นตำแหน่งของแหล่งขุดเจาะ ประกอบด้วยบ่อน้ำที่จัดเรียงเป็นวงกลมซ้อนกันหลายชั้น ลักษณะคล้ายการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ (แร่หายาก) ที่พบในรัฐคะฉิ่น โดยวิธีการละลายแร่ในแหล่งกำเนิด (in-situ leaching) นั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ทั้งต่อดิน น้ำ และระบบนิเวศโดยรอบ
  3. เหมืองขยับขุดใกล้แม่น้ำกกมากขึ้น จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมตั้งแต่กลางปี 2567 พื้นที่ทำเหมืองขยายตัวเข้าใกล้แม่น้ำกกมากขึ้น เหลือระยะห่างเพียง 2.6 กิโลเมตร ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารพิษในน้ำ และเมื่อเปรียบเทียบภาพถ่ายดาวเทียมของแหล่งทำเหมืองทองคำบริเวณใกล้แม่น้ำกก กับแหล่งเหมืองที่ใช้บ่อละลายแร่ตามริมฝั่งแม่น้ำสายในเมืองกาน เขตเมืองสาด แสดงให้เห็นว่าลักษณะเค้าโครงของเหมืองแตกต่างจากแหล่งที่คาดว่าเป็นการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ทอย่างชัดเจน
  4. ผลกระทบที่ชัดเจนในรัฐคะฉิ่นสู่ลุ่มน้ำกก เหมืองแร่แรร์เอิร์ท (แร่หายาก) ในเมืองยอน เขตเมืองสาด อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของต้นกำเนิดของสารพิษที่ถูกปล่อยลงในแม่น้ำกก ทำให้การปนเปื้อนจากเหมืองทองคำที่มีอยู่เดิมเลวร้ายลง โดยแม่น้ำกกไหลเข้าสู่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านจังหวัดเชียงราย ลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสน

อย่างไรก็ตาม เหมืองแร่แรร์เอิร์ธในเมืองยอนตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่าและกองทัพว้า (United Wa State Army) ซึ่งเป็นพื้นที่เปราะบางยากต่อการตรวจสอบ การทำเหมืองในบริเวณนี้จึงอาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดนที่รุนแรงและเป็นประเด็นที่ควรได้รับการจับตาความเคลื่อนไหว และเป็นเหตุให้มีการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝั่งชายแดนเร่งติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินงานเหมืองแร่ต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน เนื่องจากกระบวนการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธอาจซ้ำเติมปัญหามลพิษส่งผลให้คุณภาพน้ำในแม่น้ำกกเสื่อมโทรมลงอย่างรุนแรงและสร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพของชุมชนในพื้นที่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
BMW, Volvo, Google, และ Samsung SDI ลงนามกับ WWF ห้ามการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึก 
SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 3 ประจำเดือนมิถุนายน 2566 
เสียงส่วนใหญ่ใน IUCN World Conservation Congress เห็นชอบห้ามทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกชั่วคราว
MRC ออกยุทธศาสตร์พัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงใหม่ ตั้งระยะเวลาที่ 10 ปี จัดการน้ำให้ยั่งยืนคล้องกับกรอบเวลาของ SDGs 
SDG Updates | 7 นาที สรุป 7 ประเด็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับสถานการณ์ลุ่มแม่น้ำโขง ฉบับ 101

 ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG 6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล 
– (6.6)  ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ รวมถึงภูเขา ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ชั้นหินอุ้มน้ำ และทะเลสาบ ภายในปี พ.ศ. 2563
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและพื้นที่แห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

แหล่งที่มา 
“4 ข้อเท็จจริง เหมืองแร่แรร์เอิร์ทเมียนมา พ.ค. 68” มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (greennews)
เปิดภาพเหมืองพม่า ห่างชายแดนไทยเพียง 25 กม. โยง ‘น้ำกก’ ปนเปื้อนสารพิษ (ประชาไท)

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version