BMW, Volvo, Google, และ Samsung SDI ลงนามกับ WWF ห้ามการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึก

เมื่อ 31 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เครือ BMW ร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund – WWF) ประกาศห้ามทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึก (Deep-Sea Mining) เป็นการชั่วคราว โดยมี Volvo, Google, และ Samsung SDI บริษัทผลิตแบตเตอรี่รายแรกที่เข้าร่วมลงนาม เป็น 4 บริษัทระดับโลกกลุ่มแรกที่สนับสนุนและเรียกร้องให้บริษัทโดยเฉพาะที่เริ่มทำการสำรวจและวางแผนจะทำในช่วงสิบปีนี้ได้ทำการศึกษาผลกระทบเชิงลบและความเสี่ยงจากการทำเหมืองแร่ในท้องทะเลที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศใต้ท้องทะลเสียก่อน พร้อมกับย้ำว่าการทำเหมืองแร่ดังกล่าวควรเป็นหนทางสุดท้าย เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว

แหล่งที่มา: Deep-sea Mining, seas-at-risk.org

โดยในเนื้อความการลงนามระบุว่าจะไม่มีการสนับสนุนทางการเงินให้กับบริษัททำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึก รวมถึงจะไม่ซื้อแร่ที่ได้จากการทำเหมืองใต้ทะเลลึกด้วย ทั้งการมุ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากทะเลลึกก็ควรมีการศึกษาหรือสำรวจก่อนว่ามันจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ เราสามารถหันไปใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพขึ้นหรือใช้วัสดุให้ครบวงจรชีวิตของมันได้หรือไม่ สามารถปรับลดความต้องการการใช้แร่เหล่านั้นได้หรือไม่ รวมทั้งมีการพูดถึงให้เป็นการทำเหมืองที่รับผิดชอบด้วย

ขณะที่ปัจจุบัน บริษัทที่เริ่มทำการวิจัยและมีใบอนุญาตสำรวจการทำเหมืองแร่ใต้ท้องทะเลแล้ว มี DeepGreen, GSR และ UK Seabed Resources

ซึ่งการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกกำลังอยู่ในความสนใจมากขึ้น เพราะเป็นหนึ่งในทางเลือกของการสรรหาทรัพยากร ที่ซึ่งใต้ท้องทะเลนั้นยังคงมีความอุดมสมบูรณ์และมีแร่ที่เข้มข้นกว่าพื้นดินอยู่มาก โดยเฉพาะก้อนแร่โลหะสารพัดชนิด (Polymetallic Nodules) ที่มีแร่ธาตุสูงและเต็มไปด้วยโคบอลต์ นิกเกิล ทองแดง และแมงกานีสซึ่งเป็นที่ต้องการมากและเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับการผลิตแบตเตอรี่

อย่างไรก็ดี กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมเหมืองแร่ใต้ท้องทะเลนั้นไม่สอดคล้องกับองค์กรพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ (International Seabed Authority: ISA) โดยเมื่อปี 2561 ทีมนักวิจัยนานาชาติ ก็ได้เสริมกำลัง ISA ในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพจากการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึก คณะกรรมการระดับสูงเพื่อเศรษฐกิจทางทะเลที่ยั่งยืน (High Level Panel for a Sustainable Ocean Economy หรือ Ocean Panel) ก็ได้เรียกร้องให้ท้องทะเลจากทุกภูมิภาคมีโซนที่จะได้รับการปกป้องภายใต้ ISA โดยเฉพาะ (Protected Zones) และให้มีการวิจัยทรัพยากรท้องทะเลด้วย ในลักษณะเดียวกันนี้ สหภาพยุโรปก็ได้ห้ามการทำเหมืองแร่ใต้ท้องทะเลจนกว่าจะทำการศึกษาผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีการออกมติที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกเลิกสนับสนุนและเลิกให้ใบอนุญาติสำรวจที่จะเป็นการทำลายท้องทะเลของประเทศนั้น ๆ และในทะเลนานาชาติ ขณะที่ ฝ่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ได้ออกมาแนะนำว่าวิธีการแก้ไขของผู้บริโภคควรเริ่มจากการนำวัสดุกลับมารีไซเคิลเพื่อลดการเร่งหาวัสดุใหม่

ทั้งนี้ WWF ได้เรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาร่วมลงนาม และศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อริเริ่ม No Deep Seabed Mining ได้ที่ No Deep Seabed Mining

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ตระหนักเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่
#SDG14 อนุรักษ์ ปกป้อง และใช้ทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะตามกรอบ UNCLOS

แหล่งอ้างอิง:
https://wwf.panda.org/wwf_news/press_releases/?1909966/Brands-Back-Call-for-Moratorium-on-Deep-Seabed-Mining
https://www.businessinsider.com/google-bmw-volvo-and-samsung-sdi-sign-up-to-wwf-call-for-temporary-ban-on-deep-sea-mining-2021-3
https://www.mining.com/bmw-volvo-google-and-samsung-call-for-ban-on-deep-sea-mining/

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น