SDG Updates | 7 นาที สรุป 7 ประเด็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับสถานการณ์ลุ่มแม่น้ำโขง ฉบับ 101

เมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศแจ้งเตือนเรื่อง ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงจากการลดการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหง หนึ่งในเขื่อนของประเทศจีนที่เป็นเขื่อนตอนบนของแม่น้ำโขงที่มีอยู่ทั้ง 11 เขื่อน รวมทั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) มีความกังวลใจในการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนไซยะบุรี หนึ่งในสองเขื่อนตอนล่างของแม่น้ำโขงที่สร้างเสร็จแล้วและตั้งอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว โดยการที่เขื่อนกักเก็บหรือปล่อยน้ำจนทำให้มีการลดหรือเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในแม่น้ำโขงซึ่งไม่เป็นไปตามฤดูกาลตามธรรมชาตินั้น ยังคงเป็นประเด็นต่อเนื่องมาจากสถานการณ์ลุ่มแม่น้ำโขงในช่วงปี 2562 – 2563 ในลักษณะ “ปริมาณน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากลดลงปริมาณน้ำในช่วงฤดูแล้งกลับเพิ่มขึ้น” กระทบต่อชุมชนและคนท้องถิ่นที่พึ่งพาแหล่งน้ำโขงในระยะยาว

ภาพ : สำนักวิจัย พัฒนาและอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ : http://division.dwr.go.th/brdh/index.php/th/services/mekong-river-monitoring

SDG Move ชวนอ่านความสำคัญของลุ่มแม่น้ำโขง แหล่งน้ำที่เป็นหัวใจของ 6 ประเทศ – มณฑลยูนนานในจีน เมียนมาร์ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม พร้อมเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 7 เป้าหมายไว้เป็นตัวช่วยทำความเข้าใจฉบับรวบรัด

ภาพ : องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers)

(1)

“SDG 6: มีการบริหารจัดการน้ำ มีแหล่งน้ำ มีน้ำใช้ มีสุขาภิบาลสำหรับทุกคน
SDG 15: ระบบนิเวศบนบกและน้ำจืด พื้นที่ชุ่มน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ
SDG 2 : ความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรรม ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน”

แม่น้ำโขง เป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เป็นแหล่งทรัพยากรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันของชุมชนที่พึ่งพิงแม่น้ำโขง น้ำสำคัญสำหรับการเกษตร (โดยเฉพาะชุมชนแวดล้อมที่ทำการเกษตรปลูกพืชผักริมโขง) ในลักษณะยังชีพและอุตสาหกรรม/สินค้าส่งออก การคมนาคม ตลอดจนเชื่อมความสัมพันธ์ของบรรดาประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม พื้นที่ป่าชุ่มน้ำของแม่น้ำโขง ยิ่งมีความสำคัญในแง่ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ แหล่งน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำ แหล่งอาหารและวัตถุดิบ สามารถกรองแร่ธาตุและสารพิษ ทำให้อากาศบริสุทธิ์ เป็นขอบเขตของการกั้นน้ำเค็มและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ไปจนถึงเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์และที่อาศัยของประชากรสัตว์ป่าต่าง ๆ ในบริเวณนั้น โดยพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีพันธุ์ปลาอย่างน้อย 1,100 ชนิด บางชนิดนั้นไม่สามารถพบได้ในส่วนอื่นของโลก และมี “ปลาบึก” ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) ได้จัดให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า 430 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกว่ากว่า 800 ชนิด นก 1,200 ชนิดพันธุ์ พันธุ์พืชอีกกว่า 20,000 ชนิด และอาจยังมีอีกหลากหลายชนิดพันธุ์ที่รอการค้นพบ ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงประชากรตามเส้นทางน้ำที่ไหลผ่าน เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและความเป็นชุมชนของคนลุ่มแม่น้ำโขง

ดังนั้น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงใดที่มีต่อระดับของน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ฤดูกาลปั่นป่วนก็ดี การสร้างฝายกั้นน้ำเพิ่มก็ดี การสร้างเขื่อนที่ปิดกั้นปากแม่น้ำสาขาที่บรรจบกับแม่น้ำโขงก็ดี ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนจากจีนและลาว ที่อาจทำให้ระบบน้ำของแม่น้ำโขงซึ่งสัมพันธ์กับแม่น้ำสาขาต่าง ๆ ต่างกระทบกันเป็นทอด ในลักษณะที่ระดับน้ำลดลงแม้ในฤดูน้ำหลาก น้ำท่วมในช่วงฤดูแล้ง ไปจนถึงการลดลงของพื้นที่ชุ่มน้ำจากการไม่มีน้ำหนุนตามธรรมชาติ การลดลงของตะกอนดินที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศและควรจะไหลไปยังสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เนื่องจากถูกกักไว้เหนือเขื่อนจนทำให้ช่วงหนึ่งแม่น้ำโขงเกิดปรากฎการณ์เปลี่ยนเป็น “สีคราม” อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนั้น ย่อมส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเพาะปลูกและแปลงเกษตรไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นอันตรายต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์สัตว์และพืช วิถีชีวิตของปลา การผสมพันธุ์ การวางไข่ และการอพยพตาม “วงจรธรรมชาติ” การขึ้นลงของน้ำซึ่งเป็นไปตาม “ฤดูกาล” โดยการประเมิน “สรุปสถานการณ์แม่น้ำโขงสำหรับลูกหลานแม่น้ำโขง ฉบับธันวาคม 2563” ชี้ว่าชีวมวลด้านประมงอาจจะลดลง 35–40% ภายในปี 2563 และ 40–80% ภายในปี 2583 ทำให้ประเทศต่าง ๆ สูญเสียปริมาณสัตว์น้ำเป็นสัดส่วนที่ ไทย 55% ลาว 50% กัมพูชา 35% และเวียดนาม 30% โดยเมื่อย้อนกลับมาถึงความสัมพันธ์กับมนุษย์ ล้วนเกี่ยวเนื่องกับการมีแหล่งโปรตีนหลักเพื่อเป็นอาหารและการทำประมงเพื่อประกอบอาชีพ รวมถึงการมีหรือไม่มีน้ำประปาใช้ในชุมชน โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอาจมีความรุนแรงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละเขื่อน ทั้งนี้ หัวใจสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการแม่น้ำโขงให้สอดคล้องกับฤดูกาลและระบบนิเวศ

(2)

“SDG 7: การเข้าถึงพลังงาน ประสิทธิภาพของพลังงาน พลังงานทดแทน
SDG 13: ภูมิคุ้มกันและความสามารถในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
SDG 11: ปกป้องวัฒนธรรมและธรรมชาติ ลดผลกระทบจากภัยพิบัติ มีส่วนร่วมในการพัฒนา”

ความต้องการใช้พลังงานมีเพิ่มสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของประชากรและการเติบโตของเมือง (Urbanization) และการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงยังคงให้ความสำคัญกับการสร้าง “เขื่อน” ตามที่จีนมีนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง 11 เขื่อนที่เสร็จไปแล้วและมีแผนที่จะสร้างอีก 3 เขื่อน จุดประสงค์ก็เพื่อสร้าง “แหล่งพลังงาน” ในมณฑลยูนนานของจีน ขณะที่ลาวแต่เดิมมีการใช้เครื่องปั่นไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในหมู่บ้าน ภายหลังจากความร่วมมือโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ทำให้ลาวชูนโยบาย “แบตเตอร์รี่แห่งเอเชีย” โดยมีแผนสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าจำนวนมากในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีนักลงทุนนานาชาติเข้าไปลงทุน อาทิ จีน เกาหลีใต้ และไทย และบางส่วนของแผนการสร้างได้ระงับไว้ก่อน เช่นเดียวกับที่กัมพูชาซึ่งมีแผนการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงได้ชะลอออกไปจนถึงปี 2573

เป็นเรื่องปกติที่บรรดารัฐในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงพิจารณาปริมาณการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอ ทว่ากระแสของโลกมีการนำเสนอทางเลือกแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการตั้งรับและปรับตัวให้ยืดหยุ่นกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (climate resilience and adaptation) ที่จะยิ่งเข้ามาเพิ่มความยุ่งยากในการจัดการปัญหาและความเปราะบางของชุมชนต่อภัยพิบัติรูปแบบต่าง ๆ ข้อถกเถียงที่นอกเหนือไปจากความคุ้มทุนและจำเป็นระหว่างปริมาณการผลิตพลังงานที่ได้จากเขื่อนจำนวนมากกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่แท้จริง ยังรวมถึงศักยภาพของเขื่อนสามารถพัฒนาแหล่งไฟฟ้าที่เป็นการปกป้อง รักษา และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้หรือไม่ สามารถรักษา “ความยั่งยืน” ของแหล่งความมั่นคงทางอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ และวิถีชีวิตความเป็นชุมชนได้หรือไม่ หากมีผลกระทบที่มีนัยของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญแล้วอาจต้องทบทวนทางเลือกของแหล่งพลังงานใหม่

ความแข็งขันในการปกป้องชุมชนและแหล่งน้ำเพื่อชีวิต เห็นได้จากเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดที่มีแนวคิดจัดตั้ง “สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง” เพื่อยกระดับการเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและขบวนการพัฒนาลุ่มน้ำโขง สร้างวิสัยทัศน์และกระบวนการความร่วมมือและอนุรักษ์พัฒนา โดยคำนึงถึงประชาชนและเป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อม

(3)

“SDG17: ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

อย่างไรก็ดี แม่น้ำระหว่างประเทศสายนี้มีผลประโยชน์ที่หลากหลายร่วมกันและมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วนจากหลายประเทศซึ่งไม่จำกัดแต่เพียงภาครัฐ จึงต้องมีการบริหารจัดการในลักษณะข้ามพรมแดน (transboundary management) พึ่งพาความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อสิทธิในการใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน

กลไกสำหรับการหารือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่มีอยู่ อาทิ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และ GMS อาจไม่ครอบคลุมประเด็นสิ่งแวดล้อม กลไกที่สำคัญประการหนึ่ง คือ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ประกอบไปด้วย 4 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง (ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย) และครอบคุลมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ใช่ภาครัฐด้วย โดย MRC มีหน้าที่สร้างหลักประกันการพัฒนาที่ยั่งยืน การใช้ประโยชน์ การบริหารจัดการ การอนุรักษ์ “น้ำ” และทรัพยากรของลุ่มแม่น้ำโขงอย่างมีเหตุผลและเท่าเทียม โดยไม่ส่งผลกระทบอันตรายแก่ประเทศอื่น โดยรัฐมีผลผูกพันกับข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 (Mekong River Agreement: MRA, 1995) อาทิ ก่อนการสร้างเขื่อนจะต้องมีการรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน นอกจากนี้ ยังมีกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Lancang-Mekong Cooperation: LMC) เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ (ซึ่งมีเมียนมาร์และจีนเพิ่มขึ้นมาจาก MRC) การใช้กลไกทั้งสองเพื่อหารือในระดับชุมชน ประเทศ และภูมิภาค จะช่วยในเรื่องการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพื่อการคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ ความเป็นชุมชน และเศรษฐกิจบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงได้

แหล่งอ้างอิง:

สรุปสถานการณ์แม่น้ำโขง สำหรับลูกหลานแม่น้ำโขง 2020
รายงานสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง สำนักวิจัย พัฒนาและอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
WWF-ประเทศไทย
แม่น้ำโขงกับการพัฒนาของระบบทุนนิยม
ทำไมลาวต้องดึงดันสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงทั้งที่ไม่จำเป็น?
รายงานสถานการณ์แม่น้ำโขง ผลกระทบจากเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนจีน และเขื่อนไซยะบุรี
ต้องเลิกสร้างเขื่อน และสนใจระบบนิเวศน์ คุยเรื่องแม่น้ำโขง กับ อ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
POLICY BRIEF: Shaping the Future of Mekong Regional Architecture: Reinforcing Transboundary Water Governance Through Reciprocity
Will climate change spell the end of coal and hydropower in the Mekong?

Last Updated on เมษายน 6, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น