SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 3 ประจำเดือนมิถุนายน 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  10 – 16 มิถุนายน 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดร้องเอกชนให้ยุติการสร้างเหมืองแร่โปแตช 

วันที่ 13 มิถุนายน 2566 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กว่า 50 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายกเทศบาลตำบลหนองบัวตะเกียด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ขอให้มีคำสั่งระงับการดำเนินการขุดเจาะพื้นที่เพื่อทำเหมืองแร่โดยต้องรื้อถอนสิ่งก่อสร้างทั้งหมดออกจากพื้นที่ในทันที และชี้แจงหลักฐานการขออนุญาตดำเนินการเหมืองแร่โปแตช ประทานบัตรที่ 28831/16137 ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด 

พร้อมกันนั้นยังขอให้เปิดเผยข้อมูลการเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบได้รับทราบ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการดังกล่าวเป็นที่น่ากังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำสาธารณะและฝายกักเก็บน้ำของชุมชน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG6 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  6.6 ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ SDG15 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.1 สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม

เข้าถึงได้ที่: ‘ฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด’ ยื่นหนังสือ ยับยั้งบริษัทฯ เทแท่นปูน เตรียมเจาะ อุโมงค์เหมืองใหม่ (ประชาไท) 

สมาคมเพื่อนโรคไตฯ ร่วมกับ สปสช. สร้างเครือข่ายหวังลดจำนวนผู้ป่วยไตรายใหม่

วันที่ 12 มิถุนายน 2566 สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีเชื่อมร้อยสานพลังภาคีเครือข่ายเพื่อนโรคไตทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10-11  มิถุนายน 2566 โดยมีสมาชิกเครือข่ายเพื่อนโรคไตจาก 6 ภูมิภาค พยาบาล ผู้ดูแล จิตอาสา และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวมประมาณ 70 คนเข้าร่วมประชุม 

สำหรับสิ่งที่ สปสช. จะขับเคลื่อนในภาพรวมเกี่ยวกับโรคไตนั้น มี 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ในมุมของประชาชน สปสช. เน้นการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อช่วยกันชะลอจำนวนผู้ป่วยไตวายรายใหม่ 2) การสนับสนุนให้เครือข่ายภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) มาใช้ขับเคลื่อนเพื่อสร้างการตระหนักรู้ด้านสุขภาพและการปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคไต และ 3) การสร้างภาคีเครือข่ายภาคประชาชนให้เข้มแข็ง รวมทั้งใช้กลไก สปสช. เขต ในการส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม และ 3.8 บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน และ SDG 17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

เข้าถึงได้ที่: สปสช. หนุนเครือข่ายผู้ป่วยโรคไต ใช้กลไก กปท.ขับเคลื่อน ชะลอผู้ป่วยไตรายใหม่ (ประชาไท)

เยาวชนรัฐมอนทานารวมตัวฟ้องรัฐ เหตุละเลยผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Mica Kantor เด็กหนุ่มวัย 15 ปีพร้อมกับเยาวชนชาวรัฐมอนทานา สหรัฐอเมริกา อีก 15 คน รวมตัวกันฟ้องร้องศาลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ทำให้เกิดไฟป่าเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจวัตรประจำวันของพวกเขา โดยกลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐกำลังละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วยการไม่รักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาด และขอให้ผู้พิพากษาพิจารณาว่ากฎหมายของรัฐขัดต่อตัวรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งทำให้ตัวรัฐบาลท้องถิ่นเองไม่จำเป็นต้องสนใจผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ด้าน Cathy Whitlock ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านวิทยาศาสตร์โลกที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอนทานา เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่าไฟป่าของมอนทานานจะยิ่งเลวร้าย เพราะความร้อนและสภาพอากาศที่แห้งจะกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ตามข้อมูลของ NOAA (หน่วยงานด้านชั้นบรรยากาศและมหาสมุทร) ระบุว่ามอนทานาจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 0.29 C ในทุกทศวรรษเพราะโลกร้อน 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม

เข้าถึงได้ที่: ‘ชีวิตของฉัน บ้านของฉัน’ Mica Kantor หนุ่มวัย 15 ปีพร้อมกับเยาวชนชาวมอนทานาอีก 15 คน รวมตัวกันฟ้องร้องศาลเกี่ยวการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Environman)

รัฐบาลสิงคโปร์เปิดตัวคู่มือประชาชนรับมืออากาศร้อนจัดจากเอลนีโญ

รัฐบาลสิงคโปร์เปิดตัวคู่มือประชาชนรับมืออากาศร้อนจัดจากเอลนีโญ โดย เกรซ ฟู รัฐมนตรีกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมสิงคโปร์ กล่าวว่า คู่มือนี้จะเผยแพร่ให้ชาวสิงคโปร์ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยในคำแนะนำจะระบุถึงการวางแผนกิจกรรมและมาตรการป้องกันที่ต้องดำเนินการ หรือแม้แต่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่จะสวมใส่สำหรับกิจกรรมกลางแจ้งภายใต้สภาพอากาศอันร้อนระอุ

คู่มือดังกล่าวจัดทำขึ้นเนื่องจากความกังวลถึงผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) เพิ่งออกรายงานใหม่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่านี่จะเป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิโลกมีโอกาสทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส อันเนื่องมาจากสาเหตุใหญ่คือ “เอลนีโญ” ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาสิงคโปร์ ก็ระบุว่ามีโอกาสประมาณ 70% ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ ซึ่งจะทำให้สภาพอากาศทั่วโลกร้อนและแห้งแล้งมากขึ้น โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสิงโปร์มีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 40 ปี โดยวัดได้ที่ 37 องศาเซลเซียส

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ เป้าหมายย่อยที่ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และเป้าหมายย่อยที่ 13.3 พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เข้าถึงได้ที่: สิงคโปร์ เปิดตัวคู่มือการใช้ชีวิตรับมือเอลนีโญและสภาพอากาศร้อนจัด (Nation Online)

รายงานฉบับล่าสุดของ UNHCR ชี้ผู้พลัดถิ่นเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) เผยแพร่รายงานประจำปีที่สำคัญขององค์การ ระบุ ณ สิ้นปี 2565 พบจำนวนผู้ผลัดถิ่นจากเหตุแห่งสงคราม การประหัตประหาร ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ที่ 108.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 มากถึง 19.1 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นจาก 27,300 คน ณ สิ้นปี 2564 เป็น 5.7 ล้านคน ณ สิ้นปี 2565 นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นอีกปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน อย่างไรก็ดีเงินทุนสำหรับช่วยเหลือการพลัดถิ่นและการสนับสนุนประเทศที่มีผู้ผลัดถิ่นยังคงไม่เพียงพอสำหรับปี 2565 จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาดังกล่าว 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน  SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.7 อำนวยความสะดวกในการอพยพและเคลื่อนย้ายคนให้เป็นไปด้วยความสงบ ปลอดภัยเป็นไปตามระเบียบ และมีความรับผิดชอบ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.5 ลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดจนลดความสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจเทียบเคียงกับGDP ของโลก ที่เกิดจากภัยพิบัติ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศและ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.3 ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา

เข้าถึงได้ที่: UNHCR calls for concerted action as forced displacement hits new high of 110 million (UN)

รายงานล่าสุดของ UNDP ระบุคนครึ่งโลกยังคงเชื่อว่าผู้ชาย
สามารถเป็นผู้นำทางการเมืองได้ดีกว่าผู้หญิง

วันที่ 12 มิถุนายน 2566 UNDP เผยแพร่รายงาน ‘Gender Social Norms Index (GSNI) report’ ฉบับล่าสุด ระบุข้อค้นพบที่น่าสนใจเกี่ยวกับเท่าเทียมทางเพศหลายประการ เช่น 1) คนกว่าครึ่งโลกยังคงเชื่อว่าผู้ชายสามารถเป็นผู้นำทางการเมืองได้ดีกว่าผู้หญิง 2) คนกว่า 40% ของโลกเชื่อว่าผู้ชายบริหารธุรกิจได้ดีกว่าผู้หญิง 3) คนกว่า 25% ของโลกเชื่อว่าการที่ผู้ชายทุบตีทำร้ายภรรยานั้นเป็นเรื่องเหมาะควรที่กระทำได้ 4) โดยเฉลี่ยแล้ว ส่วนแบ่งของผู้หญิงในฐานะประมุขของรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลยังคงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2538 ขณะที่ในตลาดแรงงานพบว่าผู้หญิงครองตำแหน่งผู้บริหารน้อยกว่าหนึ่งในสาม และ 5) แม้ว่าผู้หญิงมีทักษะและการศึกษามากกว่าที่เคยเป็นมา แต่ใน 59 ประเทศที่ผู้หญิงได้รับการศึกษามากกว่าผู้ชาย พบว่าช่องว่างรายได้ระหว่างเพศโดยเฉลี่ยยังคงเอื้อต่อผู้ชายถึง 39 เปอร์เซ็นต์

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG5 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 5.1 ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่ เป้าหมายย่อยที่ 5.2 ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิง และเป้าหมายย่อยที่ 5.a ดำเนินการปฏิรูปเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิที่เท่าเทียมในทรัพยากรทางเศรษฐกิจ

เข้าถึงได้ที่: New UN report reveals chronic bias against women over last decade (UN)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น