MRC ออกยุทธศาสตร์พัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงใหม่ ตั้งระยะเวลาที่ 10 ปี จัดการน้ำให้ยั่งยืนคล้องกับกรอบเวลาของ SDGs

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) องค์กรระหว่างรัฐบาลกัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนาม เผยแพร่ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงระยะ 10 ปี พ.ศ. 2564 – 2573 และแผนปฏิบัติงานของ MRC ฉบับใหม่ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2564 – 2568 (Basin Development Strategy 2021 – 2030 & MRC Strategic Plan 2021 – 2025) จากเดิมที่ยุทธศาสตร์มีระยะ 5 ปีเท่านั้น เพื่อให้กรอบเวลาสอดคล้องกับ SDGs ให้การประสานความร่วมมือในการบริหารจัดการความท้าทายใหม่ของแม่น้ำโขงตอนล่างดีขึ้น เข้มแข็งและ ‘เชิงรุก’ มากขึ้น ให้การพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมีความสมดุล รวมถึงว่าประเทศเหล่านี้ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียสามารถนำยุทธศาสตร์ไปดำเนินการต่อผ่านโครงการและแผนงานของตนได้

โดยยุทธศาสตร์ฯ เน้นที่ 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

  1. การพัฒนาหน้าที่เชิงระบบนิเวศ (ecological functions) ของแม่น้ำโขง เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและชุมชนที่อาศัยอยู่รอบแม่น้ำโขงมีผลิตภาพ
  2. การพัฒนาการเข้าถึงและการใช้น้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อสุขภาวะที่ดีของชุมชน
  3. การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึงและครอบคลุม 
  4. ความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ และ
  5. การยกระดับความร่วมมือระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ ก่อนจะมาเป็นยุทธศาสตร์ฉบับนี้ MRC ได้ถอดบทเรียนจากยุทธศาสตร์เดิม หารือร่วมกันกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาทุกภาคส่วน ศึกษารายงานสถานการณ์ของลุ่มแม่น้ำโขง ความท้าทายและโอกาสของการพัฒนา รวมถึงประเมินการศึกษา ‘ผลกระทบ’ ของการใช้ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรอื่น ๆ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และเขื่อน ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการไหลของน้ำ การพัดพาตะกอน และการกัดเซาะตลิ่งที่เพิ่มขึ้น ที่ทำให้ปริมาณดินตะกอนบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงลดลง จำนวนประชากรปลาตามธรรมชาติลดลง เช่นเดียวกับความอุดมสมบูรณ์ทางสิ่งแวดล้อมและที่ราบที่น้ำท่วมถึง โดยที่สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงยังเข้ามาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยทำให้สถานการณ์ไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยและภัยแล้งที่บ่อยขึ้น

ส่วน MRC เองก็จะมีบทบาทอย่างยิ่งตามยุทธศาสตร์ขององค์กรฯ ผ่าน 95 กิจกรรมและ 86 ผลงานที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการฯ โดยจะมีการประเมินเชิงรุก ระบุทางเลือกใหม่ในการเก็บกักน้ำ การไหลของน้ำ ขีดจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะด้านโครงการร่วมลงทุนในลุ่มแม่น้ำและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการจัดการด้านภัยพิบัติ ความมั่นคงด้านน้ำและพลังงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดย MRC ยังได้ทำงานภายใต้กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงด้วย เพื่อให้มีการแจ้งเตือนด้านน้ำที่ทันเวลา

แหล่งที่มา:
https://www.mrcmekong.org/news-and-events/news/pr-05042021/
https://www.mrcmekong.org/assets/News/Thai_MRC-unveils-new-10-year-strategy-and-5-year-action-plan.pdf

Last Updated on เมษายน 16, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น