Site icon SDG Move

7 ประเทศเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ติดอันดับใน 40 ประเทศแรกที่น่าลงทุนด้านพลังงานสะอาดมากที่สุด

7 ประเทศเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกจัดอยู่ในลำดับ 40 ประเทศแรกที่ ‘น่าดึงดูดที่สุดในโลกสำหรับการลงทุนด้านพลังงานทดแทน/พลังงานสะอาด’ ได้แก่ จีนที่อันดับ 2 (รองจากสหรัฐฯ ที่อันดับ 1 หลังจากหวนคืนข้อตกลงปารีส และตามมาด้วยอินเดียที่อันดับ 3) ญี่ปุ่น (8) เกาหลีใต้ (17) ไต้หวัน (28) ขณะที่เพื่อนบ้านฝากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีฟิลิปปินส์ (31) เวียดนาม (34) และไทย (39) – ตามการจัดอันดับ The Renewable Energy Country Attractiveness Index (RECAI) ฉบับพฤษภาคม 2564 โดยบริษัท Ernst & Young (EY) ที่ให้บริการด้านที่ปรึกษา-ตรวจสอบบัญชี-บริหารความเสี่ยง

โดยทั้งสองอนุภูมิภาคของเอเชียต่างมีความต้องการด้านพลังงานสะอาดเพิ่มสูงขึ้น และมี ‘จุดขาย’ ที่ต่างกันไป ทั้งในแง่ที่เอเชียตะวันออกได้แสดงความมุ่งมั่นจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเปราะบางต่อความผันผวนของภาวะโลกรวน มีความต้องการพลังงานสะอาดที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายในปี 2583 (2040)

‘จุดขายหรือจุดดึงดูด’ ที่เรียกนักลงทุนให้มาลงทุนใน 7 ประเทศข้างต้นนั้นแตกต่างกันไป จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นมีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนในด้านพลังงานสะอาดและการให้คำมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ดังนั้น สำหรับนักลงทุนนานาชาติแล้วจึงเป็นประเทศที่มี ‘ศักยภาพสูง’ ทั้งด้านห่วงโซ่อุปทานและเทคโนโลยี ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงมีประชากรกว่า 45 ล้านคนยังอาจไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้โดยที่คาดว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นราว 25% ในแง่นี้พลังงานสะอาดยิ่งทวีบทบาทสำคัญเพื่อตอบความต้องการที่มีเพิ่มขึ้น และเป็นจุดที่นักลงทุนเห็นว่าการลงทุนจะเป็นประโยชน์

ทำให้บรรดาผู้ลงทุนเห็นช่องทางหรือศักยภาพของการผลิตพลังงานทดแทนที่จะตอบสนองต่อความต้องการที่มีมากขึ้นดังกล่าว ในขณะเดียวกับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการพึ่งพาถ่านหิน ลดการสนับสนุนทางการเงินในพลังงานฟอสซิล ไปพร้อมกับตอบโจทย์วาระของบริษัทที่เร่งเดินหน้าตาม ‘การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล’ (Environmental, Social and Governance: ESG) มากขึ้นกว่าเดิมโดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์โรคระบาดเป็นต้นมา

นอกจากนี้ ในแง่ของ ‘ความก้าวหน้า’ ด้านพลังงานสะอาด งานวิจัยของ EY เมื่อปี 2563 ระบุว่า โครงการเกี่ยวกับพลังงานสะอาดมากกว่า 800 โครงการของอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม รวมกันแล้วมีมูลค่าการลงทุนราว ๆ 316 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่าความก้าวหน้าได้แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ ในกรณีของฟิลิปปินส์มีการดำเนินการห้ามการใช้เงินทุนในถ่านหิน ปี 2563 เวียดนามติดตั้งแผงโซลาเซลล์บนดาดฟ้าเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 9 กิกะวัตต์ เติบโตเร็วเป็นอันดับ 3 ของโลก ในปีเดียวกัน จีนได้เพิ่มพลังงานลม 72.4 กิกะวัตต์มากกว่าทุกประเทศรวมกัน ขณะที่ไต้หวันที่มีการออกโรดแมปและเป้าหมายอย่างชัดเจน โดยที่ไทยไม่ได้มีการเพิ่มศักยภาพในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม รวมถึงว่ากัมพูชาและอินโดนีเซียเองยังไม่มีการประกาศนโยบายพลังงานสะอาดที่เป็นการดึงดูดนักลงทุนเลย

บทวิเคราะห์ของ EY ชี้ว่าศักยภาพการลงทุนด้านพลังงานสะอาดในโลกเพิ่มขึ้น 2% เป็น 303.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 เป็นตัวเลขที่มากเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ โดยสามารถมองได้จากมุมของการลงทุน แต่ถึงแม้จะมีนักลงทุนให้ความสนใจมากขึ้น ประเด็นเรื่องการมี ‘เงินทุน’ (financing) ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในภูมิภาคนี้ในภาพรวม และการจะไปถึงจุดหมายของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้ EY ย้ำว่าจะต้องรุดหน้าสู่พลังงานสะอาดให้เร็วกว่านี้ และต้องลงทุนมากขึ้นที่ประมาณ 5.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมกับที่การขับเคลื่อนด้านพลังงานสะอาดจะต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่องและเต็มที่

นอกจากนี้ EY มองว่าเวที COP26 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้เห็นว่ารัฐบาลแต่ละประเทศได้ให้คำมั่นไว้ว่าอย่างไรและการดำเนินงานจริงจนถึงปัจจุบันนั้นเป็นเช่นนั้นหรือไม่ โดยระบุว่าผู้นำโลกจะต้องพยายามไปให้ถึงเป้าหมายของการมี ‘ความโปร่งใส’ ในการจัดทำแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีการให้แรงจูงใจทางตลาด เช่น การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) รวมถึงการไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินกับพลังงานฟอสซิล เป็นต้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 เข้าถึงพลังงานสะอาด
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.a) ในด้านการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
– (7.b) ขยายโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับบริการพลังงานสมัยใหม่และยั่งยืนให้โดยถ้วนหน้าในประเทศกำลังพัฒนา ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
–  (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

แหล่งที่มา:
https://www.ey.com/en_gl/recai/is-finance-the-biggest-hurdle-in-the-race-to-net-zero
https://www.eco-business.com/news/east-asia-firmly-established-as-attractive-investment-destination-for-renewables/

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version