คลื่นความร้อน คุกคาม ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ รัฐบาลทั้งภูมิภาคเตรียมมาตรการรับมือ – ภาคเกษตรไทยได้รับผลกระทบ

รัฐบาลทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างหามาตรการต่อสู้เพื่อรับมือกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น โรงเรียนหลายพันแห่งในประเทศฟิลิปปินส์ประกาศหยุดการเรียนการสอนในห้องเรียน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่วนประเทศอินโดนีเซีย ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งมาเป็นระยะเวลานานส่งผลให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น ขณะที่ในน่านน้ำทะเลไทย มีอุณหภูมิสูงขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ปะการังถูกทำลาย

คลื่นความร้อน (heat wave) ที่รุนแรงในประวัติการณ์กำลังเกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการจดบันทึกสถิติโดยนักอุตุนิยมวิทยาช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบความร้อนพุ่งสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น มินบู ประเทศเมียนมา พบว่ามีอุณหภูมิสูงถึง 44 องศาเซลเซียส ขณะเดียวกันทางตอนใต้ของประเทศไทย เช่น หาดใหญ่ พบว่ามีอุณหภูมิสูงแตะ 40.2 องศาเซลเซียส ส่วนทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม มีอุณหภูมิสูงถึง 40.6 องศาเซลเซียส ซึ่งตัวเลขนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ในช่วงเวลานี้ของปีจะเห็นได้ว่าหลายประเทศในภูมิอากาศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นอย่างมากครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ก่อนหน้านี้องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) ออกมาเตือนว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับความร้อนอย่างรุนแรง ซึ่งเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่พบอุณหภูมิสูงแตะถึง 30 องศาเซลเซียสอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยตามฤดูกาลอย่างมาก ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดที่เกิดขึ้นนี้ มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ รวมถึงปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดความแห้งแล้งและสภาพอากาศที่ร้อนจัด

จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้รัฐบาลทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องต่อสู้เพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ ประกาศให้โรงเรียนเกือบ 4,000 แห่ง ระงับการเข้าเรียนในห้องเรียน เนื่องจากดัชนีความร้อนที่ทะลุถึง 42 องศาเซลเซียสในบางพื้นที่ ส่งผลระดับอันตรายอาจก่อให้เกิดตะคริวและอ่อนเพลียได้ ซึ่งการประกาศหยุดเรียนสาเหตุเกิดจากห้องเรียนนั้น ไม่ทนทานต่อสภาพอากาศที่ร้อนจัด โดยแต่ละห้องมีอัตรานักเรียนหนึ่งห้องต่อ 60 – 70 คน ทำให้ไม่สามารถระบายอากาศได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ยังพบว่านักเรียนไม่มีสมาธิในการเรียน และที่น่ากังวลที่สุดคือปัญหาสุขภาพ พบเลือดออกทางจมูก ทำให้ Alliance of Concerned Teachers (ACT) เรียกร้องให้ปรับตารางเรียน เพื่อให้นักเรียนได้พักในช่วงเดือนที่ร้อนที่สุด ขณะที่ สิ่งที่รัฐบาลกำลังค่อย ๆ ดำเนินการ คือการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในการจ้างครูและสร้างห้องเรียนที่ทนต่อสภาพอากาศ

นอกจากนี้ อากาศที่ร้อนจัดยังสร้างหายนะเเก่ภาคเกษตรกรรม เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งเป็นเวลานานในปีที่แล้ว ประธานาธิบดี จึงได้สั่งการให้ทหารช่วยชาวนาปลูกข้าวเมื่อฝนมาถึงในเดือนธันวาคม เนื่องจากราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นมากถึง 16% ขณะที่ ประเทศเวียดนาม มีระดับน้ำในลำคลองน้อยมาก ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ประสบปัญหาไม่สามารถเพาะปลูกและส่งพืชผลได้

ส่วน ประเทศไทย ตามการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจของประเทศ พบว่าภาคการเกษตรผลิตพืชผลได้ลดลง ส่งผลให้หนี้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึง 8% ในปีนี้ และด้วยอากาศที่ร้อนจัด สร้างความเสี่ยงต่อการทำลายปะการังและปลาในอ่าวไทย เพราะหากความร้อนเพิ่มขึ้นปะการังอาจเกิดการฟอกขาวและกระทบต่อปลาในฟาร์มเลี้ยงปลาอาจตาย ซึ่งเสี่ยงที่จะสร้างหนี้ก้อนโตให้กับเกษตรกร ส่วน ประเทศมาเลเซีย ทางการได้เริ่มวางระบบการทำฝนเทียม (Cloud Seeding) ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการที่ฝนไม่ตก

กล่าวได้ว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องประสบกับปัญหาคลื่นความร้อนอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวจำเป็นต้องหามาตรการหรือวิธีในการลดภาวะโลกร้อนและบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นซึ่งไม่เพียงแต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นแต่รวมถึงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกด้วย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ยุติความหิวโหย
– (2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาคุณภาพของดินและที่ดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ

แหล่งที่มา: Schools close and crops wither as ‘historic’ heatwave hits south-east Asia | Extreme heat – The Guardian

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น