SDG Updates | เปิดรายงาน ESCAP เอเชีย-แปซิฟิก ฉบับเจาะลึกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA)

โดย พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับความก้าวหน้าของ SDGs ที่สวนทางกับภูมิภาคอื่น

SDG Updates ฉบับก่อนหน้าได้นำเสนอความก้าวหน้าของการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไปแล้ว สำหรับในฉบับนี้จะเป็นการทบทวนสถานการณ์การดำเนินงานตาม SDGs เจาะลึกเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South-East Asia : SEA)

ภาพรวมของเอเชียแปซิฟิก

ในการจัดทำรายงานความก้าวหน้า Asia and the Pacific SDG Progress Report นั้นจะทำการเก็บข้อมูลและแสดงผลการดำเนินงานโดยแบ่งภูมิภาคและ กลุ่มภูมิภาคออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 

  1. ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
  2. ภูมิภาคเอเชียเหนือและเอเชียกลาง   
  3. กลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก
  4. กลุ่มภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้  และ
  5. ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในภูมิภาคนี้

สถานการณ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น

ในภาพรวมเมื่อนำสถานะความก้าวหน้าของ SDGs ของแต่ละภูมิภาคมาเปรียบเทียบกันจะเห็นได้ว่า แต่ละภูมิภาคมีเป้าหมายที่ก้าวหน้าและถดถอยแตกต่างกัน โดยเป้าหมายที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากคือ SDG 4 การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม มึความก้าวหน้าอยู่ในระดับสูง (สีฟ้าเข้ม) เช่นเดียวกับกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคเอเชียเหนือและเอเชียกลาง   อีกเป้าหมายหนึ่งคือ SDG 9 การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม เป็นภูมิภาคที่มีความก้าวหน้าในเป้าหมายดังกล่าวในระดับสูงที่สุดเมื่อเทียบกับทุกภูมิภาค

ส่วนเป้าหมายที่มีความถดถอยนั้นจากข้อมูลตัวชี้วัดที่มีอยู่ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการดำเนินตาม SDG 10 ลดความเหลื่อมล้ำทั้งในและระหว่างประเทศ  น้อยลงทำให้เป็นเพียงภูมิภาคเดียวที่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในภูมิภาคแย่ลง (สีชมพูอ่อน) ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ล้วนมีความก้าวหน้าในทางที่ดีขึ้น อีกเป้าหมายหนึ่งคือ SDG 16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และ ครอบคลุมในทุกระดับ จากข้อมูลพบว่าสถานการณ์ในด้านดังกล่าวถดถอยเป็นอย่างมากเช่นเดียวกับกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก

สถานการณ์ SDGs ของภูมิภาค SEA ที่มีความก้าวหน้า

SDG 1 ขจัดความยากจน

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการต่อสู้กับความยากจน
ซึ่ง ‘ความยากจน’ ในที่นี้วัดจากประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนระหว่างประเทศกำหนดไว้ที่ $1.90 ต่อวันในปี 2011 PPP dolar  โดยสัดส่วนของประชากรในภูมิภาคที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนลดลงจากร้อยละ 30 ในปี 2000 เป็นร้อยละ 5 ในปี 2017  หากยังคงมีการดำเนินการที่ก้าวหน้าสม่ำเสมอภูมิภาคนี้ก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายในการขจัดความยากจนได้ในปี 2030 

ทั้งนี้ พึงสังเกตว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการพิจารณาจากข้อมูลรายได้ของประชากรทั้งโลก ซึ่งเป็นการมองในภาพรวมทำให้เส้นความยากจนจึงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ การจะพิจารณาในระดับประเทศ หรือพื้นที่ที่เล็กลงนั้นอาจจำเป็นต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ ตามบริบทของพื้นที่นั้นประกอบเช่น ค่าครองชีพ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีบางประเทศในภูมิภาค SEA ที่ยังต้องใช้ความพยายามอีกมากในการขจัดความยากจนได้แก่ ติมอร์–เลสเต ในปี 2014 ประชากรยังคงประสบภาวะความยากจนขั้นรุนแรงคิดเป็นร้อยละ 30.7 ของประชากรทั้งหมด ถึงแม้ว่าจะมีการดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่กลุ่มประชากรบางกลุ่มก็ยังจัดเป็นกลุ่มผู้มีความเปราะบาง ไม่มีความเข้มแข็งทางการเงิน โดยมีเพียงร้อยละ 29.2 ของประชากรสูงอายุเท่านั้นที่ได้รับบำนาญตามกฎหมาย ซึ่งความท้าทายนี้จะทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย

SDG 3 สร้างหลักประกันว่าด้วยคนมีชีวิตที่มีสุขภาพและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย

ความก้าวหน้าอย่างมากในการดูแลสุขภาพของภูมิภาคนี้คือการรับมือกับโรคมาลาเรีย นอกจากนี้ยังประสบความสำเร็จในการลดอัตราการตายของมารดา การตายของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี การลดการป่วยจากสารเคมี รวมถึงมีการสนับสนุนพัฒนาวัคซีนและยายังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นดังเห็นได้จากแผนภาพสถานการณ์ SDGs ในระดับ target ชี้ให้เห็นว่าประเด็นดังกล่าวถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสีเขียวคือมีความก้าวหน้ามาขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสถานการณ์รายประเทศจะพบว่า แนวทางการพัฒนาระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศนั้นมีความก้าวหน้าต่างกัน เช่น อัตราการตายของมารดาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, พม่า, ติมอร์-เลสเตอาจสูงกว่าประเทศอื่นๆ เช่น  บรูไนดารุสซาลาม, ไทย, สิงคโปร์ถึง 10 เท่า

SDG 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ภูมิภาคมีความก้าวหน้าในการจัดการศึกษาให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมทั้งชายหญิง และสามารถเข้าถึงการศึกษาวิชาเทคนิค อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยที่มีราคาที่สามารถจ่ายได้และมีคุณภาพ  แต่ก็ยังมีความท้าทายในการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษา ทำให้สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ  แม้ว่าโรงเรียนประถมศึกษาส่วนใหญ่ในประเทศที่มีรายได้สูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีไฟฟ้าใช้ แต่โรงเรียนในพม่าและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประมาณสองในสามนั้นยังไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้

SDG 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม

ภูมิภาคมีความก้าวหน้าในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการวิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการให้มีสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่นำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์  และการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสารและจัดให้มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยถ้วนหน้าในราคาที่สามารถจ่ายได้เพิ่มมากขึ้น

สถานการณ์ SDGs ของภูมิภาค SEA ที่มีความถดถอย

ในการจัดทำรายงานฉบับนี้มีการคำนวณและคาดการณ์แนวโน้มว่าประเด็นการพัฒนาใดมีแนวโน้มก้าวหน้า และประเด็นใดมีแนวโน้มถดถอยลงเพื่อเป็นการสะท้อนสถานการณ์ให้ประเทศสมาชิกทราบและเร่งปรับแผนดำเนินงาน  จากแผนภาพที่แนบด้านล่างนี้แสดงประเด็นที่มีแนวโน้มสูงว่าจะมีการดำเนินงานที่ถดถอยลง โดยแผนภาพนำเสนอตัวชี้วัดกับระดับคะแนนที่ถดถอย

สำหรับตัวชี้วัดที่มีระดับคะแนนถดถอย (ติดลบ) ต่ำกว่า -50 ได้แก่

  • ตัวชี้วัดที่ 3.5.2 การใช้แอลกฮอล์ในทางอันตราย ในที่นี้หมายรวมถึงการบริโภคแอลกอฮล์ในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  • ตัวชี้วัดที่ 7.2.1 ส่วนแบ่งของพลังงานหมุนเวียนในการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ซึ่งเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนสัดส่วนให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น
  • ตัวชี้วัดที่ 8.1.1 เกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยพิจารณาผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว(GDP) ภายใต้การปรับความเสมอภาคของอำนาจการใช้จ่ายของประเทศ (PPP)  กล่าวคือส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้ความเสมอของทุกประเทศ
  • ตัวชี้วัดที่ 8.2.1  เกี่ยวกับการยกระดับการเติบโตของ GDP ต่อผู้มีงานทำซึ่งเป็นการสัดผลว่าแรงงานมีศักยภาพ มีทักษะมากขึ้น
  • ตัวชี้วัดที่ 16.b.1  ร้อยละการรายงานประชากรที่รู้สึกว่าถูกแบ่งแยก เชื้อชาติหรือถูกข่มขู่ใน 12 เดือนที่ผ่านมาตามข้อบัญญัติพื้นฐานของการห้ามแบ่งแยกเชื้อชาติ ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ  การที่ตัวชี้วัดดังกล่าวมีแนวโน้มถอยหลังเนื่องจาก ภูมิภาคมีความท้าทายในการเลือกปฏิบัติกับชนชาติ ชนพื้นเมือง รวมถึงเรื่องการดูแล ให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่หลายประเทศในภูมิภาคยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องดังกล่าว  
  • ตัวชี้วัดที่ 15.1.1  พื้นที่ป่าไม้ต่อที่ดินทั้งหมด แม้ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีประเทศที่มีสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้สูงถึงร้อยละ 48 ของพื้นที่ที่ดิน แต่เป็นในภูมิภาคเดียวที่มีส่วนแบ่งพื้นที่ป่าไม้ลดลง อัตราการเปลี่ยนแปลงสุทธิของพื้นที่ป่าเป็นลบในสี่ประเทศคือ กัมพูชา, อินโดนีเซีย, พม่าและติมอร์เลสเต
  • ตัวชี้วัดที่ 10.2.1 สัดส่วนของคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 50% ของรายได้มัธยฐาน จำแนกตามอายุและเพศ  การที่ในภูมิภาคมีประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 50% ของมัธยฐานสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างกันของรายได้หากภูมิภาคมีสัดส่วนประชากรดังกล่าวสูงย่อมแสดงว่าประชากรในประเทศมีช่องว่างระหว่าวรายได้มาก ความเหลื่อมล้ำสูง นั่นเอง

Last Updated on พฤศจิกายน 8, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น