SDG Updates | ดัชนี้วัดผลการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม (EPI) กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

สถานการณ์โควิด-19 เผยให้เห็นความจำเป็นของการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบ (resilience) ต้านทานความเสียหายและความท้าทายต่อระบบสาธารณสุข กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ ‘ตัวเรา’ ทำให้เราหวนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมิตร สอดประสานความยั่งยืนในทุกด้านให้เกิดขึ้นทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

SDG Move ชวนผู้อ่านสำรวจดัชนี้วัดผลการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ปี 2563 (Environmental Performance Index: EPI) ในหลากมิติ กับสถานะความยั่งยืนของประเทศ 180 ประเทศ ว่ามีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมใดบ้างที่ส่งเสริมให้โลกมุ่งหน้าสู่ความยั่งยืน มีประเด็นใดที่สามารถเรียนรู้ได้จากกลุ่มประเทศที่มีบทบาทนำและอยู่ในอันดับต้นของโลก ตลอดจน EPI ในฐานะ ‘เครื่องมือทางนโยบาย’ จะสนับสนุนให้เกิดการลงมือทำเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร

ดัชนี้วัดผลการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ปี 2563 (Environmental Performance Index: EPI) หรือ ‘ตัวชี้วัดความยั่งยืน’ โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเยลและมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เป็นการจัดเก็บข้อมูลและข้อเท็จจริงพร้อมพัฒนาตัวชี้วัดผสม (composition index) สำหรับการประเมินประสิทธิผลของการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมใน 180 ประเทศทั่วโลก 8 ภูมิภาค ซึ่งจะมีการอัปเดทผลลัพธ์ EPI ทุก 2 ปี ชี้แจง 2 ด้านความมุ่งหมาย (policy objectives) อันประกอบไปด้วย 32 ตัวชี้วัดและ 11 ประเด็นปัญหา (categories) แสดงให้เห็นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในหลากมิติที่ส่งเสริมและบ่งชี้ว่าประเทศใดบ้างในโลก ณ ปัจจุบันที่มุ่งหน้าสู่ ‘ความยั่งยืน’ โดยเฉพาะที่สะท้อน ‘นโยบายของประเทศที่มีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม’ ได้อย่างก้าวหน้ามากที่สุด

สุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Health – EH) 4 ประเด็นปัญหา ได้แก่ คุณภาพอากาศ (PM 2.5, เชื้อเพลิงที่ใช้ในบ้าน, โอโซน) สุขาภิบาลและน้ำดื่ม ตะกั่วในสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะของเสีย (ขยะมูลฝอย)

ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ (Ecosystem Vitality – EV) 7 ประเด็นปัญหา ได้แก่ ความหลากหลายทางชีวภาพและถิ่นที่อยู่ (บนบกและมหาสมุทร) ระบบนิเวศ (ต้นไม้ ทุ่งหญ้า พื้นที่ชุ่มน้ำ) การประมง (น้ำจืดและน้ำเค็ม) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยมลพิษ การเกษตร และแหล่งน้ำ

EPI Framework

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายงานและข้อมูล

● รายงานจะเผยแพร่ทุก 2 ปี และในปีที่เป็นเลขคู่ ซึ่งปีต่อไปคือปี 2565 (2022)
● ข้อมูลที่นำมาใช้พัฒนา EPI มาจากองค์การระหว่างประเทศ สถาบันการวิจัยและภาคการศึกษาเป็นหลัก
●ไม่ควรนำคะแนนในแต่ละปีมาเปรียบเทียบกัน เนื่องจากแต่ละครั้งมีการศึกษาด้วยระเบียบวิธีวิจัย ตัวชี้วัด และข้อมูลที่ต่างกันไปที่ทันสมัยที่สุดสำหรับเวลานั้น
● ความท้าทายของ EPI อยู่ที่การวัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่กระจายหรือส่งผลต่อมิติข้ามสาขา


อันดับของประเทศใน 8 ภูมิภาคเป็นอย่างไร ?

เมื่อมาสำรวจดูการจัดอันดับโลก อันดับใน 8 ภูมิภาค และคะแนนแล้ว พบว่า

*หมายเหตุ:
(อันดับโลก, อันดับในภูมิภาค, คะแนน EPI, คะแนนสุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อม EHS,
คะแนนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ EVS)

01 ภาพรวม

20 อันดับแรกของโลก (คะแนนอยู่ในช่วง 82.5 – 71.0) ส่วนใหญ่ทั้งหมดกระจุกที่ประเทศโลกตะวันตก (ยุโรปตะวันตก 16 ประเทศ) และมีเพียง 3 ประเทศนอกกลุ่มที่ติดอันดับ ได้แก่ ญี่ปุ่น (12, 1 ของเอเชียแปซิฟิก, 75.1) สโลวีเนีย (18,1 ของยุโรปตะวันออก, 72.0) และสาธารณรัฐเช็ก (20, 2 ของยุโรปตะวันออก, 71.0)

02 อันดับโลก อันดับภูมิภาค และคะแนนของ 3 ประเทศมหาอำนาจเป็นอย่างไร ?

สหรัฐฯ (24, 21 ของประเทศโลกตะวันตก, 69.3) ดูเพิ่มเติมที่: สหรัฐฯ
รัสเซีย (58, 3 ของอดีตรัฐในสหภาพโซเวียต, 50.5) ดูเพิ่มเติมที่: รัสเซีย
จีน (120, 12 ของเอเชียแปซิฟิก, 37.3) ดูเพิ่มเติมที่: จีน 

03 กลุ่มประเทศ/ภูมิภาค

ประเทศโลกตะวันตก – เป็นกลุ่ม 23 ประเทศ ที่กระจุกตัวในช่วง 30 อันดับแรกของโลก โดย 10 อันดับแรกของโลกเป็นประเทศในยุโรปตะวันตกและสแกนดิเนเวียร์ ที่เดนมาร์กอันดับ 1 ของโลกและของกลุ่มด้วยคะแนน 82.5 ขณะที่มีประเทศอื่นซึ่งไม่ได้อยู่ใน ‘พื้นที่ทางภูมิศาสตร์’ เดียวกัน ได้แก่ ออสเตรเลีย (13, 12, 74.9) นิวซีแลนด์ (19, 17, 71.3) สหรัฐฯ (24, 21, 69.3) รวมทั้งแคนาดา (20, 18, 71.0 ซึ่งได้คะแนนและอันดับโลกเท่ากันกับสาธารณรัฐเช็กและอิตาลี)

10 อันดับแรกของโลกและอันดับแรกของประเทศโลกตะวันตก (Global West)
เป็นประเทศในยุโรปตะวันตกและสแกนดิเนเวียร์

1. เดนมาร์ก 82.56. ออสเตรีย 79.6
2. ลักเซมเบิร์ก 82.37. ฟินแลนด์ 78.9
3. สวิสเซอร์แลนด์ 81.58. สวีเดน 78.7
4. สหราชอาณาจักร 81.39. นอร์เวย์ 77.7
5. ฝรั่งเศส 80.010. เยอรมัน 77.2

ยุโรปตะวันออก – มี 19 ประเทศที่ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในช่วงอันดับโลกที่ 18 – 45 (คะแนนอยู่ในช่วง 72.00-55.2) โดยประเทศสามอันดับแรกในภูมิภาค ได้แก่ สโลวีเนีย สาธารณรัฐเช็ก และกรีซ

อดีตรัฐในสหภาพโซเวียต โดยประเทศสามอันดับแรกในภูมิภาค ได้แก่ เบลารุส (49,1 53.0) อาเมเนีย (53, 2, 52.3) และรัสเซีย (58, 3, 50.5)  

เอเชียแปซิฟิก – เป็นกลุ่มที่อันดับโลกและคะแนนกระจายกันมากโดยประเทศสามอันดับแรกในภูมิภาค ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ (28, 2, 66.5) และสิงคโปร์ (39, 3, 58.1) โดยประเทศในอาเซียนมีอันดับ ดังนี้

ประเทศในอาเซียน 10 ประเทศกับอันดับโลกและคะแนน

1. สิงคโปร์ (39, 58.1, EHS 40.2, EVS 85.0) 6. อินโดนีเซีย (116, 37.8, EHS 43.7, EVS 29.0)
2. บรูไนฯ (46, 54.8, EHS 42.0, EVS 74.0)7. ลาว (130, 34.8, EHS 39.9, EVS 27.2)
3. มาเลเซีย (47, 47.9, EHS 42.9, EVS 55.4) 8. กัมพูชา (139, 33.6, EHS 35.6, EVS 30.5)
4. ไทย (78, 45.4 ซึ่งอันดับโลกและคะแนนเท่ากับ
บอสเนียเฮอเซโกวีนา และเลบานอน,
EHS 43.5, EVS 48.4)
9. เวียดนาม (141, 33.4, EHS 28.5, EVS 46.0)
5. ฟิลิปปินส์ (111, 38.4, EHS 41.1, EVS 34.1) 10. เมียนมาร์ (179, 25.1, EHS 25.4, EVS 24.6)
สถานะของไทยและรายละเอียดในแต่ละด้าน เข้าถึงได้ที่: Thailand

ตะวันออกกลาง โดยประเทศสามอันดับแรกในภูมิภาค ได้แก่ อิสราเอล (29,1, 65.8) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (42, 2, 55.6) และคูเวต (47, 3, 53.6)

ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน โดยประเทศสามอันดับแรกในภูมิภาค ได้แก่ชิลี (44, 1, 55.3) โคลอมเบีย (50,2, 52.9) เม็กซิโก (51, 3, 52.6)

เอเชียใต้ โดยประเทศสามอันดับแรกในภูมิภาค ได้แก่ ภูฎาน (107, 1, 39.3) ศรีลังกา (109, 2, 39.0) มัลดีฟว์ (127, 3, 35.6 ซึ่งอันดับโลกและคะแนนเทากับอูกานดา)\

แอฟริกาซับซาฮารา – เป็นกลุ่มที่ส่วนมากกระจุกตัวช่วงอันดับโลกที่ 120 – 180โดยประเทศสามอันดับแรกในภูมิภาค ได้แก่ เซเชล์ (38, 1, 58.2) กาบอน (76, 2, 45.8) และมอริเชียส (82, 3, 45.1) โดยอันดับโลกที่ 180 คือไลบีเรีย (180, 46, 22.6)


มองดูเอเชียแปซิฟิก

ประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกถูกจัดในอันดับโลกและมีคะแนนที่กระจายกันมาก สะท้อนถึงความหลากหลายของศักยภาพ พัฒนาการทางเศรษฐกิจ และทางการเมือง ญี่ปุ่นซึ่งติดอันดับที่ 12 ของโลก และอันดับที่ 1 ของภูมิภาค มีบทบาทเด่นด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณภาพอากาศ สุขาภิบาลและน้ำดื่มสะอาด ขณะที่ อันดับที่ 2 – 4 อย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน มีฝีมือโดดเด่นในหลายด้าน โดยสิงโปร์ได้คะแนน 99.6 จาก 100 ในด้านการจัดการน้ำ

โดยข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ประเทศชั้นนำด้านความยั่งยืนกลุ่มนี้มีลักษณะร่วมกันบางประการ คือมีประสบการณ์ด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรุดหน้าด้านผลิตภาพ (productivity) ที่คล้ายคลึงกัน ที่ทำให้สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างจริงจังและมีคุณภาพสูง

อย่างไรก็ดี ประเด็นการลดคาร์บอนอย่างเร่งด่วนให้เป็นไปตามเป้าหมายของข้อตกลงปารีสยังคงเป็นความท้าทายหลักของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก


ทำไมยุโรปถึงมีบทบาทนำเรื่อง ‘ความยั่งยืน’

ส่วนใหญ่ของประเทศในกลุ่มนี้เป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) และมีคะแนนอยู่ในลำดับสูงตามการจัดอันดับดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) โดยสำหรับ EPI ถือว่ามีผลงานที่โดดเด่นด้านสุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยเพราะมีการดำเนินตามกรอบนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป มีความพยายามร่วมกันที่จะเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานหมุนเวียน

โดยเดนมาร์กซึ่งอยู่ในอันดับ 1 ของโลกและของกลุ่มมีบทบาทนำในทุกตัวชี้วัด โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการเป็นผู้นำด้านการใช้พลังงานจากกังหันลมและส่งออกเทคโนโลยีด้านนี้

อย่างไรก็ดี ทุกประเทศไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มภูมิภาคใด ยังคงต้องมีการพัฒนาในบางด้านตามแต่ละบริบทของประเทศต่อไป อย่างสหราชอาณาจักรยังคงต้องเน้นการจัดการการประมง โปรตุเกสที่เป็นผู้ส่งออกวัสดุเยื่อกระดาษทำจากยูคาลิปตัส ก็ต้องเร่งหาวิธีจัดการประเด็นนี้ซึ่งกระทบกับจำนวนป่าไม้และการเกิดไฟป่า เป็นต้น


EPI ในฐานะเครื่องมือทางนโยบายเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

EPI ไม่เพียงชี้ให้เห็น ‘คะแนน’ และ ‘อันดับ’ จาก 1 ถึง 180 ทั่วโลกเท่านั้น แต่ได้ทำให้เห็นสถานะความยั่งยืนของประเทศภายในกลุ่มภูมิภาคเดียวกันและภูมิภาคอื่น เปรียบเทียบสถานะระหว่างประเทศในกลุ่มภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจหรือผลการดำเนินงานในแต่ละด้านในลักษณะเดียวกัน ช่วยให้ตระหนักถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (determinants) ในแต่ละด้านที่สนับสนุนให้เกิด ‘ความยั่งยืน’ ประเด็นปัญหาที่ควรจะให้ความสนใจ ให้เกิดการทบทวนเป้าหมายหรือการตั้งเป้าหมายใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม แนะนำแนวทางปฏิบัติที่ใช้ได้จริงให้ผู้กำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถนำไปปรับปรุงหรือเสริมแต่งวาระการพัฒนาที่สำคัญ สร้างทางเลือกทางนโยบาย ตลอดจนการนำไปสู่การหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม

สุดท้ายนี้ EPI มีข้อสังเกตและคำแนะนำโดยสรุป ดังนี้

● การมีนโยบายที่ดีได้ยังขึ้นอยู่กับ ‘ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (GDP per capita)’ เพราะสามารถช่วยให้ลงทุนกับนโยบายและโครงการตามเป้าหมายสุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการสนับสนุนการดำเนินงานเหล่านั้น อย่างเช่น ทำให้มีน้ำดื่มสะอาดและสุขาภิบาลที่ดี ลดมลพิษทางอากาศ ควบคุมขยะอันตราย ไปจนถึงตอบโต้กับวิกฤติการณ์ใดที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่และสุขภาวะที่ดีของมนุษย์ เป็นต้น

● ในทางกลับกัน การเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจที่มากเกินโดยละเลยมิติสิ่งแวดล้อม อาจทำให้ความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนหยุดชะงัก หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ หลักนิติรัฐ และการบังคับใช้กฎหมายหรือกฎระเบียบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ อย่างการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ไม่อาจกระทำได้โดยประเทศเดียว แม้จะเป็นผู้นำในด้านนั้นก็ตาม นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงสถานการณ์ของ ‘ประเทศในซีกโลกใต้’ (Global South) ที่มักมีคะแนน EPI ต่ำ และมีประเด็นต้องดำเนินการเร่งด่วน อาทิ คุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

● ทุกประเทศควรมีการปรับปรุงข้อมูลและวิธีการเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาตัวชี้วัดภายในประเทศที่สอดคล้องหรือสามารถนำมาใช้สะท้อนกับตัวชี้วัดของ EPI ได้ รวมทั้งสามารถนำคำแนะนำและหลักคิดของ EPI มาเป็นแนวทางจัดการนโยบายและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมภายในประเทศได้

แปลและสรุปเรียบเรียงจาก: https://epi.yale.edu/
#SDGWatch #ihpp #SDG2 #SDG6 #SDG7 #SDG8 #SDG9 #SDG11 #SDG12 #SDG13 #SDG14 #SDG15  #SDG16  #SDG17

Last Updated on เมษายน 6, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น