Site icon SDG Move

SDG Updates | หลักสูตรการศึกษาถึงเวลาต้องเปลี่ยน – เมื่อการต่อสู้กับ Climate Change เริ่มต้นที่ห้องเรียน

กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (The United Naions Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) ร่วมกับรัฐบาลประเทศเยอรมนีจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNESCO World Conference on Education for Sustainable Development: ESD) และได้รับรองปฏิญญาเบอร์ลินว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Berlin Declaration on Education for Sustainable Development (ESD) ซึ่งเรียกร้องให้ ESD อยู่ในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับทั่วโลกภายในปี 2025 โดยมีความหวังเพื่อให้การศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและมุมมองของเด็กและเยาวชนเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่กำลังคุกคามทุกชีวิตบนโลก

— และหนึ่งในภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคเรานั้น คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – Climate Change

Education for Sustainable Development (ESD) หรือ การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คือการเรียนรู้เพื่อเสริมพลังผู้เรียนให้สามารถตัดสินใจอย่างมีข้อมูลและมีการกระทำที่มีความรับผิดชอบต่อความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ และความเป็นธรรมทางสังคม เพื่อมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม

| แค่ได้เรียน ก็เปลี่ยนแปลงโลกได้

นอกจากการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรงด้วยความพยายามลดก๊าซเรือนกระจกในวิธีต่าง ๆ หลายงานวิจัยได้นำเสนอข้อค้นพบที่พูดได้ว่า การปรับเปลี่ยนการศึกษาก็จะเป็นอีกหนทางที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศครั้งสำคัญนี้ได้เช่นกัน เพราะการศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Education) ช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างตัวผู้เรียนและปัญหาที่เกิดขึ้นจริงบนโลก ช่วยสร้างความรู้สึกว่าผู้เรียนมีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและนั่นจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการตัดสินใจในชีวิตประจำวันของเด็กและเยาวชนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

งานวิจัยเมื่อปี 2020 แสดงให้เห็นว่า หากนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับสูงและระดับปานกลางเพียง 16% ได้เรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมบนโลกลงไปได้เกือบ 19 กิกะตัน หรือการให้การศึกษาที่มีคุณภาพและเสริมพลังเด็กผู้หญิงทุกคนทั่วโลก เป็นหนึ่งในฉากทัศน์ที่อาจส่งผลลัพธ์ให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงได้ถึง 85 กิกะตันภายในปี 2050 ทั้งนี้เป็นเพราะพวกเขาจะมีการตัดสินใจในชีวิตที่สร้างผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง

จากข้อค้นพบข้างต้น การศึกษาอาจมีพลังมากกว่าการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรงเสียอีก รายงานของ Brooking Institution ที่รายงานผลวิจัยข้างต้น ระบุด้วยว่าการให้การศึกษาอาจมีพลังในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าลงทุนเปลี่ยนมาใช้พลังงานจากกังหันลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อทบทวนหลักสูตรการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาใน 46 ประเทศสมาชิกของยูเนสโก พบว่า 45% ของเนื้อหาหลักสูตรนั้นไม่ได้มีการกล่าวถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมนี้เลยหรือกล่าวถึงแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น


| อยากเรียน แต่หลายโรงเรียนไม่พร้อม

ผู้ปกครอง 80% ในสหรัฐอเมริกา และผู้ใหญ่ 77% ในสหราชอาณาจักร สนับสนุนการเรียนการสอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในห้องเรียน และถึงแม้ว่าครูและผู้บริหารจะกระตือรือร้นที่จะใส่ประเด็นนี้เข้าไปแผนการเรียน แต่ผู้สอนอาจยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ ครูสัดส่วนถึง 86% ในสหรัฐฯ เชื่อว่าควรมีการสอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เกือบ 60% ไม่เคยสอนเรื่องนี้เพราะมองว่าเป็นหัวข้อที่อยู่นอกขอบเขตวิชา และทั้งในสหราชอาณาจักรและยุโรป ครูส่วนใหญ่ต่างก็เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ประเด็นสิ่งแวดล้อมนี้ในห้องเรียน แต่ก็เป็นครูส่วนใหญ่อีกเช่นกันที่รายงานว่าพวกเขาไม่ได้สอนเรื่องนี้ให้นักเรียนและคิดว่าพวกเขาต้องการการเรียนรู้เพิ่มเติมในหัวข้อนี้ก่อนที่จะสามารถสอนได้

แม้ว่าโรงเรียนควรเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการให้ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับนักเรียน แต่หลักสูตรในปัจจุบันไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเด็กและเยาวชนได้แล้ว เห็นได้จากข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนต่างๆ ที่ต้องการให้ผู้นำระดับประเทศดำเนินการอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำให้มั่นใจว่าพวกเขาจะได้รับความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่จำเป็นต่อการสร้างโลกที่ดีขึ้นในอนาคต

จากรายงาน ‘Learn for our planet. a global review of how environmental issues are integrated in education‘ ของยูเนสโก ได้วิเคราะห์แผนการศึกษาและกรอบหลักสูตรการสอนในเกือบ 50 ประเทศ ระบุว่า มากกว่าครึ่งไม่มีเนื้อหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่เลย จึงมีนักเรียนที่คิดว่าพวกเขามีความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับมากเพียง 4% เท่านั้นจากการสำรวจในยุโรป แต่กลับมีนักเรียนถึง 42% ที่รู้สึกว่าพวกเขาได้เรียนรู้เรื่องนี้เพียงเล็กน้อยไปจนถึงแทบจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากโรงเรียน และนักเรียนถึง 57% ต้องการเรียนเรื่องนี้เพิ่มเติม


| เพิ่มการเรียนเรื่อง Climate Change ในการศึกษาภาคบังคับ

Laurent Fabius ประธานการประชุม COP21 ซึ่งได้รับรอง ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2015 กล่าวในการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในปีนี้ว่า “การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มต้นที่โรงเรียน” ดังนั้น รัฐบาลจึงเป็นผู้เล่นที่สำคัญในการกำหนดให้นักเรียนในทุกโรงเรียนได้เรียนรู้เรื่องนี้อย่างทั่วถึง

ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายนปี 2020 นักเรียนทุกระดับชั้น ตั้งแต่อายุ 6-19 ปี ในทุกโรงเรียนของรัฐในอิตาลีได้เรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวิชาหน้าที่พลเมือง ทำให้อิตาลีกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการเรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวิชาบังคับ โดยจะมีชั่วโมงเรียนเรื่องนี้ประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ และยังมีเนื้อหาที่สอดแทรกเข้าไปในวิชาเรียนปกติ เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และภูมิศาสตร์ด้วย

ก่อนหน้านั้นในปีเดียวกัน ทุกโรงเรียนในนิวซีแลนด์ได้ใส่เนื้อหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปในหลักสูตรระดับมัธยมศึกษา แต่ยังไม่ได้กำหนดเป็นวิชาบังคับ โดยเนื้อหาส่วนนี้เขียนขึ้นโดยหน่วยงานวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศ ครอบคลุมการนำเสนอเครื่องมือให้นักเรียนใช้วางแผนการเคลื่อนไหวเพื่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงการสำรวจปรากฏการณ์ eco-anxiety ความวิตกกังวลที่มาจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในหมู่วัยรุ่น

ตามหลังอิตาลีมาด้วยอาร์เจนตินาและเม็กซิโก ซึ่งรัฐบาลทั้งสองประเทศกำลังเดินหน้าเพื่อบรรจุการเรียนหัวข้อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาในหลักสูตรภาคบังคับในโรงเรียน เมื่อมีนาคม 2021 ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรของอาร์เจนตินาได้ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ในการอนุมัติร่างกฎหมายซึ่งกำหนดให้ต้องมีการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม ที่จะรวมถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “ในโรงเรียนทุกระดับและในทุกรูปแบบการศึกษา” และ รัฐบาลเม็กซิโกนั้นได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเด็นความเข้าใจและความเคารพโลกธรรมชาติเป็นข้อกำหนดขั้นพื้นฐานในการศึกษาตั้งแต่เมื่อปี 2019 และปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ที่จะกำหนดให้การศึกษาด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเป็นหัวข้อบังคับในทุกโรงเรียนของเม็กซิโก

ในฝรั่งเศส กำลังมีการอภิปรายกฎหมายว่าด้วยสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ ที่มีแผนจะแก้ไขหลักสูตรการศึกษา ด้วยการเพิ่มข้อกำหนดในการเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไป ในสเปน ฝ่ายนิติบัญญัติได้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ เพื่อปรับปรุงการศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศในแนวทาง ‘cross-cutting’ นั่นคือ ทุกวิชาควรรวมประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปแทนที่จะเป็นการแยกหัวข้อเรียน ซึ่งยังเหลือเวลาอีกหลายเดือนจนกว่าจะถึงการลงคะแนนครั้งสุดท้าย (ข้อมูลเดือนเมษายน 2021)


| เมื่อ Climate Change เปลี่ยนการเรียนในสถาบันอุดมศึกษา

ในการศึกษาระดับอุดมศึกษา การศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนในหลายๆ มหาวิทยาลัยจะอยู่ในเฉพาะสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และต่อมาจึงถูกเพิ่มเข้าไปในการเรียนสาขาวิศวกรรม และการออกแบบตามหลักวิทยาศาสตร์อื่น ๆ เช่น สถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งสาขาเหล่านี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ในขณะที่นักศึกษาในสาขาวิชาด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะจำนวนมากยังไม่ได้เรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่เรียน

Walter Leal หัวหน้าภาควิชา Climate Change Management ประจำ Hamburg University of Applied Sciences ในประเทศเยอรมนี ให้ความเห็นในบทความ ‘The Unexpected Ways Climate Change Is Reshaping College Education’ ว่า การขาดการเรียนรู้เรื่องวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมนี้ เป็นผลมาจากการขาดความเชี่ยวชาญและความมั่นใจในหมู่คณาจารย์ที่ไม่คุ้นเคยกับการสอนเรื่องภูมิอากาศ รวมถึงแรงกดดันด้านเวลาในหลักสูตรที่มีวิชาเรียนแน่นอยู่แล้ว ดังนั้น หากไม่มีข้อกำหนดบังคับจึงไม่มีการเพิ่มประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปในหลักสูตรที่มีอยู่เดิม

ในขณะที่ปัจจุบันการศึกษาระดับอุดมศึกษามีการเรียนการสอนเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศค่อนข้างจำกัด แต่โลกก็ต้องการกำลังคนเพื่อการต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อเตรียมผู้เรียนให้พร้อมกับตลาดแรงงานในอนาคตที่จะต้องการผู้มีทักษะความรู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้มากขึ้นไปด้วย ดังนั้น ทั้งโรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนแพทย์ นักเรียนวิชาวรรณกรรม จึงควรมีโอกาสได้เรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลักสูตรด้วย โดยในบทความข้างต้นยังได้ยกตัวอย่าง การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไปเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากหลายๆ ประเทศ ดังนี้


เมื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมแยกออกจากกันไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงกลายเป็นหนึ่งปัจจัยที่เปลี่ยนรูปแบบของระบบการศึกษาทั่วโลก การเพิ่มเนื้อหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปทั้งในหลักสูตรจะช่วยเพิ่มโอกาสในการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศครั้งนี้โดยมีเด็กและเยาวชนเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญ และได้ทำให้เห็นว่าหลักสูตรที่สอนมาหลายรุ่นหลายสมัยอาจไม่สามารถตอบโจทย์ความอยู่รอดของโลกใบนี้อีกต่อไป การลงมือเปลี่ยนแปลงการออกแบบการศึกษาต้องการการบูรณาการระหว่างหลายสาขาวิชา และต้องเร่งมือทำอย่างเร่งด่วนแข่งกับเวลา ก่อนที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้จะรุนแรงเกินแก้ไข

ประเด็นการศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศ เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- #SDG4 การศึกษาที่มึคุณภาพ ในประเด็น ให้ทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (4.7)
- #SDG13 ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเด็น พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์ ในการลดผลกระทบและปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (13.3)

สรุปและเรียบเรียงเนื้อหาจาก
Unleashing the creativity of teachers and students to combat climate change: An opportunity for global leadership
The Unexpected Ways Climate Change Is Reshaping College Education
Pressure builds for schools to put climate change study on curriculum

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version