การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD) เป็นความเร่งด่วนสำหรับเด็ก แต่หลักสูตรการศึกษาในอาเซียนยังพัฒนาช้าเกินไป

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคที่ ‘รู้ตัว’ แล้วว่าได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้ ‘ส่งสัญญาณ’ พร้อมจะสนับสนุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development – ESD) อย่างแข็งขันตามความเห็นขององค์การยูเนสโก (UNESCO) หน่วยงานสหประชาชาติที่ดูแลครอบคลุมด้านการศึกษา แต่ทว่าการผลักดันเนื้อหาด้านการศึกษาที่เน้น ESD และการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Education – CCE) กลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า อยู่ในระยะแรกเริ่ม และแม้จะกล่าวถึงความยั่งยืนในแผนการศึกษา แต่ก็ยังมีช่องว่างและไม่เท่าเทียมระหว่างโรงเรียนรัฐ – เอกชน โรงเรียนในเมือง – ชนบท หรือ โรงเรียนนานาชาติ – ที่ใช้ภาษาประจำชาติ – ที่ใช้ภาษาท้องถิ่น/ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งที่ปัจจุบันเด็กและเยาวชนต้องการแหล่งข้อมูลความรู้ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนมากขึ้น

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงที่มีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนและการจัดการกับวิกฤติจะเกิดขึ้นได้ ไม่เพียงแต่ริเริ่มในระดับบุคคล ภาคเอกชน หรือนำเทคโนโลยีมาช่วยเท่านั้น แต่จะต้องอาศัยการริเริ่มเปลี่ยนแปลงจากนโยบายและระบบด้านการศึกษาของประเทศ ให้มีความเข้าใจ ส่งเสริมการปรับความคิดและพฤติกรรมที่ยั่งยืนด้วย

โดยจะต้องสนับสนุนให้เนื้อหาการศึกษาประเด็นดังกล่าวสามารถพัฒนาเป็นคอนเซ็ปต์และวิชาที่แตกแขนงออกมาอย่างเป็นอิสระ มีจุดเน้นเหลัก และ ‘จุดเด่น’ ไม่ใช่วิชาชายขอบในหลักสูตรการเรียนการสอน และจะต้องแก้ไขโจทย์ด้านการศึกษาแต่เดิมว่า เด็กและเยาวชนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษา ESD และ CCE ได้หรือไม่ และผู้สอนมีความพร้อมหรือไม่?

ตัวอย่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า อินโดนีเซียโดยโครงการของ Adiwiyata Green Schools ได้พยายามบูรณาการ ESD เข้ามาในห้องเรียนเพื่อให้นักเรียนตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ไทยและเวียดนามต่างก็ได้พัฒนาให้ ‘ความยั่งยืน’ เป็นส่วนหนึ่งของกรอบการศึกษาระดับชาติ ส่วนฟิลิปปินส์ยังคงเน้นที่การกระทำของปัจเจกบุคคลมากกว่าการจัดทำหลักสูตร ซึ่งภาคประชาสังคมของฟิลิปปินส์ได้ให้ความเห็นว่า จำเป็นจะต้องให้มีวิชาการเรียนเป็นการเฉพาะเกี่ยวกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate adaptation) และวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์

ขณะที่ปัญหาการขาดหายไปหรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ของหลักสูตรการศึกษาทางการ ทำให้เห็นว่าจะมีธุรกิจเพื่อสังคมต่าง ๆ เข้ามาช่วยอุดช่องว่างนี้ โดยการพัฒนาเครื่องมือหรือทรัพยากรทางการศึกษา

ทั้งนี้ ที่ต้องให้ความสำคัญกับการเรียนการสอน ESD และ CCE นั้น กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ระบุว่า ปัจจุบันมากกว่า 99% ของเด็กทั้งหมด อย่างน้อยได้เผชิญกับภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศแล้ว อาทิ น้ำท่วม พายุไซโคลน การขาดแคลนน้ำ โรคภัย มลพิษทางอากาศ และจะเป็นรุ่นที่เผชิญกับความเสี่ยงในอนาคตและได้รับผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงสำคัญที่คนรุ่นนี้ตระหนักและเข้าใจถึงสภาพปัญหา และเป็นผู้หาทางออก/ไขปัญหาที่เรื้อรังและตกทอดมาจากคนรุ่นเก่า ซึ่งการศึกษา ESD และ CCE จะเอื้อให้ทำเช่นนั้นได้ กล่าวคือ นอกจากตระหนักถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของพลเมือง (civic engagement)

โดยที่ ESD และ CCE จะต้องเป็นหลักสูตรที่มองสิ่งรอบตัวอย่างเป็นองค์รวม ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล พัฒนาจากความมุ่งมั่นและคำสัญญาให้เป็นนโยบายระดับชาติที่ส่งเสริมทุกโรงเรียนในทุกรูปแบบ/ประเภท พัฒนาให้มีทรัพยากรเพื่อการศึกษาที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนทั้งผู้สอนและผู้เรียน ท้ายที่สุดแล้ว จะต้องเปลี่ยนแปลงระบบให้รวดเร็ว (systemic changes) และเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (paradigm shift) ให้ทันเวลากับความเร่งด่วนของประเด็นความท้าทายที่ว่านี้ด้วย

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่:
SDG Updates | หลักสูตรการศึกษาถึงเวลาต้องเปลี่ยน – เมื่อการต่อสู้กับ Climate Change เริ่มต้นที่ห้องเรียน
ยูเนสโกประกาศ ‘การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ต้องเป็นองค์ประกอบหลักของระบบการศึกษาทุกระดับภายในปี 2568

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม
-(4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึงการศึกษาสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development) และการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความนิยมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและในส่วนร่วมของวัฒนธรรมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
Climate education still a ‘peripheral topic’ in Southeast Asia’s syllabus amid calls to make it compulsory (Channel News Asia)

Last Updated on ตุลาคม 8, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น