Site icon SDG Move

9 ข้อที่จะช่วยเปลี่ยนบรรยากาศในมหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีและคุณค่าของนักศึกษา LGBTQ

การมีห้องน้ำที่ทุกเพศสามารถใช้ได้ นโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติแต่ส่งเสริมอัตลักษณ์ทางเพศ และการที่นักศึกษาสามารถเลือก/เปลี่ยนชื่อในประวัติและเอกสารของมหาวิทยาลัยได้อย่างไม่ยุ่งยากนัก (โดยไม่ต้องเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลทางการ) เป็นนโยบายสนับสนุน ‘ความครอบคลุม’ ความหลากหลายทางเพศในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในมุมของนักศึกษา LGBTQ ในสหรัฐฯ 507 คนในการศึกษา ‘What Is Needed, What Is Valued: Trans Students’ Perspectives on Trans-Inclusive Policies and Practices in Higher Education’ โดยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคลาร์ก ท่ามกลางคำแนะนำสำคัญอื่น ๆ อีก 6 ข้อเพื่อเป็นแนวทางให้สถานศึกษาปรับปรุงนโยบายและบรรยากาศของการเปิดรับคนทุกกลุ่ม สนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดี ความปลอดภัย คุณค่าของนักศึกษา LGBTQ และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ที่จะเป็นการเตรียมพร้อมเส้นทางสู่ความสำเร็จของ ‘นักศึกษาทุกคน’ เมื่อจบจากรั้วมหาวิทยาลัย

1. ห้องน้ำที่ทุกเพศสามารถใช้ได้ (gender-inclusive หรือ all-gender restrooms) โดยที่มีห้องน้ำแยกย่อยภายในเพียงพอสำหรับผู้ใช้งาน และมีในทุกอาคาร อย่างไรก็ดี สำหรับห้องน้ำของนักกีฬา สามารถแยกโซนเปลี่ยนเสื้อผ้าและโซนอาบน้ำที่เป็นส่วนตัวได้ เพราะเรื่องของห้องน้ำที่ครอบคลุมการใช้งานสำหรับทุกเพศมีความสำคัญมากต่อความรู้สึกและจิตใจของนักศึกษา และยังสัมพันธ์กับผลการศึกษาด้วย

2. นโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติแต่ส่งเสริมอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นนโยบายที่คุ้มครองนักศึกษา LGBTQ จากการเลือกปฏิบัติบนฐานของอัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศ โดยยึดหลักการความเสมอภาคและความเท่าเทียม ซึ่งในกรณีของสหรัฐฯ ได้มี 1,071 มหาวิทยาลัยด้วยกันที่มีนโยบายนี้ ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ที่ในนโยบายการไม่เลือกปฏิบัติได้ระบุไว้ อาทิ ห้ามมีการเลือกปฏิบัติหรือละเมิดสมาชิกในชุมชนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ด้วยเหตุของเชื้อชาติ สีผิว ความเชื่อ ศาสนา ชาติกำเนิด สัญชาติ เพศ รสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออก พันธุกรรม ความพิการ การตั้งครรภ์ อายุ สถานะการแต่งงาน การเป็นทหารผ่านศึก โดยมหาวิทยาลัยมีอำนาจที่จะลงโทษทางวินัยหรือดำเนินการอื่นใดอย่างเหมาะสมในกรณีที่มีการกระทำซึ่งไม่อาจยอมรับได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเป็นการละเมิด การเลือกปฏิบัติอย่างไม่ถูกกฎหมาย หรือเป็นการแก้แค้นกัน

3. การที่นักศึกษาสามารถเลือก/เปลี่ยนชื่อในประวัติและเอกสารของมหาวิทยาลัยได้อย่างไม่ยุ่งยากนัก (โดยไม่ต้องเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลทางการ) ซึ่งปัจจุบัน มี 265 มหาวิทยาลัยที่อนุญาตให้นักศึกษาทำเช่นนั้นได้ และอีก 43 แห่งที่นักศึกษาสามารถแจ้ง ‘สรรพนาม’ ของตนได้ในคอร์สเรียน

4. ที่พักอาศัยสำหรับทุกเพศ (Gender-inclusive housing) ซึ่งเป็นได้ทั้งการเลือกพักกับนักศึกษาที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเช่นเดียวกัน หรือสามารถเลือกพักกับนักศึกษาไม่ว่าจะเพศใดก็ได้

5. บริการให้คำปรึกษาและบริการสุขภาพ บริการสุขภาพในมหาวิทยาลัยเป็นประเด็นหนึ่งที่อาจไม่ครอบคลุมความต้องการเฉพาะด้านของนักศึกษา LGBTQ อาทิ การจ่ายยาฮอร์โมน และประกันสุขภาพที่ครอบคลุมสุขภาพทางอารมณ์ และ ‘การให้บริการที่ตระหนักถึงคนข้ามเพศ’ (trans-affirming medical care) โดยนักศึกษากลุ่มนี้มักต้องการคำปรึกษาเป็นการส่วนตัว ดังนั้น จึงควรมีศูนย์ให้คำปรึกษาที่เจ้าหน้าที่ได้รับการอบรมเพื่อเข้าใจความต้องการและประสบการณ์ของนักศึกษา LGBTQ

6. สมาคมหรือคลับของกลุ่มนักศึกษา LGBTQ

7. การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ คณะ และนักศึกษาด้วยกันเอง ถึงอัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออก และประสบการณ์ของคนข้ามเพศ เพื่อเพิ่มระดับความเข้าใจและการตระหนักรู้ของประเด็นดังกล่าว ส่งเสริมบรรยากาศโดยรวมของการต้อนรับและครอบคลุมทุกคน

8. โอกาสที่จะเรียนแบบเข้าฟังบรรยาย (Coursework) และการทำวิจัย (Research) ในคณะ/วิชาเรียนที่โฟกัสเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นการเฉพาะ

9. การสนับสนุนทางการเงินและอุปกรณ์การศึกษา เพราะโดยส่วนใหญ่นักศึกษากลุ่มนี้เข้ามหาวิทยาลัยโดยมีความกังวลเรื่องการเงินมากกว่าเพื่อนเพศชายและเพศหญิง และอาจใช้เงินกับการรักษาสุขภาพหรือการใช้ฮอร์โมน รวมถึงทำงานควบคู่กับที่เรียน ทำให้เรื่องการสนับสนุนทางการศึกษาจึงยังคงสำคัญ

เข้าถึงการศึกษาที่ : What Is Needed, What Is Valued: Trans Students’ Perspectives on Trans-Inclusive Policies and Practices in Higher Education

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 หลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
– (4.5) ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศในการศึกษาและสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็กเข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม ภายในปี 2573
– (4.7) ผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการศึกษาสำหรับการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลกและความนิยมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและในส่วนร่วมของวัฒนธรรมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573
–  (4.a) สร้างและยกระดับอุปกรณ์และเครื่องมือทางการศึกษาที่อ่อนไหวต่อเด็ก ผู้พิการและเพศภาพ ให้มีสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ปลอดภัยปราศจากความรุนแรง ครอบคลุม และมีประสิทธิผลสำหรับทุกคน
#SDG5 ความเสมอภาคทางเพศ
– (5.c) นโยบาย/กฎระเบียบเพื่อความเสมอภาคทางเพศในทุกระดับ
#SDG16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุข ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม สถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.b) ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา: https://theconversation.com/how-to-tell-if-your-college-is-trans-inclusive-158348

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version