Director’s Note: 20: บทบาทมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: ฉบับขยายความ [2/2]

● อ่านตอนก่อนหน้า – Director’s Note: 19: บทบาทมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: ฉบับขยายความ [1/2]

04 – SDGs สามารถนำไปประยุกต์กับงานด้านไหนได้บ้างและอย่างไร? 

คู่มือการนำ SDGs ไปเริ่มใช้ในมหาวิทยาลัยของ SDSN Australia/Pacific (2017) ได้เสนอว่า มหาวิทยาลัยสามารถมีส่วนในการขับเคลื่อน SDGs ได้ผ่านงาน 4 ด้านของมหาวิทยาลัย คือ (1) งานวิจัย (2) การศึกษา (3) การบริหารจัดการภายในและระบบธรรมาภิบาล และ (4) การเป็นผู้นำทำงานกับองค์กรอื่น


| 1 งานวิจัยกับ SDGs

งานวิจัยของคณาจารย์ทุกคณะสามารถมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าจะต้องหาแง่มุมที่เหมาะสมให้ได้เท่านั้นเอง โจทย์วิจัยที่เกี่ยวข้องกับ SDGs อาจแบ่งออกได้เป็นหลายแบบดังนี้ 

ประการแรก โจทย์วิจัยเพื่อการหาทางออก (solutions) – สำหรับการบรรลุเป้าหมาย SDGs โจทย์วิจัยประเภทนี้มักเริ่มจากการทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาในบาง SDGs แล้วเทียบกับเป้าหมายที่ต้องการจะบรรลุ จากนั้นจึงทำการวิจัยเพื่อที่จะหาหนทางในการพาสถานการณ์ปัจจุบันเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย ศาสตร์ทุกสายสามารถมีบทบาทในการวิจัยประเภทนี้ตามพื้นเพของศาสตร์ตน ทั้งสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือกระทั่งมนุษยศาสตร์/ศิลปกรรมศาสตร์ หรืออาจทำงานวิจัยร่วมกันทั้งในรูปแบบการวิจัยแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ (interdisciplinary) และการวิจัยแบบข้ามประเภทความรู้ (transdisciplinary) ก็ได้เช่นกัน

ประการที่สอง โจทย์วิจัยเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบต่อ SDGs – เพื่อให้เข้าใจว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น กำลัง หรือ มีโอกาสจะส่งผลกระทบต่อเป้าหมาย SDGs ข้อใดและอย่างไร เช่น การสร้างทางรถไฟไทยจีน จะส่งผลต่อ SDGs ของไทยอย่างไร การระบาดของ COVID-19 ส่งผลต่อ SDGs อย่างไร การมีนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าจะส่งผลต่อ SDGs อย่างไร 

ประการที่สาม โจทย์เชิงระบบ – โจทย์ทั้งสองข้างต้นเป็นโจทย์เชิงประเด็น โจทย์เชิงระบบเป็นโจทย์วิจัยที่ให้ความสำคัญกับกลไกการสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs หรือ Means of Implementation เช่น โจทย์วิจัยเกี่ยวกับตัวชี้วัด กลไกระดมทุนเพื่อการพัฒนา ความสัมพันธ์และความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่ส่งเสริมการขับเคลื่อน SDGs รูปแบบของระบบบริหารจัดการ (governance) เพื่อการขับเคลื่อน SDGs และประเด็นเชิงนโยบายเพื่อกำหนดทิศทางและการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs 

ประการที่สี่ โจทย์ในเชิงหลักการหรือปรัชญาเบื้องหลัง – โจทย์ที่สี่นี้คนอาจไม่ค่อยพูดถึงมากแต่ในวงวิชาการก็มีงานลักษณะนี้อยู่บ้าง เช่น การถกเถียงเรื่องหลักการ Inclusive development (Gupta and Vegelin 2016) การถกเถียงถึงหลักการที่ควรเป็นรากฐานของ SDGs (Young et al. 2017) หรือกระทั่งงานที่สอดคล้องกับบริบทของไทย เช่น การถกเถียงต่อความเชื่อมโยงระหว่างปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน การสำรวจประวัติศาสตร์การพัฒนาเพื่อทบทวนและ/หรือวิพากษ์ SDGs การสำรวจแนวคิดใหม่ ๆ เช่น ecological economics หรือ post-growth หรือ de-growth เปรียบเทียบกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น 

ประการที่ห้า โจทย์เชิงพื้นที่ – โจทย์ลักษณะนี้มีขอบเขตการศึกษาอยู่ในระดับที่อยู่ต่ำกว่าระดับชาติ (sub-national) โจทย์ลักษณะนี้อาจสนใจหรือไม่สนใจประเด็น SDGs ประเด็นใดประเด็นหนึ่งเป็นการเฉพาะก็ได้ หรืออาจสนใจประเด็นเชิงกลไก หรือเชิงหลักการก็ได้ แต่จุดสำคัญคือการมีพื้นที่เป็นขอบเขตสำคัญในการศึกษา ยกตัวอย่างเช่น การจัดทำดัชนีความยั่งยืนระดับเมือง การศึกษาการขับเคลื่อน SDGs ในจังหวัด X เป็นต้น

ประการที่หก โจทย์เชิงกลุ่มเป้าหมาย – โจทย์ลักษณะนี้มีผู้เกี่ยวข้องกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่มเป็นเกณฑ์ เช่น การวิจัยเกี่ยวกับผู้หญิง เด็กและเยาวชน ภาคประชาสังคม เกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ ซึ่งโจทย์ลักษณะนี้มักเป็นการศึกษากลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ SDGs เช่น สถานะความยั่งยืนของผู้เกี่ยวข้องตามกรอบ SDGs บทบาท/ระดับการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน SDGs การได้รับ/ถูกกีดกันจากประโยชน์ของการขับเคลื่อน SDGs เป็นต้น 

ประการสุดท้าย โจทย์เชิงซ้อน (intersectional issues) – โจทย์ลักษณะนี้คือ การเอาบางมิติของโจทย์วิจัยข้างต้นมาซ้อนทับกันเพื่อให้ได้โจทย์ใหม่ เช่น สถานะความยั่งยืนของผู้หญิงในพื้นที่หนึ่ง หรือ บทบาทของภาคเอกชนในการหาทางออกเพื่อรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์ X เพื่อการบรรลุ SDGs เป็นต้น โจทย์เชิงซ้อนนี่เองที่ทำให้เราเห็นโจทย์วิจัยจำนวนมากที่จะทำให้เกิดความเข้าใจและสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs 

| 2 การศึกษากับ SDGs 

การศึกษา (Education) เป็นภารกิจที่สำคัญของมหาวิทยาลัยและจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างคนรุ่นใหม่เพื่อมาเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างไรก็ดี ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อให้ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนยังมีความสับสนอยู่มากพอสมควรว่าหมายความว่าอย่างไร จึงอยากขออธิบายขยายความให้เห็นภาพกันมากขึ้น โดยอาศัยแนวคิดเรื่อง Education for Sustainable Development และสิ่งที่ได้รับการประเมินในการประเมิน THE Impact Rankings มาประกอบด้วย

การศึกษาที่ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อาจแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท

ประเภทที่ 1 วิชาที่ว่าด้วย การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development) วิชาประเภทนี้เป็นกลุ่มวิชาเฉพาะที่เรียกว่า การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development) ซึ่งหากยึดตามเป้าหมายย่อยที่ 4.7 (Target 4.7) ที่เน้นเรื่องการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว ควรจะต้องมีวิชา/หลักสูตรในหัวข้อต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย ได้แก่ วิชาว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน (sustainable lifestyle) สิทธิมนุษยชน (human rights) ความเท่าเทียมกันระหว่างเพศสภาวะ (gender equality) การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งสันติภาพและสันติวิธี (promotion of a culture of peace and non-violence) ความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship) และการเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรม (appreciation of cultural diversity) และผลกระทบของวัฒนธรรมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (culture’s contribution to sustainable development) 

ประเภทที่ 2 วิชาที่ว่าด้วยการสร้างทักษะเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development competencies) จากการศึกษาของ School of Sustainability มหาวิทยาลัย Arizona State University[i] เสนอว่า ทักษะเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบด้วยทักษะ 6 ประการดังนี้ คือ

  1. System Thinking Competency: ความสามารถในการมองเห็นและเข้าใจความสัมพันธ์ วิเคราะห์ระบบบที่ซับซ้อนได้ เห็นความเชื่อมโยงของระบบกับระบบอื่นที่มีขนาดต่างกันได้
  2. Futures Thinking (Anticipatory) Competency: ความสามารถในการเข้าใจและประเมินอนาคตที่หลากหลาย ทั้งอนาคตที่เป็นไปได้ อนาคตที่น่าจะเป็น และอนาคตที่ต้องการ สามารถสร้างวิสัยทัศน์สำหรับอนาคตได้ วางแผนรับสิ่งที่ไม่คาดฝันได้ ประเมินผลกระทบจากการกระทำของตนได้ และจัดการกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงได้ (อ่านต่อได้ที่ซีรีส์องค์ความรู้ชุด “ทักษะความรู้รอบในการจินตนาการถึงอนาคต” (Futures Literacy))
  3. Values Thinking (Normative) Competency: ทักษะในการเข้าใจและทบทวนบรรทัดฐานและคุณค่าที่อยู่เบื้องหลังการกระทำของตนได้ สามารถเจรจาต่อรองบนฐานคุณค่า หลักการและเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้ โดยเฉพาะในบริบทที่อาจมีความขัดแย้งของเป้าหมายหรือจำเป็นต้องมีการเลือกและได้อย่างเสียอย่าง
  4. Strategic Thinking Competency: ความสามารถในการวางแผนและดำเนินการตามแผนอย่างมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในระดับท้องถิ่นและระดับอื่น ๆ 
  5. Interpersonal (Collaboration) Competency: ความสามารถในการเรียนรู้จากผู้อื่น เข้าใจและเคารพความต้องการ มุมมอง และการกระทำของผู้อื่น (empathy) ความเป็นผู้นำที่เข้าใจ เห็นความเชื่อมโยง และอ่อนไหวกับเรื่องราวของผู้อื่น (empathic leadership) จัดการความขัดแย้งในกลุ่มได้ และอำนวยความสะดวกให้เกิดการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมได้
  6. Integrated Problem-solving Competency: ความสามารถโดยรวมในการประยุกต์ใช้กรอบการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันเพื่อจัดการกับปัญหาความยั่งยืนที่ซับซ้อน รวมถึงพัฒนาทางออกที่เป็นไปได้ ครอบคลุมและเป็นธรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ และใช้ความสามารถข้างต้นประกอบด้วยในการดำเนินการ

ประเภทที่ 3 วิชาที่ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน และ/หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน วิชาในประเภทนี้เป็นวิชาที่มีความสอดคล้องและสนับสนุน SDGs แบบตรงไปตรงมา เพราะเป็นวิชาที่ว่าด้วยเรื่องความยั่งยืนและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยตรง ซึ่งวิชาลักษณะนี้ อาจเป็นวิชาพื้นฐานก็ได้ เช่น วิชาศึกษาทั่วไปอย่าง มธ.103 ชีวิตและความยั่งยืน ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือวิชาและ/หรือหลักสูตรที่เจาะลึกลงไปที่เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยตรง เช่น วิชา EC465 เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น 

ประเภทที่ 4 วิชาที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาส่วนใดส่วนหนึ่งของสามเสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือสอดคล้องกับเป้าหมายหรือเป้าหมายย่อยของ SDGs นั่นคือ วิชาที่เกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจประเด็นทางสังคมต่าง ๆ การพัฒนาเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ในทุกระดับ คือ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับชาติ ระดับนานาชาติ ก็ถือว่า มีส่วนที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นกัน ซึ่งส่วนนี้อาจไม่รวมสาขาวิชาชีพ เว้นแต่ว่าจะเป็นวิชาในวิชาชีพที่มุ่งสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม อาจใช้เป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อและเป้าหมายย่อย 169 ข้อในการเชื่อมโยงและจำแนกประเภทวิชาได้ด้วย

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังสามารถส่งเสริมความต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการทำให้นักศึกษาเห็นว่า ในปัจจุบันนั้นมีงานที่ต้องอาศัยความรู้และทักษะด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้นเพียงใดได้ด้วย โดยในระดับองค์กรระหว่างประเทศนั้น ทุกองค์กรจะต้องมีการดำเนินการที่เกี่ยวกับ SDGs แน่นอนอยู่แล้ว ภาคเอกชนมีการเปิดฝ่ายที่ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมาทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ หน่วยงานภาครัฐเองต้องทำงานตามภารกิจที่เชื่อมโยงกับ SDGs ตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนของงานบริษัทที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนที่ทำหน้าที่จัดทำรายงานความยั่งยืนของบริษัทนั้นก็เติบโตขึ้นมาก

มหาวิทยาลัยควรส่งเสริมให้นักศึกษามีกิจกรรมนอกห้องเรียนที่สนับสนุนเป้าหมาย SDGs ด้วย ช่วงวัยของการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นช่วงวัยที่มีพลังและความคิดสร้างสรรค์สูง หากมหาวิทยาลัยมีการดำเนินการหรือสนับสนุนกิจกรรมนักศึกษาที่ใช้โจทย์เป็นโจทย์ด้านความยั่งยืน แล้วมหาวิทยาลัยทำหน้าที่สนับสนุนงบประมาณ ความรู้ และให้คำปรึกษา นักศึกษาจะมีช่องทางเพิ่มขึ้นในการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นรากฐานสำหรับการเตรียมตัวเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ใช่นักศึกษา มหาวิทยาลัยสามารถจัดการอบรมหรือหลักสูตรระยะสั้นที่ให้ความรู้บุคคลภายนอกในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เช่นกัน โดยถือเป็นกิจกรรมการเสริมสร้างศักยภาพ (capacity building) ที่มีเนื้อหาครอบคลุมหลากหลายประเด็นตั้งแต่ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไปจนถึงความรู้เชิงประเด็นจำเพาะสำหรับหน่วยงานหรือภาคส่วนเพื่อทำงานแก้ไขปัญหาจำเพาะที่อยู่ภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน

| 3 การบริหารจัดการภายในและระบบธรรมาภิบาล

การบริหารจัดการภายในก็สามารถนำ SDGs มาประยุกต์ใช้ให้ยั่งยืนได้เช่นกัน โจทย์คือ เราจะทำให้การดำเนินงานภายใน ระบบบริหารจัดการ และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ส่งเสริมหรือสอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร 

ดังนั้น ในลำดับแรก เราต้องระบุก่อนว่าผู้เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยมีใครบ้าง และเรากำลังจะทบทวนและพิจารณาเพิ่มเติมนโยบายหรือแนวทางการบริหารจัดการภายในเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของผู้เกี่ยวข้องกลุ่มนั้นอย่างไร ผู้เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยนั้นครอบคลุมตั้งแต่ นักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ ชุมชนโดยรอบและหน่วยงานภายนอก รวมไปถึง สิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

จากนั้นเราจึงจะเริ่มใช้ SDGs ทั้ง 17 ข้อ โดยอาจดูบางประเด็นของเป้าหมายย่อยที่เกี่ยวข้อง แล้วประเมินว่าในปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีนโยบาย การดำเนินการ หรือระบบที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนผู้เกี่ยวข้องกลุ่มนั้น ๆ ให้มีความยั่งยืนเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร เช่น

สมมติว่า พิจารณา เรื่องเกี่ยวกับนักศึกษา 

ที่เกี่ยวข้องกับ SDG 1 

  • มหาวิทยาลัยมีมาตรการสำหรับช่วยเหลือนักศึกษายากจนหรือไม่อย่างไร
  • มหาวิทยาลัยมีกลไกการคุ้มครองทางสังคมหรือการประกันภัยที่ช่วยคุ้มครองนักศึกษาหาเผชิญสถานการณ์ไม่คาดฝันหรือไม่

ที่เกี่ยวข้องกับ SDG 2 

  • มหาวิทยาลัยมีการดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการของนักศึกษาทุกกลุ่ม  

ที่เกี่ยวข้องกับ SDG 3

  • มหาวิทยาลัยมีสิ่งอำนวยความสะดวก และบริการทางด้านสุขภาพสำหรับโรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ สุขภาพจิต อนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการดูแลเด็กเล็กเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาที่เป็นคุณแม่วัยรุ่นหรือไม่
  • มหาวิทยาลัยมีมาตรการเกี่ยวกับยาเสพติดประเภทต่าง ๆ อย่างไร 
  • มหาวิทยาลัยมีมาตรการที่เกี่ยวกับมลพิษและสุขภาพของนักศึกษาหรือไม่

เป็นต้น (สำหรับข้อใดที่อาจไม่เกี่ยวข้องหรือไม่เห็นความเชื่อมโยงก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงก็ได้)

ดังนั้น มหาวิทยาลัยอาจพอมองเห็นได้ว่า สำหรับมิติความยั่งยืนภายใต้กรอบ SDGs ผู้เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยอยู่ในสถานะใด มหาวิทยาลัยมีการดำเนินการอะไรแล้วบ้าง ยังขาดการดำเนินการด้านใดเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนให้กลุ่มเป้าหมายกลุ่มนั้น 

เพื่อให้การดำเนินการของมหาวิทยาลัยมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยอาจทำการจำแนกแยกย่อยกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มให้ลึกลงไปอีก เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์และออกแบบมาตรการที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น หากเน้นที่กลุ่มนักศึกษา เราอาจวิเคราะห์สถานการณ์และการดำเนินการของมหาวิทยาลัยโดยจำแนกตาม เพศ/เพศสภาวะ (ชาย/หญิง/LGBTQI+ และกลุ่ม non-binary อื่น ๆ) ตามสถานะทางเศรษฐกิจ ตามความพิการ ตามเชื้อชาติ เป็นต้น โดยมุ่งหมายให้เกิดความเข้าใจสถานการณ์ของคนเหล่านี้ให้มากขึ้น รวมถึงเข้าใจผลกระทบของนโยบายมหาวิทยาลัยที่มีต่อคนเหล่านี้ 

นอกจากนี้ SDGs ยังสามารถใช้เป็นกรอบในการจัดทำรายงานประจำปีของมหาวิทยาลัยได้ด้วย ซึ่งจะทำให้รายงานประจำปีสามารถสื่อสารผลกระทบที่มหาวิทยาลัยสร้างให้แก่สังคมและโลกตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ด้วย ที่สำคัญ รายงานความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของ THE Impact Rankings อีกด้วย 

ในส่วนนี้ตัวชี้วัดของ THE Impact Rankings นั้นได้ให้แนวทางเอาไว้ค่อนข้างละเอียดในแต่ละข้อ มหาวิทยาลัยสามารถนำตัวชี้วัดของ THE มาแปลงเป็นนโยบายเพื่อดำเนินการส่งเสริมความยั่งยืนได้ด้วย

| 4 การเป็นผู้นำทำงานกับองค์กรอื่น

มหาวิทยาลัยอยู่ในตำแหน่งที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงภายนอกได้ไม่แพ้ภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในภาควิชาการนั้นมีข้อได้เปรียบที่สำคัญคือเป็นแหล่งความรู้ของสังคม และในสังคมไทย มหาวิทยาลัยได้รับความเคารพนับถือมากกว่าโดยเปรียบเทียบกับภาคส่วนอื่น ๆ อันเนื่องมาจากความรู้ความสามารถของมหาวิทยาลัยและนักวิชาการในมหาวิทยาลัยนั้น นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมีแนวโน้มที่จะมีแรงเสียดทานหรือความขัดแย้งกับภาคส่วนอื่นน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม 

มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในไทยมีการทำงานที่มีส่วนร่วมกับสังคม (public engagement) อยู่แล้ว ยิ่งในปัจจุบัน นโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยังส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งในภูมิภาคมีบทบาทในระดับตำบลผ่านโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T) โครงการเหล่านี้มีศักยภาพที่จะเป็นโครงการตอบโจทย์ SDGs โดยตัวเองอยู่แล้ว เพราะเป็นโครงการที่คาดหวังจะสร้างผลลัพธ์ (outcome) เป็นการเปลี่ยนแปลงในชุมชนและสังคมโดยรอบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม 

SDGs สามารถถูกประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาโครงการลักษณะนี้ได้หลายรูปแบบ เช่น ใช้ SDGs เป็นกรอบในการประเมินสถานการณ์เชิงพื้นที่ (โดยใช้ตัวชี้วัดที่มีในท้องถิ่น) เพื่อระบุปัญหาและความต้องการของพื้นที่อย่างเป็นระบบ หรือ ใช้ SDGs เป็นภาษาในการสื่อสารแนวปฏิบัติและกรณีศึกษาที่ดีของชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ หรือ ใช้ SDGs เป็นเครื่องมือในการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่สนใจขับเคลื่อน SDGs ให้มาดำเนินการร่วมกันในพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยทำงานอยู่ หรือ ใช้ SDGs เป็นกรอบในการประเมินผลกระทบของโครงการ ก็ได้เช่นกัน

แต่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยังสามารถมีบทบาทได้มากกว่านี้ (SDSN Australia/Pacific 2017) อาทิ

  • Cross-sectoral dialogue and action: การมีบทบาทเป็นโซ่ข้อกลางประสานงานให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการในพื้นที่ หรือเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามภาคส่วน เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างภาคส่วน 
  • Policy development and advocacy: มหาวิทยาลัยยังสามารถมีบทบาทในการช่วยพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการกับความท้าทายด้านความยั่งยืนภายใต้ SDGs รวมถึงมีบทบาทในการรณรงค์ส่งเสริมนโยบายนั้นให้มีการรับและนำไปปฏิบัติจริงในภาคนโยบาย
  • Advocacy for sector role: มหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาจร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้ภาควิชาการและมหาวิทยาลัยมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการมีส่วนร่วมทางนโยบายและการปฏิบัติสำหรับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศ
  • Demonstrate sector commitment: มหาวิทยาลัยยังสามารถกระตุ้นภาคส่วนอื่นด้วยการเป็นผู้นำในการประกาศแก่สาธารณะและให้คำมั่นว่าจะมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

05 – บททิ้งท้าย

มหาวิทยาลัยเป็นภาคส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งภาคส่วนหนึ่ง ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนก็สามารถสร้างประโยชน์และโอกาสใหม่ ๆ ให้มหาวิทยาลัยได้เช่นกัน 

เป้าหมาย SDGs สามารถนำไปปรับประยุกต์ให้เข้ากับงานด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้ ทั้งงานตามภารกิจ เช่น งานวิจัย การจัดการศึกษา การบริหารจัดการภายใน และการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก ซึ่ง SDGs จะทำหน้าที่เป็นกรอบแนวคิดที่จะช่วยกำหนดทิศทางในการดำเนินการด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้ 

ปลายทางของการดำเนินการเหล่านี้ มิใช่เพียงเพื่อให้มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงจากการประเมินอย่าง THE Impact Rankings แต่หากมหาวิทยาลัยมีการดำเนินการจริงตามแนวทาง SDGs ประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นก็จะตกอยู่กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายของมหาวิทยาลัยเอง ตกอยู่กับชุมชน สังคม ประเทศชาติและโลก 

ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าร่วมการจัดอันดับ THE Impact Rankings ตามกรอบ SDGs นั้นดีมากแล้ว แต่มหาวิทยาลัยจะต้องไม่หยุดแค่นั้น และผลักดันการดำเนินการของมหาวิทยาลัยให้ไปไกลกว่าแค่การ Reporting แต่ต้องไปสู่การผนวก SDGs เข้าไปในการดำเนินการ (Mainstreaming) และการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรและการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับความยั่งยืน (Transformation) จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ที่แท้จริง


Bergmann, Matthias, Thomas Jahn, Tobias Knobloch, Wolfgang Krohn, Christian Pohl, and Engelbert Schramm. 2012. Methods for Transdisciplinary Research: A Primer for Practice. Campus Verlag.

Gupta, Joyeeta, and Courtney Vegelin. 2016. “Sustainable Development Goals and Inclusive Development.” International Environmental Agreements: Politics, Law and Economics 16 (3): 433–48.

Independent Group of Scientists appointed by the Secretary-General. 2019. “Global Sustainable Development Report 2019: The Future Is Now – Science for Achieving Sustainable Development.” United Nations, New York. https://sustainabledevelopment.un.org/content/documents/24797GSDR_report_2019.pdf.

SDSN Australia/Pacific. 2017. “Getting Started With The SDGs in Universities: A Guide for Universities, Higher Education Institutions, and the Academic Sector. Australia, New Zealand and Pacific Edition.” Sustainable Development Solutions Network – Australia/Pacific, Melbourne. http://ap-unsdsn.org/wp-content/uploads/University-SDG-Guide_web.pdf.

Young, Oran R., Arild Underdal, Norichika Kanie, and Rakhyun E. Kim. 2017. “Goal Setting in the Anthropocene: The Ultimate Challenge of Planetary Stewardship.” Governing Through Goals: Sustainable Development Goals as Governance Innovation, 53.


[i] https://static.sustainability.asu.edu/schoolMS/sites/4/2018/04/Key_Competencies_Overview_Final.pdf

Last Updated on พฤษภาคม 16, 2022

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น