พร้อมรับเทอมใหม่ 5 กลยุทธ์ ส่งเสริมสุขภาพจิต ในยุคโควิด-19 หลังพบนักศึกษาเผชิญความเครียดเพิ่มขึ้น

หากอยู่ในสภาวะปกติ ชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับนักศึกษาหลาย ๆ คน เพราะการเข้ามหาวิทยาลัย อาจหมายถึงการที่ต้องก้าวออกจากบ้านย้ายไปอยู่ในสถานที่ใหม่ สังคมใหม่ เผชิญกับสภาพแวดล้อม สังคม และโอกาสเจอเพื่อนใหม่ ๆ แต่ด้วยสถานการณ์ของโลกปัจจุบันที่มาพร้อมกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลายเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้การปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่เป็นไปได้ยากขึ้น ส่งผลให้นักศึกษาหลายคนเกิดความเครียด วิตกกังวล จนนำมาสู่การประสบปัญหาทางด้าน “สุขภาพจิต” (mental health) เช่นนั้นแล้ว การเปลี่ยนผ่านสู่ปีการศึกษาใหม่ จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะเตรียมพร้อมกลยุทธ์สำหรับส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่นักศึกษา

วารสาร Frontiers in Public Health รายงานการวิจัยว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ระบุว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัยจำนวน 1 ใน 3 มีความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่านักศึกษาส่วนใหญ่ประสบกับความรู้สึกเศร้า สิ้นหวัง และ/หรือกังวลมากขึ้น จากปัจจัยที่เกิดขึ้นของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19   ที่ทำให้เกิดความเครียดและการหยุดชะงัก ส่งผลให้ชีวิตและกิจวัตรประจำวันเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่ประสบกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้น เช่น จำเป็นต้องลดการติดต่อทางสังคม ลดการพบปะแบบพบหน้ากับเพื่อน จนก่อให้เกิดความเครียดกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิต จึงมาสู่การนำเสนอ 5 กลยุทธ์ เตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาในการช่วยส่งเสริมสุขภาพจิต เพื่อพร้อมรับในการปรับตัวสำหรับการเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ ดังนี้ 

  • 1) แสดงออกถึงการมีความเห็นอกเห็นใจ (empathy) และความเมตตา (compassion) ปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นกับนักศึกษาหลายคนทั้งก่อนและระหว่างการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งในช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้น พบว่า การมีความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ และการฝึกมีความเมตตาต่อตัวเอง (self-compassion) ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง สามารถช่วยให้สุขภาพจิตนั้นดีขึ้นได้ เช่นเดียวกัน เมื่อเพื่อนหรือคนรอบข้างต้องการการสนับสนุน วิธีที่แสดงความเห็นอกเห็นใจ คือ การที่รับฟังโดยไม่ตัดสิน
  • 2) กลับมาเชื่อมต่อกับผู้คนอีกครั้ง หรือ รับการเชื่อมต่อกับผู้คน (re-connect or get connected) จากรายงานการวิจัยของวารสาร Globalization of health พบว่า มนุษย์เราจะรู้สึกดีขึ้น ก็ต่อเมื่อรู้สึกได้รับการสนับสนุนจากผู้อื่น ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตาม หากเริ่มรู้สึกว่ากำลังประสบปัญหาสุขภาพจิต ให้ติดต่อไปหาเพื่อน ครอบครัว หรือเพื่อนที่ไว้ใจได้อีกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว ทั้งนี้สำหรับการเริ่มต้นเข้าสู่มหาวิทยาลัย การสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับคนรอบข้าง เช่น การเข้าชมรม การเข้าร่วมกลุ่มภายใน/นอกมหาวิทยาลัย อาจช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีขึ้นต่อการปรับตัวในสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ
  • 3) ยอมรับถึงการดิ้นรนของตนเอง (struggling) การเปลี่ยนแปลงนับเป็นเรื่องที่ท้าทาย ซึ่งอาจทำให้เราตกอยู่ในภาวะที่ต้องดิ้นรนหรือรู้สึกยากลำบาก การขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ครอบครัว หรืออาจารย์ที่ปรึกษา เมื่อเริ่มรู้สึกผิดปกติไปจากเดิม อาทิ เริ่มนอนมากหรือน้อยกว่าเดิม หมดความสนใจในสิ่งที่เคยทำแล้วสนุก รวมถึงเกิดอารมณ์แปรปรวน เช่น รู้สึกเศร้า โกรธ หงุดหงิด หรือวิตกกังวลมากขึ้น และเกิดเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนติดต่อกัน นั่นเป็นสัญญาณแล้วว่า เราควรขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
  • 4) การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต (access available mental health services) นักศึกษาชั้นปีที่สูงขึ้นจะพบปัญหาด้านสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นักศึกษาจำนวนมากต้องเผชิญกับความเครียดจากความไม่แน่นอน และสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา และหากเริ่มสังเกตว่าเป็นเช่นนั้น ควรหาแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพจิตของมหาวิทยาลัยและเข้ารับคำปรึกษา
  • 5) หมั่นฝึกฝนการดูแลตนเอง และทำในสิ่งที่ชอบ (practise self-care and do things you enjoy) หาวิธีดูแลตนเองและหากิจกรรมยามว่างที่เหมาะสมกับชีวิตประจำวันของตนเอง รวมถึงการใส่ใจสุขอนามัยการนอน (sleep hygiene) เช่น การฝึกเข้าและตื่นนอนให้ตรงเวลา การพยายามกินอาหารที่มีประโยชน์ การสละเวลาอ่านหนังสือดี ๆ สักเล่มในทุกวัน หรือการพบปะกับกลุ่มเพื่อน เพื่อเป็นการให้เวลากับตนเองในช่วงสั้น ๆ สำหรับดูแลตนเองและทำในสิ่งที่ชอบ ซึ่งอาจช่วยลดความเครียดและทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

ปัญหาด้านสุขภาพจิต นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เราทุกคนควรให้ความสำคัญ เพราะไม่ว่าจะวัยไหน เด็กหรือผู้ใหญ่ ล้วนต่างก็สามารถประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตกันได้ทั้งนั้น เช่นนั้นแล้ว หากต้องการให้ทุกคนมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี จึงจำเป็นจะต้องใส่ใจและหาแนวทางการพัฒนาบริการทางด้านสุขภาพจิตให้เหมาะสมและสามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกคน ซึ่งนับเป็นอีกส่วนหนึ่งในการช่วยให้บรรลุเป้าประสงค์ของ SDG3

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้มาจากแค่ประสบการณ์หรือเหตุการณ์ในวัยเด็ก แต่อาจมาจาก “ความสามารถในการปรับตัวและเรียนรู้กับความผิดหวัง” – SDG Move
ทักษะการเรียนรู้ สุขภาพจิต และพัฒนาการทางสังคม-ความรู้สึก: ต้นทุนที่เด็กสูญเสียไปจากการปิดโรงเรียนเพื่อรับมือกับโรคระบาด – SDG Move 
3 ภารกิจให้บริการสุขภาพจิตอย่างครอบคลุมที่ควรได้รับเงินทุนเป็นอันดับแรก ตามคำแนะนำของธนาคารโลก – SDG Move 
เด็กในเมืองที่ได้อาศัยและใช้เวลาอยู่ใกล้ชิดพื้นที่ป่า จะมีพัฒนาทางสติปัญญาและสุขภาพจิตที่ดีกว่า – SDG Move

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.8) ส่งเสริมการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิผล มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้

แหล่งที่มา: 
5 ways students can foster positive mental health at university (theconversation). 
COVID-19: A Source of Stress and Depression Among University Students and Poor Academic Performance (Frontiers in Public Health).
Empathy-Compassion เอาใจเขามาใส่ใจเราและเอาใจเรามาทำความเข้าใจหัวใจของเรา | กสศ. 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on กันยายน 1, 2022

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น