Site icon SDG Move

จำนวนวัคซีนโควิด-19 ที่ประเทศร่ำรวยสัญญาจะส่งมอบให้ประเทศยากจนกว่า ไปถึงแล้วจริงเพียงแค่ 14% เท่านั้น

จำนวนวัคซีนโควิด-19 ที่ประเทศร่ำรวยให้คำมั่นว่าจะส่งมอบให้แก่ประเทศรายได้น้อยไม่เป็นไปตามเป้า กลุ่มประเทศที่ยากจนในโลกได้รับวัคซีนเพียง 1 ใน 7 จากที่ตกลงไว้เท่านั้น

รายงาน ‘A Dose of Reality‘ จาก People’s Vaccine Alliance ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรร่วมกันระหว่าง Oxfam, ActionAid และ Amnesty International พบว่า จากปริมาณวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งหมด 1.8 พันล้านโดสที่ประเทศพัฒนาแล้วชั้นนำของโลกให้คำมั่นว่าจะส่งมอบให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีน แต่มีเพียงแค่ 261 ล้านโดส (14%) เท่านั้นที่ไปถึงมือประชาชนในประเทศรายได้น้อยกว่า

สหราชอาณาจักรที่ให้คำมั่นที่จะส่งวัคซีนให้แก่ประเทศที่ยากจนจำนวนมากกว่า 100 ล้านโดส แต่จนถึงขณะนี้มีการส่งมอบเพียง 9.6 ล้านโดส คิดเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่า 10% แคนาดาได้ส่งมอบวัคซีนแล้ว 3.2 ล้านโดส (8%) จาก 40 ล้านโดสที่สัญญาไว้ และสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ส่งมอบวัคซีนจำนวนโดสได้มากที่สุด ที่เกือบ 177 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม รายงานพบว่าจำนวนวัคซีนได้ส่งมอบทั้งหมดนี้คิดเป็นเพียง 16% หรือน้อยกว่าหนึ่งในห้าจากทั้งหมด 1.1 พันล้านโดสที่ประเทศดังกล่าวสัญญาไว้

ในส่วนของการดำเนินงานของ COVAX ซึ่งเป็นโครงการจัดหาวัคซีนเพื่อเพิ่มความเสมอภาคในการเข้าถึงวัคซีนโดยเฉพาะในประเทศยากจน ข้อมูลจาก People’s Vaccine Alliance เผยว่า บริษัทยาต่าง ๆ ไม่สามารถจัดสรรปริมาณวัคซีนให้ได้เพียงพอและน้อยกว่าจำนวนที่ตกลงไว้มาก จากที่ Johnson & Johnson, Moderna, Oxford/AstraZeneca และ Pfizer/BioNTech ได้ตกลงส่งมอบวัคซีนให้โครงการ COVAX ทั้งหมด 994 ล้านโดส ปัจจุบันได้รับเพียง 120 ล้านโดส (12%) เท่านั้น ในขณะที่บริษัทยาเหล่านี้ได้ส่งมอบวัคซีนจำนวนมากถึง 1.8 พันล้านโดสให้แก่ประเทศร่ำรวยที่เป็นผู้ซื้อ คิดเป็นจำนวนมากกว่าปริมาณที่ส่งให้ COVAX ประมาณ 15 เท่า โดยบริษัท Johnson & Johnson และ Moderna เป็นสองผู้ผลิตที่ยังไม่ได้ส่งมอบวัคซีนให้แก่โครงการ COVAX ตามที่สัญญาไว้

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเรียกร้องให้มีการส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาให้ได้ตามเป้าหมายก่อนสิ้นปีนี้ เพราะความล่าช้าดังกล่าวจะนำมาซึ่งการเสียชีวิตจากโควิด-19 โดยไม่จำเป็น

ในขณะเดียวกัน อินเดียและแอฟริกาใต้ได้เสนอให้องค์การการค้าโลก (WTO) ระงับการบังคับใช้สิทธิบัตรสำหรับวัคซีนโควิด-19 เพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนในประเทศยากจน โดยข้อเรียกร้องนี้ได้รับการสนับสนุนจากกว่า 100 ประเทศ กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน รวมถึง กลุ่ม Doctors Without Borders องค์กร Human Rights Watch และ Oxfam และบุคคลสำคัญ เช่น นายกอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร

ประเด็นความเสมอภาคด้านวัคซีน อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็น (3.8) การวิจัยและพัฒนายาและวัคซีน และการเข้าถึงยาและวัคซีนถ้วนหน้าผ่านการผ่อนปรนบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้คนในประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงยาได้ (3.b)
- SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่มา :
Only 14% of promised Covid vaccine doses reach poorest nations (The Guardian)
Pharmaceutical companies and rich nations delivering just one in seven of the doses promised for developing countries (OXFAM)

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version