จำนวนวัคซีนโควิด-19 ที่ประเทศร่ำรวยสัญญาจะส่งมอบให้ประเทศยากจนกว่า ไปถึงแล้วจริงเพียงแค่ 14% เท่านั้น

จำนวนวัคซีนโควิด-19 ที่ประเทศร่ำรวยให้คำมั่นว่าจะส่งมอบให้แก่ประเทศรายได้น้อยไม่เป็นไปตามเป้า กลุ่มประเทศที่ยากจนในโลกได้รับวัคซีนเพียง 1 ใน 7 จากที่ตกลงไว้เท่านั้น

รายงาน ‘A Dose of Reality‘ จาก People’s Vaccine Alliance ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรร่วมกันระหว่าง Oxfam, ActionAid และ Amnesty International พบว่า จากปริมาณวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งหมด 1.8 พันล้านโดสที่ประเทศพัฒนาแล้วชั้นนำของโลกให้คำมั่นว่าจะส่งมอบให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีน แต่มีเพียงแค่ 261 ล้านโดส (14%) เท่านั้นที่ไปถึงมือประชาชนในประเทศรายได้น้อยกว่า

สหราชอาณาจักรที่ให้คำมั่นที่จะส่งวัคซีนให้แก่ประเทศที่ยากจนจำนวนมากกว่า 100 ล้านโดส แต่จนถึงขณะนี้มีการส่งมอบเพียง 9.6 ล้านโดส คิดเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่า 10% แคนาดาได้ส่งมอบวัคซีนแล้ว 3.2 ล้านโดส (8%) จาก 40 ล้านโดสที่สัญญาไว้ และสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ส่งมอบวัคซีนจำนวนโดสได้มากที่สุด ที่เกือบ 177 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม รายงานพบว่าจำนวนวัคซีนได้ส่งมอบทั้งหมดนี้คิดเป็นเพียง 16% หรือน้อยกว่าหนึ่งในห้าจากทั้งหมด 1.1 พันล้านโดสที่ประเทศดังกล่าวสัญญาไว้

ในส่วนของการดำเนินงานของ COVAX ซึ่งเป็นโครงการจัดหาวัคซีนเพื่อเพิ่มความเสมอภาคในการเข้าถึงวัคซีนโดยเฉพาะในประเทศยากจน ข้อมูลจาก People’s Vaccine Alliance เผยว่า บริษัทยาต่าง ๆ ไม่สามารถจัดสรรปริมาณวัคซีนให้ได้เพียงพอและน้อยกว่าจำนวนที่ตกลงไว้มาก จากที่ Johnson & Johnson, Moderna, Oxford/AstraZeneca และ Pfizer/BioNTech ได้ตกลงส่งมอบวัคซีนให้โครงการ COVAX ทั้งหมด 994 ล้านโดส ปัจจุบันได้รับเพียง 120 ล้านโดส (12%) เท่านั้น ในขณะที่บริษัทยาเหล่านี้ได้ส่งมอบวัคซีนจำนวนมากถึง 1.8 พันล้านโดสให้แก่ประเทศร่ำรวยที่เป็นผู้ซื้อ คิดเป็นจำนวนมากกว่าปริมาณที่ส่งให้ COVAX ประมาณ 15 เท่า โดยบริษัท Johnson & Johnson และ Moderna เป็นสองผู้ผลิตที่ยังไม่ได้ส่งมอบวัคซีนให้แก่โครงการ COVAX ตามที่สัญญาไว้

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเรียกร้องให้มีการส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาให้ได้ตามเป้าหมายก่อนสิ้นปีนี้ เพราะความล่าช้าดังกล่าวจะนำมาซึ่งการเสียชีวิตจากโควิด-19 โดยไม่จำเป็น

ในขณะเดียวกัน อินเดียและแอฟริกาใต้ได้เสนอให้องค์การการค้าโลก (WTO) ระงับการบังคับใช้สิทธิบัตรสำหรับวัคซีนโควิด-19 เพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนในประเทศยากจน โดยข้อเรียกร้องนี้ได้รับการสนับสนุนจากกว่า 100 ประเทศ กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน รวมถึง กลุ่ม Doctors Without Borders องค์กร Human Rights Watch และ Oxfam และบุคคลสำคัญ เช่น นายกอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร

ประเด็นความเสมอภาคด้านวัคซีน อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็น (3.8) การวิจัยและพัฒนายาและวัคซีน และการเข้าถึงยาและวัคซีนถ้วนหน้าผ่านการผ่อนปรนบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้คนในประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงยาได้ (3.b)
- SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่มา :
Only 14% of promised Covid vaccine doses reach poorest nations (The Guardian)
Pharmaceutical companies and rich nations delivering just one in seven of the doses promised for developing countries (OXFAM)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น