Director’s Note: 17: SDGs กับ คุณธรรม

สวัสดีครับทุกท่าน

สืบเนื่องจากที่เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมเวทีการประชุมวิชาการ (ออนไลน์)“การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยระบบนิเวศคุณธรรม” ซึ่งจัดโดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจไม่น้อยที่ศูนย์คุณธรรมส่งเทียบเชิญมาเชิญ SDG Move ไปร่วมเวที เพราะที่ผ่านมาประเด็นด้านคุณธรรมไม่ได้ปรากฏอย่างชัดเจนในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในขณะเดียวกัน การพัฒนาที่ยั่งยืนก็ไม่เคยได้เชื่อมโยงกับวาระและภารกิจของศูนย์คุณธรรมแต่อย่างใด ในหน่วยงานที่รับผิดชอบการขับเคลื่อน SDGs ทั้งระดับเป้าหมายและเป้าหมายย่อยตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุไว้ก็ไม่มีชื่อของศูนย์คุณธรรมระบุไว้

ดังนั้นเมื่อได้มีโอกาสไปร่วม ผมจึงได้มีโอกาสใคร่ครวญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับคุณธรรม และจะถือโอกาสแสดงอธิบายไว้โดยสังเขปใน Director’s Note ฉบับนี้

วิดีโอบันทึการประชุมวิชาการ (ออนไลน์)“การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยระบบนิเวศคุณธรรม”

| การพัฒนาที่ยั่งยืนกับคุณธรรม

เรื่องคุณธรรมจริง ๆ ไม่ปรากฏชัดอยู่ในระดับเป้าหมาย (Goal) และเป้าหมายย่อย (Target) ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแต่อย่างใด แต่ว่าประเด็นเรื่องคุณธรรมมักสะท้อนออกมาในเชิงปัญหาทางสังคมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งปัญหาเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องกับ SDGs อยู่ไม่น้อย ทั้งเรื่องของปัญหายาเสพติด ซึ่งเกี่ยวพันกับทั้ง SDG 3 Good Health and Wellbeing และ SDG 16 Peace, Justice and Strong Institution ปัญหาความรุนแรงในครอบคลุม ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง ซึ่งเกี่ยวพันกับ SDG 5 Gender Equality และปัญหาอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับ SDG 16 Peace, Justice and Strong Institution 

แต่หากมองลึกลงไปในระดับหลักการ ปัญหาสังคมข้างต้นแท้จริงแล้วอาจไม่ได้เป็นภาพสะท้อนของการขาดคุณธรรมแต่อย่างเดียวแต่เป็นภาพสะท้อนของแรงกดดันทางสังคมเศรษฐกิจด้วย โดยอาจเป็นเพราะตกอยู่ในสภาวะที่หวาดกลัวหรือโกรธแค้น หรืออยู่ในสภาวะที่มีความต้องการพื้นฐานที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ต่างเป็นเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) หากมนุษย์ยังไม่เป็นอิสระจากความหวาดกลัวและความต้องการพื้นฐาน ก็ยากที่จะนำไปสู่การพัฒนาตนเองและสังคมที่สงบสุข การพัฒนาสังคมให้สงบสุข ยุติธรรม เศรษฐกิจมีความมั่งคั่งและทั่วถึงครอบคลุม มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็จะมีส่วนช่วยให้คนมีสุขภาพจิตที่ดี และส่งผลต่อการหล่อหลอมพฤติกรรมของผู้คนให้เป็นไปในทางที่มีคุณธรรมจริยธรรมด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) จะเป็นปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญในการส่งเสริมคุณธรรมของคนในสังคม

เมื่อมองลึกลงไปในระดับหลักการ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งอยู่บนหลักการเชิงคุณค่าบางประการ ซึ่งอาจสามารถนำมาเทียบเคียงกับเรื่องคุณธรรมได้อยู่บ้าง เพราะต่างมีลักษณะเป็นการกำหนดบรรทัดฐานเช่นกัน หลักการที่ว่านี้ประกอบด้วย 

(1) หลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ให้เน้นว่าทุกคนเกิดมาพร้อมเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทุกคนมีสิทธิในชีวิต เสรีภาพ และความปลอดภัย ทุกคนมีสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเป็นใคร เชื้อชาติใด และเราทุกคนมีความรับผิดชอบในการเคารพสิทธิของคนอื่น นอกจากนี้ ความสำคัญกับเสรีภาพในการเลือก เสรีภาพในการแสดงความเห็น และสิทธิในการเข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี อันประกอบด้วย การเข้าถึงน้ำ อาหาร พลังงาน การมีสุขภาพที่ดี การศึกษา การมีรายได้และอาชีพ สันติภาพและความยุติธรรม การมีส่วนร่วมทางการเมือง ความเป็นธรรมทางสังคม ความเท่าเทียมระหว่างเพศสภาพ การมีที่อยู่อาศัย การมีเครือข่ายสังคมที่คอยช่วยเหลือกัน 

(2) การพัฒนาที่ครอบคลุม ซึ่งให้ความสำคัญกับการดูแลคนที่ด้อยโอกาส คนกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มชายขอบต่าง ๆ ให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะและโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอย่างเท่าเทียม เข้าถึงและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียง ได้รับการคุ้มครองจากการถูกแย่งเอาทรัพยากรไป และได้รับการช่วยเหลือในการฟื้นฟูจากภัยพิบัติ 

(3) คุณค่าที่เกี่ยวกับสำนึกต่อโลกที่สืบเนื่องจากแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง Anthropocene ที่เป็นแนวคิดทางธรณีวิทยาที่ชี้ให้เราเห็นว่า มนุษย์มิใช่ระบบเล็ก ๆ ในโลกอีกต่อไป และได้ส่งผลอย่างสำคัญต่อระบบนิเวศของโลก มนุษย์จึงจำเป็นต้องตระหนักถึงพลังดังกล่าวและให้ความสำคัญกับการดูแลระบบนิเวศของโลก

ประเด็นข้างต้นแท้จริงอยู่ในเนื้อหาของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Education for Sustainable Development (ESD) ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มหัวข้อการเรียนรู้ด้าน Global Citizenship Education ซึ่งเน้นไปที่การเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นโลก คุณค่าสากลเช่นความเป็นธรรม ความเท่าเทียม ความมีศักดิ์ศรีและการเคารพซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งทักษะที่เกี่ยวข้อง และด้าน Education for Sustainable Development ซึ่งให้ความสำคัญกับความรู้ พฤติกรรมและเจตคติด้านความสมดุลระหว่างการดำรงอยู่ของสิ่งแวดล้อม ความเป็นได้ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นธรรม การคำนึงถึงความเป็นธรรมแบบข้ามรุ่นคน และความหลากหลายทางวัฒนธรรม 

ดังนั้นในทางหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า คุณค่าที่อยู่ในประเด็นความยั่งยืนนั้น เป็น “คุณธรรม” ชุดใหม่ของโลกนั่นเอง และหากศูนย์คุณธรรมเห็นว่า นี่คือ สิ่งที่สะท้อนภาพของคุณธรรมในโลกยุคใหม่ ศูนย์คุณธรรมอาจต้องมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเป้าหมายย่อย 4.7 ที่ว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย 

● อ่านเพิ่มเติม - SDG Vocab | 12 – Education for Sustainable Development – การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD)

| ข้อควรระวังเกี่ยวกับคำว่า “คุณธรรม” ในโลกที่ซับซ้อน

ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในโลก รวมถึงปรากฏการณ์ที่สะท้อนเรื่อง “คุณธรรม” ในสังคม เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากระบบที่ซับซ้อน (Complex System) หลายระบบปฏิสัมพันธ์กัน ทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ซึ่งปัญหาในระบบที่ซับซ้อนนี้ไม่สามารถแก้ด้วยวิธีการที่เคยใช้กันมา และต้องมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (Paradigm) เพื่อนำไปสู่การตั้งคำถามใหม่ ๆ และให้ได้มาซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ 

หนึ่งในกระบวนทัศน์เดิม ๆ ที่สร้างให้เกิดปัญหาที่ผ่านมา คือ กระบวนทัศน์ที่มองโลกเป็น 2 ขั้ว (Dichotomy) คำว่าคุณธรรมนั้นมีฐานะเป็นเครื่องบอกว่า อะไรคือสิ่งที่ดี อะไรคือสิ่งที่ไม่ดี อะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว ซึ่งเมื่อเราจัดว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดี ย่อมทำให้สิ่งที่ไม่ถูกจัดว่าดีกลายเป็นสิ่งที่ชั่วโดยอัตโนมัติ เมื่อมีความดีงามระดับบุคคลที่ควรจะเป็น เราได้ผลักคนอีกกลุ่มหนึ่งไปสู่ด้านที่ชั่วร้ายโดยอัตโนมัติ

การแบ่งเป็น 2 ขั้วในด้านคุณธรรมข้างต้นนั้นนำมาซึ่งปัญหาหลายประการ ในระดับบุคคล การยึดติดกับคุณธรรมที่มี 2 ขั้วชัดเจนนำไปสู่การตัดสินและไม่ยอมรับตนเอง โดยเฉพาะเมื่อตนได้ทำสิ่งที่ถูกติดป้ายว่าเป็นสิ่งไม่ดี นำมาซึ่งปัญหาจิตวิทยา จำกัดศักยภาพ และอาจทำให้คนไม่รู้จักตนเองเพราะพยายามเป็นคนดี ในระดับระหว่างบุคคล การยึดติดในคุณธรรมแบบ 2 ขั้วนำมาสู่การตัดสินคนอื่น ใช้เรื่องคุณธรรมเป็นเครื่องมือในการตีตราคนอื่น ในขณะเดียวกันก็อาจใช้เรื่องคุณธรรมในการตีตราตนเองว่าเป็นคนดีเพื่อกลบเกลื่อนความชั่วที่ตนทำ ในระดับสังคมนั้น การยึดติดคุณธรรมแบบ 2 ขั้วนี้อาจนำมาซึ่งการใช้เรื่องคุณธรรมในการให้เหตุผลสนับสนุนการทำร้ายคนอื่นได้ ซึ่งก็มีให้เห็นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

การเปลี่ยนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับคุณธรรมให้ไม่เป็นเรื่อง 2 ­ขั้ว จึงเป็นเรื่องสำคัญ โจทย์คือจะทำอย่างไร นิยามของคุณธรรมจะเปลี่ยนจากเครื่องมือในการตัดสินให้คนเป็นคนดีเพียงแบบเดียวมาเป็นการเปิดพื้นที่ให้คุณธรรมที่แตกต่างหลากหลายได้มีที่ยืน คุณธรรมอาจเป็นการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำที่ทุกคนโดยสากลยอมรับร่วมกัน เป็นเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่ทำได้ในสังคม (ยังไม่ตัดสินว่าดีหรือไม่) กับสิ่งที่ทำไม่ได้ในสังคม (สิ่งที่สากลโลกไม่ยอมรับ) โดยเกณฑ์ขั้นต่ำนี้อาจใช้หลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเป็นตัวตั้งก็ได้ แล้วหลังจากนั้น สิงที่ทำได้นั้นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล รวมถึงเปิดกว้างให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถกเถียงและยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างคุณค่าชุดต่าง ๆ ของคนแต่ละคน ก็จะช่วยให้เกิดการยอมรับตนเองและคนอื่นได้ง่ายขึ้น และผู้คนจะมีวิจารณญาณมากพอที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของการใช้คุณธรรมบางชุดมาชี้นำและทำร้ายคนที่อยู่บนชุดคุณค่าอื่น

นอกจากนี้ที่คนทำสิ่งที่ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำด้านคุณธรรมนั้นไม่ควรเป็นเครื่องสำหรับการตีตราว่าเป็นคนเลว แต่ควรเป็นเกณฑ์ที่ทำให้คนั้นเรียนรู้ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นไม่ดี ไม่ดีเพราะอะไร และนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงตัวต่อไปด้วย การที่คนรู้ว่าเขายังมีโอกาสที่จะพยายามกลับตัวเป็นคนดีได้นั้น จะช่วยให้คนที่ยังมีความรู้ผิดชอบชั่วดีไม่ถูกผลักให้ไปกลายเป็นคนไม่ดีและ/หรือตัดสินตนเองจนสิ่งผลเสียต่อกายใจของตนจนเกินควร

การปรับกระบวนทัศน์อีกประการหนึ่งคือ คุณธรรมควรผูกโยงอยู่กับสิ่งที่ส่งให้เกิดผลประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน และควรลดส่วนที่แฝงมิติเชิงอำนาจเอาไว้ออกไป หากคุณธรรมคือสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง ผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม ก็ย่อมได้รับการยอมรับได้ง่ายเพราะแสดงให้เห็นได้อย่างประจักษ์ชัดว่าเป็นสิ่งที่ดี  นอกจากนี้เรายังสามารถสร้างนวัตกรรมทางสังคมมาเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีเหล่านี้ได้ เช่น ระบบ social credit ที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้เข้าถึงสินค้าบริการบางอย่างได้แม้จะไม่มีเงินสด เป็นต้น เป็นคุณธรรมที่กินได้ 


โดยสรุป ผมคิดว่าในโลกยุคใหม่ คำว่าคุณธรรมที่เรากำลังพูดถึงใกล้เคียงกับคำว่า “ยั่งยืน” หรือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ในบริบทปัจจุบันมาก เพราะคำว่า “ยั่งยืน” มันกลายเป็นบรรทัดฐานของการพัฒนาไปแล้ว แน่นอนว่าการแบ่งว่าอะไรยั่งยืนไม่ยั่งยืนก็ยังคงเป็นการแบ่ง 2 ขั้วแบบหนึ่ง แต่ข้อแตกต่างสำคัญคือ ในคำว่ายั่งยืนนี้มันอยู่บนฐานของหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งมุ่งไม่ให้เกิดการเบียดเบียนกัน และทำให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ และเปิดพื้นที่ให้คุณค่าที่หลากหลายได้เติบโตและอยู่ด้วยกัน 

Last Updated on มีนาคม 8, 2022

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น